ไม่พบผลการค้นหา
ธ.ก.ส. สั่งสาขาทั่วประเทศเข้าปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรกลุ่มชาวสวนชาวไร่ผลไม้ หลังพบเริ่มผิดนัดชำระ จ่อกลายเป็นเอ็นพีแอล ยอดหนี้กว่า 3 หมื่นล้าน ชี้เป็นผลจากราคาพืชผลบางชนิดตกต่ำ

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีลูกค้าเกษตรกรของธนาคารที่ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและมีการค้างชำระหนี้มากกว่า 0-3 เดือน กว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวสวนชาวไร่ผลไม้ โดยเฉพาะสับปะรด เช่น ลำปาง เชียงใหม่ ประสบปัญหาราคาตกต่ำจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก รองลงมาคือ มะนาว ส่วนกล้วยที่มีการเพาะปลูกกันจำนวนมากทำให้ราคาปรับลดลง รวมถึงมังคุดในภาคตะวันออก แม้จะมีราคาดีแต่ผลผลิตออกมาน้อย ทำให้ชาวสวนมีปัญหาการผ่อนชำระ

ทั้งนี้ ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนให้ สาขา ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ เข้าไปช่วยดูแลปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่มีการดูแลจนค้างผ่อนชำระเกิน 3 เดือน ลูกค้ากลุ่มนี้จะกลายเป็นหนี้เสียทันที และทำให้ธนาคารมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มเป็นก้าวกระโดดจากร้อยละ 4.29 ในสิ้นเดือน มี.ค. 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 6 ส่งผลเสียต่อทั้งลูกค้าและเป็นภาระธนาคารให้มีการตั้งสำรองสูงขึ้น ระหว่างนี้ต้องเร่งแก้ไข หากเกษตรกรประสบปัญหาก็เข้ามาติดต่อที่สาขาธนาคารได้ 

"การช่วยเหลือของธนาคาร ได้เน้นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ เช่น การขยายเวลาชำระหนี้ ปรับตารางชำระดอกเบี้ยใหม่ หรืออาจให้ชำระแต่ดอกเบี้ยไปก่อน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความตั้งใจในการชำระหนี้ แต่อาจมีเงินผ่อนส่งไม่ถึงเกณฑ์ จึงต้องช่วยเหลือ " นายอภิรมย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่าเมื่อปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้กลุ่มนี้แล้ว จะช่วยยับยั้งการเป็นหนี้เสียได้ถึง 60% หรือคิดเป็นวงเงินกว่า 18,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 12,000 ล้านบาทนั้น จะไหลเข้ามาสู่กลุ่มหนี้เสีย แต่เมื่อผสมกับการแก้หนี้เสียก้อนเก่าช่วงเดือน เม.ย.มิ.ย. ที่ปรับลดลงไป 1 หมื่นกว่าล้านบาทจะทำให้ภาพรวมเอ็นพีแอลของ ธ.ก.ส. ในไตรมาสแรกปีบัญชี (เม.ย.-มิ.ย.) ยังทรงตัวระดับเดิมหรือใกล้เคียงกับยอดสิ้นปีบัญชีร้อยละ 4 ซึ่งไม่น่าห่วง