อันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) แสดงความวิตกกังวลกรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาถอนตัวจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF: Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty) อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลรัสเซียแถลงเช่นกันว่า จะเดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง เพราะข้อผูกพันต่างๆ ของสนธิสัญญา INF ถือเป็นอันสิ้นสุดเมื่อสหรัฐฯ ถอนตัว
ทางด้าน ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ว่า รัสเซียเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวที่สนธิสัญญานี้ถึงจุดสิ้นสุด โดยเขาอ้างถึงรายงานขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่ระบุว่ามีหลักฐานบ่งชี้กรณีรัสเซียพัฒนาขีปนาวุธ 9M729 หรือ SSC-8 ซึ่งมีพิสัยยิงระหว่าง 500-5,500 กิโลเมตร เข้าข่ายละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญา INF สหรัฐฯ จึงต้องถอนตัว พร้อมประกาศว่าจะเริ่มพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางอีกครั้งเช่นกัน
ท่าทีของทั้งสองประเทศมหาอำนาจทำให้เลขาธิการใหญ่ของยูเอ็นเตือนว่า ถ้าหากมีการแข่งขันสะสมขีปนาวุธเกิดขึ้นจริง จะทำให้โลกไร้เบรกที่จะหยุดยั้งสงครามนิวเคลียร์ในอนาคต พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศระงับแผนพัฒนาขีปนาวุธ และต้องกลับสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยึดมั่นในแนวทางการควบคุมอาวุธระหว่างประเทศ
กูแตร์รีชยังได้เตือนไปถึงประเทศสมาชิกสหประชาชาติอื่นๆ ด้วยว่า การแข่งกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ระหว่างประเทศยิ่งทวีความตึงเครียด และอาจนำไปสู่การปะทุความรุนแรง เพราะในช่วงที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างประเทศมหาอำนาจ 2 ขั้วอย่างสหรัฐฯ และจีนอยู่ก่อนแล้ว หลังจากทั้งสองประเทศประกาศมาตรการกีดกันทางการค้าและขึ้นภาษีนำเข้า-ส่งออก จนกลายเป็น 'สงครามการค้า' ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
คำเตือนของกูแตร์รีชตรงกับการประเมินของพาเวล เฟลเกนเฮาเออร์ นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียและการทหาร ซึ่งเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า เมื่อสนธิสัญญา INF สิ้นสุดลง ประเทศมหาอำนาจจะพร้อมใจกันกระโดดเข้าสู่การแข่งขันสะสมขีปนาวุธรอบใหม่ แต่จะไม่ได้มีแค่สหรัฐฯ และรัสเซียเหมือนในอดีต แต่รวมไปถึง 'จีน' ด้วย ทั้งยังจะส่งผลให้ประเทศอื่นๆ มีข้ออ้างในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มเติม
ทั้งนี้ สนธิสัญญา INF เป็นการลงนามร่วมกันระหว่างนายโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายมิฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.1987 ขณะที่ปัจจุบันพบว่า 9 ประเทศยังมีขีปนาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส จีน อังกฤษ อิสราเอล ปากีสถาน อินเดีย และเกาหลีเหนือ
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าสหรัฐฯ ส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปยังซาอุดีอาระเบียช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนอิหร่านก็ประกาศว่าจะเดินหน้าพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมทั้งเร่งกำลังผลิตยูเรเนียมเข้มข้น หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อเดือน พ.ค. 2018
ที่มา: BBC/ The Guardian/ Reuters/ VOX
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: