ไม่พบผลการค้นหา
หลังการระเบิดของสิ่งที่ทางรัสเซียอ้างว่าเป็น 'เครื่องยนต์จรวด' ทำให้ปริมาณรังสีสูงขึ้น 4 ถึง 16 เท่าในระยะเวลาสั้นๆ รัฐบาลรัสเซียจึงได้สั่งอพยพชาวบ้านและปิดอ่าวในบริเวณใกล้เคียง ขณะที่อังกฤษ-สหรัฐฯ เชื่อว่าเหตุระเบิดครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีปนาวุธของรัสเซีย

สืบเนื่องจากเหตุระเบิดระหว่างการทดสอบแหล่งพลังงานไอโซโทปสำหรับเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงเหลว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ณ ชายฝั่งเมืองอาร์ฮันเกลสก์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศรัสเซีย ส่งผลให้ผู้เชียวชาญด้านนิวเคลียร์ 5 คนของโรสตอม (Rosatom) บริษัทด้านพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐ เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายราย ยังไม่ชัดว่ามีผู้บาดเจ็บรวมแล้วเท่าไร

โรสกิโดรเมียต (Rosgidromet) หน่วยงานสังเกตการณ์สิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศของรัฐ ระบุว่าเซนเซอร์ 6 จาก 8 ตัวในเมืองเซเวรอดวินสก์ ตรวจพบว่าปริมาณรังสีแกมมาในพื้นที่พุ่งสูงขึ้น 4 ถึง 16 เท่าจากระดับก่อนเกิดเหตุ ก่อนจะคืนสู่ระดับปกติหลังผ่านไป 2 ชั่วโมงครึ่ง

เอเอฟพีรายงานว่าเซนเซอร์ตัวหนึ่งชี้ว่าปริมาณรังสีอยู่ที่ระดับ 1.78 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง (microsievert: mSv) สูงกว่าระดับเฉลี่ยโดยปกติ แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับที่เป็นอันตราย

ขณะที่สำนักข่าวอินดีเพนเดนต์ รายงานว่าทางการเมืองเซเวรอดวินสก์ ระบุว่าระดับรังสีเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง เป็นเวลาราว 30 นาทีหลังเหตุระเบิด ก่อนจะกลับสู่ระดับปกติของพื้นที่นั้นที่ 0.1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง กระนั้นก็มีการเตือนให้ชาวบ้านอยู่ในอาคารและปิดหน้าต่างให้สนิท

อินดีเพนเดนต์ชี้ว่าระดับรังสี 2 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมงสูงกว่าระดับปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และอยู่ในระดับต่ำกว่ารังสีคอสมิกที่ผู้โดยสารเครื่องบินได้รับจากเที่ยวบินระยะไกลราว 8 ชั่วโมง

นอกจากนี้ หลังเหตุระเบิดยังมีการปิดเส้นทางการขนส่งบางส่วนของอ่าวดวีนา (Dvina Bay) ในทะเลขาว เป็นเวลาหนึ่งเดือน อินดีเพนเดนต์ สื่ออังกฤษชี้ว่านี่อาจเป็นความพยายามเลี่ยงไม่ให้คนภายนอกเห็นการเก็บกู้ชิ้นส่วนขีปนาวุธ

ในวันที่ 12 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ทหารรัสเซียได้สั่งให้ชาวบ้านหมู่บ้านเนียน็อกซา (Nyonoksa) ในเมืองเซเวรอดวินสก์ อพยพออกจากพื้นที่เป็นการชั่วคราว โดยอ้างว่ามีการทำกิจกรรมซึ่งไม่ระบุว่าคืออะไรในระยะของหมู่บ้านในวันที่ 14 สิงหาคม หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในระยะพื้นที่ทดสอบทางการทหาร มีชาวบ้านทั้งหมดเกือบ 500 คน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นมีการประกาศว่ากิจกรรมดังกล่าวถูกยกเลิกจึงยกเลิกการอพยพไปด้วย สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ รายงานว่ามีชาวบ้านเนียน็อกซากล่าวกับสำนักข่าวอาร์ฮันเกลสก์ออนไลน์ ว่าหมู่บ้านแห่งนี้เคยถูกสั่งอพยพมาก่อนเหตุการณ์นี้แล้ว โดยคาดว่าเป็นเพราะอันตรายจากการทดสอบหรือกิจกรรมทางการทหารในพื้นที่ใกล้เคียง

ทางสหรัฐฯ เชื่อว่าเหตุระเบิดในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธร่อน 9M730 บูเรเวียสต์นิค (Burevestnik) ซึ่งวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเคยกล่าวถึงก่อนหน้านี้

ทางด้าน ดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุในวันที่ 13 สิงหาคมว่าไม่ขอยืนยันว่าว่าอุบัติเหตุในครั้งนี้มีความเชื่อมโยงกับโครงการขีปนาวุธดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เปสคอฟกล่าวว่าการวิจัยและการพัฒนาขีปนาวุธนนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้น ล้ำหน้าไปกว่าประเทศอื่นๆ

ที่มา: Japan Times / Washingotn Post / Aljazeera / Moscow Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: