วันที่ 19 กรกฎาคม ตำรวจเกาหลีรายงานว่ามีชายเกาหลีสกุลคิม ไม่เปิดเผยชื่อ วัย 78 ปี จุดไฟเผาตัวเองในรถยนต์หน้าสถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงโซล ภายหลังตำรวจยืนยันว่าชายคนดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว
ตำรวจเผยว่าก่อนก่อเหตุ คิมได้โทรศัพท์หาคนรู้จัก เล่าแผนการฆ่าตัวตายแสดงความเกลียดชังต่อประเทศญี่ปุ่น
ครอบของคิมเผยกับเจ้าหน้าที่สืบสวนว่า คิมเป็นหนึ่งในชาวเกาหลีที่ถูกบังคับเป็นแรงงานในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดเกาหลีเป็นอาณานิคมช่วงปี 1910 ถึง 1945
สำหรับกรณีพิพาทซึ่งเริ่มจากคำสั่งศาลเกาหลีใต้ตัดสินให้บริษัทเอกชนญี่ปุ่นต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้ถูกบังคับใช้แรงงานในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดเกาหลีเป็นอาณานิคม ทว่าญี่ปุ่นปฏิเสธว่าได้จ่ายค่าชดเชยทั้งหมดแล้วในการลงนามปรับความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 1965
ภายหลังคำตัดสินดังกล่าวซึ่งญี่ปุ่นไม่ยอมรับ ญี่ปุ่นได้ปรับมาตรการคุมเข้มการส่งออกวัตถุดิบเทคโนโลยี 3 ชนิด ที่เกาหลีต้องพึ่งพาญี่ปุ่น โดยวัตถุดิบบางชนิดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์นั้นเกาหลีต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น มาตรการคุมเข้มนี้สะเทือนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเกาหลีใต้ กระทบบริษัทรายใหญ่อย่างซัมซุงและเอสเค
ล่าสุด ญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอไกล่เกลี่ย โดยให้เกาหลีใต้ตอบรับการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการจากประเทศอื่น มาเป็นบุคคลที่สามในการตัดสินคดีค่าเยียวยาผู้ถูกบังคับใช้แรงงานในยุคอาณานิคม ซึ่งญี่ปุ่นไม่พอใจและไม่ยอมรับคำตัดสิน โดยกำหนดให้ตอบรับข้อเสนอภายในวันที่ 18 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ทางเกาหลีใต้ปฏิเสธข้อเสนอนี้
วันที่ 19 กรกฎาคม ทาโร โคโนะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เรียกตัวนัมกวานเพียว เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ ประจําประเทศญี่ปุ่นเข้าพบ เพื่อตำหนิว่าการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นในการตั้งอนุญาโตตุลาการนั้นน่าผิดหวังอย่างยิ่ง
"สิ่งที่รัฐบาลเกาหลีใต้ทำอยู่นี้เป็นการบ่อนทำลายระเบียบของโลกซึ่งสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง" โคโนะกล่าว พร้อมแนะนำให้รัฐบาลเกาหลีใต้เสนอมาตรการที่จับต้องได้ในการแก้ไขสถานการณ์ซึ่งขัดต่อกฎหมายนานาชาตินี้
ทางด้านนัมโต้กลับโดยยกเรื่องที่ญี่ปุ่นเพิ่มความเข้มงวดในการคุมการส่งออกวัตถุดิบสำคัญที่เกาหลีใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และหน้าจอ
"ด้วยมาตรการที่ญี่ปุ่นบังคับเอาเองแต่ฝ่ายเดียวนั้น ผู้คนและบริษัทต่างๆ ของทั้งสองชาติได้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ลำบาก และก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว" ทูตเกาหลีกล่าวและเสริมว่าทั้งสองฝ่ายความทำงานอย่างเร่งด่วนเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทที่เกิดขึ้นผ่านการพูดคุยกัน
เมื่อทราบข่าวที่เกิดขึ้น ทางกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้แถลงโต้กลับว่า ทางเกาหลีใต้ไม่สามารถยินยอมข้อเสนอการตั้งอนุญาโตตุลาการมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ ทั้งที่ศาลเกาหลีได้ตัดสินแล้ว และเกาหลีไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น
"ในการที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยความจริงใจ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเผชิญหน้ายอมรับประวัติศาสตร์อับโชค และพยายามที่จะเยียวยาความทุกข์ทรมาณและบาดแผลของเหยื่อ" กระทรวงต่างประเทศเกาหลีระบุ พร้อมเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยุติการควบคุมการส่งออก และแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการทูต
หลังเหตุที่เกิดขึ้น เกาหลีใต้กำลังมีความพยายามลดการพึ่งพาญี่ปุ่นลง โดยรัฐบาลจะอัดฉีดเงินลงทุนปีละ 1 ล้านล้านวอน (ราว 26,200 ล้านบาท) เพื่อศึกษาและพัฒนาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์เทคโนโลยีเอง และล่าสุดในวันที่ 19 กรกฎาคม เกาหลีใต้ได้เผยว่ากำลังพิจารณาปลดข้อจำกัดชั่วโมงการทำงาน จากเดิมที่เกาหลีใต้ได้ปรับลดเพดานชั่วโมงทำงานลง ให้พนักงานทำงานได้ไม่เกิน 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากเดิม 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เกาหลีใต้อาจยกเว้นข้อจำกัดนี้ ให้แรงงานบางภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมวัตถุดิบเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ ทำงานเกินเพดานชั่วโมงที่กำหนดได้
ทางด้านประชาชนเกาหลีใต้ได้พากันรณรงค์เลิกบริโภคสินค้าญี่ปุ่นตั้งแต่เบียร์ เสื้อผ้า และการท่องเที่ยว โชมินฮยุก เจ้าของพูรูเนมาร์ต (Purunemart) ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาด 1,500 ตารางเมตรในกรุงโซล ได้ตัดสินใจได้นำสินค้าญี่ปุ่นออกจากชั้นวาง สมาคมร้านค้าเกาหลี ชี้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านชำกว่า 200 แห่ง ก็ทำเช่นเดียวกัน
ที่มา: Korea Herald / Asahi Shimbun / Yonhap News / SCMP / CNA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: