ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. เผยผลการสำรวจระดับความสุขของเกษตรกรไทยทั่วประเทศ ใน 6 มิติ ส่งผลให้ความสุขมวลรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เพิ่มขึ้นจากปีก่อน (60) คาดมาจากมาตรการลดภาระหนี้ภาคการเกษตร ทำให้ฐานะทางการเงินปรับตัวดีขึ้น

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรจากทุกภาคทั่วประเทศ ภายใต้หัวข้อ “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,650 ราย ซึ่งเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 24 ก.ย. - 10 ต.ค. 2561 พบว่า ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทยอยู่ในระดับมากที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 82.57 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.37 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (60) 

ทั้งนี้ เนื่องมาจากเศรษฐกิจภาคเกษตรมีการขยายตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 6.1 ในไตรมาสที่ 2/2561 จากเดิมที่ขยายตัวติดลบร้อยละ 2.1 ในไตรมาสที่ 1/2561 โดยราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลไม้ ประกอบกับได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายรัฐบาล เช่น มาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรมวิชาชีพตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อสร้างอาชีพใหม่ให้กับเกษตรกร โครงการเกษตรแปลงใหญ่ และมาตรการเกษตรประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร 

ตลอดจนนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของ ธ.ก.ส. ผ่าน 3 มาตรการ 9 โครงการ ล้วนมีบทบาทในการสนับสนุนให้ครัวเรือนเกษตรกรมีช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่ม ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้รายได้เกษตรกรโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ สังคมของครัวเรือนชนบทยังคงมีวิถีชีวิตการพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน ส่งผลให้ระดับความสุขมวลรวมของเกษตรกรเพิ่มขึ้น

สำหรับความสุขของเกษตรกรไทยในมิติชี้วัดความสุข 6 มิติ พบว่า มิติครอบครัวดีมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด ร้อยละ 88.29, รองลงมาคือ มิติสังคมดี ร้อยละ 86.55, มิติสุขภาพดี ร้อยละ 84.51, มิติการงานดี ร้อยละ 82.17, มิติใฝ่รู้ดี ร้อยละ 78.31, และมิติสุขภาพเงินดี ร้อยละ 75.11 โดยทุกมิติมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) 

เมื่อจำแนกเป็นรายอาชีพ พบว่า เกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรหลักทุกประเภทมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) โดยเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้มีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด รองลงมาคือ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากราคาผลไม้ที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์สูงทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกร 

ส่วนราคามันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยร้อยละ 93.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (60) และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.3 จากความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศที่ขยายตัว สำหรับอาชีพรับจ้างทางการเกษตร มีคะแนนเฉลี่ยความสุขน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับอาชีพการเกษตรอื่น

ความสุขของเกษตรกรไทย จำแนกเป็นรายภาค พบว่า เกษตรกรทุกภาคมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) โดยเกษตรกรภาคตะวันออกมีคะแนนเฉลี่ยระดับความสุขสูงที่สุด ร้อยละ 84.99 เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่หลักในการปลูกผลไม้ โดยราคาผลไม้ในปี 2561 ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากความต้องการทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปริมาณผลไม้ที่ออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นระดับราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ 

รองลงมา คือ เกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคเหนือตอนล่าง ร้อยละ 84.44 และ 84.29 ตามลำดับ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการปลูก มันสำปะหลัง เนื่องจากราคามันสำปะหลังได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเกษตรกรในภาคใต้ตอนล่างมีคะแนนเฉลี่ยระดับความสุขน้อยที่สุด ร้อยละ 79.55 เมื่อเทียบกับเกษตรกรในภาคอื่น

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีแนวทางสนับสนุนครัวเรือนเกษตรกรในเรื่อง การบริหารจัดการหนี้ การปรับเปลี่ยนการผลิต การลดค่าใช้จ่ายในการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผ่านมาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ เช่น โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ (3 ปี) มาตรการหนี้นอกระบบเป็นศูนย์ โดยช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบและการช่วยเหลือลูกค้าที่มีหนี้อันเป็นภาระหนัก ส่งผลให้ฐานะทางการเงินปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะเป็นปัจจัยทำให้ระดับความสุขมวลรวมของเกษตรกรเพิ่มขึ้น