ไม่พบผลการค้นหา
ศาล รธน. อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาด ‘ธนาธร’ พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตั้งแต่ 23 พ.ค.2562 และให้บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาแทน โดยศาลมองว่า กกต.มีอำนาจยื่นคำร้องให้ได้ตามกฎหมาย พร้อมชี้ 8 ม.ค. 62 ไม่ได้มีการโอนหุ้น และยังถือหุ้นสื่อที่เป็นลักษณะต้องห้ามวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 20 พ.ย. 2562 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนำโดยนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญพร้อมคณะ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีถือหุ้นสื่อในบริษัทวี - ลัค มีเดีย จำกัด ทั้งนี้คณะตุลาการมอบหมายให้นายปัญญา อุดชาชน และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย

โดยศาลรัฐธรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในประเด็นแรกของนายธนาธรว่า กกต. มีอำนาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีนี้ตามกฎหมาย

ประเด็นที่สอง บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยังประกอบกิจการสื่ออยู่แม้ว่านายธนาธร จะกล่าวว่าปลดพนักงานออกและแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมว่าเลิกจ้างพนักงานแล้ว แต่ศาลยังเห็นว่าบริษัทยังสามารถกลับไปประกอบกิจการได้ทุกเมื่อ เพราะยังไม่ได้แจ้งต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 

ส่วนประเด็นที่สาม ในวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นายธนาธร ได้โอนหุ้นให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานายธนาธรไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 แต่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นได้มีการส่ง บอจ. 5 โดยเร็วเป็นปกติทุกครั้ง แต่การโอนหุ้นครั้งนี้ไม่มีการส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ให้ บอจ. 5 ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญที่จะมีผลต่อคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. แม้จะมีข้อชี้แจงจากนายธนาธร ว่าบริษัทได้เลิกจ้างพนักงานไปแล้ว ไม่มีพนักงานบัญชีทำการแจ้งสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น แบบ บอจ. 5 ให้ ซึ่งขัดแย้งกับการให้ปากคำของนางลาวัลย์ จันทร์เกษม ที่ให้ปากคำว่าสามารถดำเนินการได้หากมีคำสั่ง เพราะตนเองทำหน้าที่นี้มาตลอด แต่ไม่มีคำสั่ง อีกทั้งเช็คค่าโอนหุ้นทั้ง 4 ฉบับนำไปเรียกเก็บเงิน 45 วันสองฉบับ, 98 วัน 1 ฉบับ, และ 120 วันอีกหนึ่งฉบับ ทั้งที่สามารถนำเช็คไปขึ้นเงินได้ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือน ม.ค. ไม่ต้องรอเวลาถึง 4 เดือนเศษ

อีกทั้งการโอนหุ้นระหว่างนางสมพร และหลาน ไม่มีค่าตอบแทนซึ่งอ้างความเป็นเครือญาติ แต่กลับย้อนแย้งกับกรณีของนางสมพร และนายธนาธร กลับมีค่าโอนหุ้น และการไม่มีค่าโอนหุ้นก็เป็นการโอนที่ไม่มีหลักฐาน และสามารถทำเอกสารย้อนหลังได้ อีกทั้งการโอนหุ้นกลับของหลานชายกับนางสมพร ก็เร็วเกินไป หลังโอนหุ้นให้หลาoเพียงสองเดือนเศษ ผิดวิสัย ประกอบกับพยานหลักฐานการโอนหุ้นของนายธนาธรกับนางสมพรก็ไม่สามารถที่จะหักล้างพยานแวดล้อมได้

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังอ่านคำวินิจฉัยระบุว่า นายธนาธรไม่ได้โอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค. 2562 จริง และนายธนาธร ในฐานะผู้ถูกร้องยังถือหุ้นสื่อในวันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้นสมาชิกภาพของนายธนาธร จึงถือว่าสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และทำให้ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปของพรรคอนาคตใหม่เลื่อนขึ้นมาแทน โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน ซึ่งตามลำดับแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมานพ คีรีภูวดล ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ลำดับที่ 53 จะเลื่อนมาเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคแทนนายธนาธร

ขณะที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกเอกสารข่าวระบุถึงผลการลงมติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการศาลรัฐธรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง เห็นว่านายธนาธรขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญ _191120_0013.jpgธนาธร ระวิพรรณ _191120_0002.jpgธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญ _191120_0004.jpgธนาธร_191120_0009.jpgธนาธร คำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ 692.jpg


ข่าวที่เกี่ยวข้อง