ไม่พบผลการค้นหา
10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเรื่องสำคัญที่จะกำหนดชะตากรรมในการหาทางออกของประเทศ ถอดความทั้งหมดได้ดังนี้

วันนี้เป็นวันนัดอ่านคำวินิจฉัยที่ 19/2564 เรื่องที่ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 

การอ่านคำวินิจฉัยโดยศาลมอบให้ ท่านปัญญา อุดชาชน ท่านอุดม สิทธิวิรัชธรรม ท่านวิรุณฬ์ แสงเทียน และท่านจิรนิติ หะวานนท์ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย 

เรื่องพิจารณาที่ 19/2563 คำวินิจฉัยที่ 19/2564 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

ระหว่าง นายณฐพร โตประยูร ผู้ร้อง 

นายอานนท์ นำภา ที่ 1

นายภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ 2 

นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ 3 

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ 4 

นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ที่ 5 

นางสาวสิริพัทร จึงธีรพานิช ที่ 6 

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ 7 

นางสาวอาทิตยา พรพรม ที่ 8 

ผู้ถูกร้อง

เรื่อง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พยานหลักฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า 

คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอจะพิจารณาวินิจฉัยได้จึงยุติการไต่สวน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ 

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจง พยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งเทปบันทึกเสียงการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังเป็นยุติว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ปราศรัยหลายครั้งหลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อเรียกร้อง 10 ประการคือ 

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร 

2.ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดําเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคนนั้น 

3.ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และ ให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

4.ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

5.ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจําเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้นให้ยกเลิกเสีย 

6.ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกํากับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

7.ยกเลิกพระราชอํานาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ 

8.ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด 

9.สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

10.ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร

กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า คำร้องนั้นคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยอ้างเอกสารต่างๆ รวมทั้งถอดคลิปเสียงที่แสดงถึงการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับพวก ประกอบมาท้ายคำร้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้อง เช่นนี้คำร้องจึงมีความชัดเจนและเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าใจสภาพการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา สามารถต่อสู้คดีได้ ดังนั้น ข้อโต้แย้งข้อนี้ของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น 

ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ พิจารณาเห็นว่า 

หลักการตามรัฐธรรมนูญวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คุณค่าทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแก่นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประกอบด้วยคุณค่าสำคัญ ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ หมวด3 ทั้งนี้ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 และบัญญัติเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 25 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการได้และได้รับความคุ้มครองตราบเท่าที่การใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น 

บทบัญญัติดังกล่าว กำหนดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งสามารถแยกได้เป็น 2 ส่วนดังนี้ ส่วนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ และส่วนที่รัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ ปวงชนชาวไทยย่อมีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวทั้งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงให้ความคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพทุกกรณี ทั้งที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ และที่ไม่ได้มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นห้ามหรือจำกัดไว้ โดยมีเงื่อนไขว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองนั้น ต้องไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดันของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น 

เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย หน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิหรือเสรีภาพทางการเมือง ปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 อนุมาตรา 1 อนุมาตรา 3 และอนุมาตรา 6 ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่จะก่อให้เกิดการแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม 

มาตรา 49 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ 

วรรคสอง บัญญัติว่า ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ 

วรรคสามบัญญัติว่า ในกรณีที่อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการตามร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องจะขอยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ 

วรรคสี่ บัญญัติว่า การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งกำหนดให้ผู้ที่ทราบว่ามีการกระทำใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด และกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามคำร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ 

นอกจากนี้ยังกำหนดให้กำหนดการตามมาตราดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการเพื่อเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 49 มุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองคุ้มครองและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีมีอำนาจในการทำหน้าที่ตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 

โดยหลักการมาตรา 49 วรรคหนึ่งบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 มาตรา 35 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เป็นการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในลักษณะมุ่งหมายให้คุณค่าตามรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป

หลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 63 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 68 โดยเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดว่า ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บุคคลผู้นั้นย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติเพิ่มเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่า กรณีดังกล่าวถ้าอัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการตามที่มีการร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับการร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองสิทธิพลเมืองในการปกป้องรัฐธรรมนูญจากการกระทำของคนหรือกลุ่มคนที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในประการที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การใช้สิทธิปกป้องรัฐธรรมนูญถือเป็นกลไกหนึ่งของระบบยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลที่ใช้สิทธิปกป้องรัฐธรรมนูญต้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสมอ เรื่องร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว เมื่ออัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการตามคำร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับคำร้องขอ รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิของผู้ร้องให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้เอง การรับรองสิทธิของผู้ร้องในกรณีดังกล่าวเป็นการสร้างหลักประกันการธำรงไว้ซึ่งหลักการอันเป็นสาระสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อใดปรากฏการกระทำที่เข้าข่ายการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำในลักษณะดังกล่าวย่อมถูกกล่าวหาเป็นคดีในศาลรัฐธรรมนูญได้

ข้อเท็จจริงในคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสารประกอบคำร้องและพยานหลักฐานต่างๆ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคง ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติส่งมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จัดเวทีปราศรัยธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 

ในการปราศรัยผู้ถูกร้องที่ 1 กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า 

"ที่เรามาชุมนุมกันในวันนี้เพื่อจะยืนยันว่า นอกจากข้อเสนอ 3 ข้อที่เราพูดกันอยู่ทุกเวที ความจริงมันมีข้อเสนอระหว่างบรรทัดที่เป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุด คือ การแก้ปัญหาการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และผมขอยืนยันอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่ม็อบล้มเจ้า ม็อบจาบจ้วง แต่เป็นม็อบพูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดวันนี้คือข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดของพวกเรา ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นหมายถึงพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจอันใดที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองต้องถูกต้องตั้งคำถามดังๆ ต่อสาธารณะ เราอยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวเข้าหาประชาชน ไม่ใช่พวกเราปรับตัวเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์ การอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญของการปกครองที่พวกเรามีอยู่ แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามจะขยายพระราชอำนาจผ่านทางรัฐประหารปี 2557 พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากการรัฐประหารเกิดขึ้น สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น" 

ผู้ถูกร้องที่สอง กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า 

"นับจากคณะราษฎร โดยท่านปรีดี พนมยงค์ และท่านพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มีการปฏิวัติประเทศสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปัจจุบันผมคิดว่าการใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังใช้ยาวนานจนรัชกาลปัจจุบัน เพราะกษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ อำนาจตุลาการ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ ถามว่าทำไมต้องพูดแบบนี้ ท่านเคยรู้หรือไม่ครับว่า หมวดที่สองของรัฐธรรมนูญมาตรา 6 วรรคสอ กำหนดว่าผู้ใดไม่สามารถฟ้องร้องกษัตริย์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วพระมหากษัตริย์จึงอยู่เหนืออำนาจเหนืออธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้คือ ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสม และสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนคนไทยได้ และที่บอกว่าอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยคืออยู่เหนืออำนาจของประชาชนโดยการที่ไม่สามารถแตะต้องได้ เพราะถ้าใครแตะต้อง คนนั้นต้องโดนมาตรา 112

ผู้ถูกร้องที่สามอ่านประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 มีสาระสำคัญสรุปว่า 

"นับตั้งแต่คณะราษฎรก่อการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยหวังว่าประเทศจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง แต่หาได้เป็นเช่นนี้ไม่ เมื่อพระมหากษัตริย์ยังคงทรงอำนาจแทรกแซงทางการเมือง เมื่อเกิดการรัฐประหารกษัตริย์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร ทรงยกร่างกำลังพล (ฟังไม่ชัดเจน - กองบก.) รวมทั้งถ่ายโอนทรัพย์สินแผ่นดินเข้าเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรงใช้พระราชอำนาจมอบกฎหมายแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ เพื่อให้สามารถเสด็จไปประทับนอกนราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบาลเผด็จการยังสยบอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์ ขยายอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังผลประโยชน์ ไม่ว่าพวกเขาเหล่านี้สมประโยชน์กันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ราษฎรพึงรู้เถิดว่ากษัตริย์ประเทศเรานี้ไม่ได้อยู่เหนือการเมืองแต่เป็นรากเหง้าของปัญหาการเมืองตลอดมา นอกจากจะทรงละเลยหน้าที่การเป็นประมุข ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนแล้วยังเสด็จไปเสวยสุขประทับอยู่ต่างแดนโดยใช้เงินภาษีของราษฎร ทั้งที่ราษฎรประสบความยากลำบาก อีกทั้งทรงมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับกลุ่มกบฏผู้ก่อการรัฐประหารล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีบทบัญญัติลักษณะการห้ามใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 63 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 68 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 49 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ได้วางหลักคำว่า “ล้มล้าง”ว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญที่สุดวิสัยจะแก้ไขให้กลับคืนได้ นอกจากนั้นเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่จะทำลายให้สูญสลายโดยสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่อีกต่อไป 

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงทำผิดมิได้ และการให้ยกเลิกกฎหมายห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้เสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควรโดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในที่สุด 

พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กัน เป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและจะดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทย และถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทั้งนี้ เพื่อดำรงชาติไทยไว้ 

ดังปรากฏใน พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 โดยมาตรา 1 บัญญัติว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย มาตรา 2 บัญญัติว่า ให้มีบุคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำานจแทนราษฎร ดังที่จะกล่าวต่อไปในรัฐธรรมนูญ คือ 1.กษัตริย์ 2.สภาผู้แทนราษฎร 3. คณะกรรมการราษฎร 4.ศาล มาตรา 3 บัญญัติว่า กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ที่มีกฎหมายระบุไว้เฉพาะก็ดีจะต้องกระทำในนามกษัตริย์ 

ต่อมาได้มีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 โดยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว บททั่วไปมาตรา 2 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หมวดหนึ่ง พระมหากษัตริย์ มาตรา 3 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 5 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม มาตรา 6 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 7 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริการทางคณะรัฐมนตรี มาตรา 8 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย 

จากบทบัญญัติ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามดังกล่าว เห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนั้น อำนาจการปกครองเป็นของกษัตริย์มาโดยตลอด นับแต่สุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของไทยมีพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน โดยจะต้องดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยเพื่อนำกองทัพต่อสู้ปกป้องและขยายราชอาณาจักรตลอดเวลาในยุคก่อนที่ผ่านมา ประกอบกับทรงถือหลักการปกครองตามหลักธรรมแห่งพุทธศาสนา และยึดถือทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการปกครอง พระมหากษัตริย์ไทยจึงเป็นที่เคารพศรัทธา เป็นศูนย์รวมจิตใจเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายร้อยปี ดังนั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงและปวงชนชาวไทยจึงยังเห็นพ้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์เพื่อทรงเป็นสถาบันที่จะต้องคงอยู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว โดยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรไทยได้คงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำนองเดียวกับประเทศต่างๆ ที่มีความเป็นมาของชาติและเอกราชแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ เอกรัฐหรือสัญลักษณ์ของชาติรวมถึงทรัพย์สมบัติของชาติจะมีกฎหมายห้ามกระทำการอันทำให้มีมลทินหรือเสื่อมค่าเสียหายหรือชำรุด 

ข้อเรียกร้องที่ให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้มีการรับรองพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันกษัตริย์โดยชัดแจ้ง

การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นกระทำตาม 

ยิ่งกว่านั้น การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการดำเนินการอย่างเป็นขบวนการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตจะผ่านไปแล้ว ภายหลังที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ยังปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับบุคคลกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนแนวคิดเดียวกัน 

การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกันที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและความเป็นรุนแรงในสังคม

ระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ เสรีภาพ หมายถึง ทุกคนมีสิทธิคิด พูดและทำอะไรได้ตราบที่ไม่มีกฎหมายห้าม เสมอภาค หมายถึง ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ภราดรภาพ หมายถึง บุคคลทั้งหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันพี่น้อง มีความสามัคคีกัน การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ด้วยความผูกพันของปวงชนชาวไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมานับหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนให้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอัมมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การกระทำใดๆ ที่มีเจตนาทำลายหรือทำให้สถาบันต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด การเขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรืออ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาค ภราดรภาพ ผู้ถูกต้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่างของบุคคล จน ถึงกับล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ซึ่งปรากฏข้อเท็จริงเป็นที่ประจักษ์ว่า การกระทำของผู้ถูกต้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายที่มีการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง ดังเหตุการณ์ที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีส่วนจุดประกายในการอภิปราย ปลุกเร้า ให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติอันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ  

ผลการกระทำของผู้ถูกต้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นำไปสู่การล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยในที่สุด 

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้ง มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา 

ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แสดงให้เห็นเหตุมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกต้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกต้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป 

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 หรือที่ 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกต้องที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายยังกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกิดเหตุที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์รงเป็นประมุข

รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ 

ด้วยเหตุข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งและสั่งการให้ผู้ถูกร้อง 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง