ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน นปช. ยก 2 คำโบราณ ‘ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม-กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้’ เปรียบการเมืองไทย ควรรอก่อน ปล่อยให้รัฐบาลทำงานไป อย่างไรก็พังด้วยสนิมภายในแน่ รวมถึงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งภาคประชาชนและพรรคการเมืองต้องร่วมกันเร่งด่วน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ร่วมกิจกรรมต่อลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ โดยกล่าวในงานว่า วันนี้ตนขอยก 2 คำโบราณ ได้แก่ ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม และ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ทั้งสองคำนี้มีความแตกต่างกัน วันนี้คนไทยเองก็ไม่ได้มีความตื่นเต้นกับโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าใครจะมาเป็น เพราะคงไม่มีใครดีกว่าใคร มีแต่ใครยี้กว่าใครเท่านั้น เพราะความขัดแย้งในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรี คนที่ไม่ได้ก็จะสะสมอารมณ์ไว้ คนที่ได้ ก็ไม่คิดว่าอายุรัฐบาลนี้จะนาน เพราะฉะนั้นก็ต้องรีบปล้น แบบลนลาน ปล่อยให้เขาทำไปแล้วเราค่อยมาจับเรื่องทุจริตเอาทีหลัง นี่คือคำว่าช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ส่วนอีกคำหนึ่ง ได้แก่คำว่า กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ นี่คือเรื่องธรรมนูญ

ไม่ว่าใครก็เชื่อว่า รัฐบาลนี้จะไปเร็วแต่ถ้า สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. 250 คน ยังอยู่ ใน 5 ปีนี้ยังมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ ได้อีก จะเลือกตั้งอย่างไรก็กลับมาเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม วันนี้หลายองค์กรเริ่มขยับตัว เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเองก็เห็นว่าประเด็นนี้ต้องรีบทำ ในแต่ละองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชนหรือ พรรคการเมืองจะต้องร่วมกัน เพราะลำพัง พรรคการเมืองไม่มีวันที่จะทำสำเร็จได้ อยู่ที่กระแสสังคม กระแสประชาชน ซึ่งหลายครั้งในประวัติศาสตร์ถ้าไม่มีกระแสประชาชน ก็ไม่สามารถทำได้ วันนี้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้ง รัฐบาลให้เขาพังของเขาเอง ข้อดีของเรือเหล็กมีข้อดีอยู่ข้อเดียวคือ เป็นปะการังเทียมได้ ทุกคนต้องรู้ว่าเรือเหล็กกำลังมีสนิม ไม่ได้มาจากข้างนอก แต่หากเป็นสนิมใน อย่างไรก็ต้องจมไปเป็นปะการังเทียม 

นายจตุพร กล่าวอีกว่า ทั้งสองเรื่องที่พูดถึง คือ ปล่อยให้รัฐบาลทำงานไป ไม่ว่า 3 เดือนหรือ 6 เดือน เวลาไม่น่าไกลกว่านี้ เพื่อให้เขาได้ทะเลาะกันต่อไป ถ้าเราเข้าไปเร็ว ก็ตีกันเร็ว และทำให้เขาอยู่นานขึ้น ส่วนของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย เมื่อแต่ละฝ่ายมีการขยับกันแล้วอย่างเป็นรูปธรรม เราก็จะมีการขยับอย่างเป็นรูปธรรมตามกระบวนการ ตามข้อกฎหมายที่เดินกันไปได้ โดยรูปแบบของการทำความเข้าใจระหว่างกัน ไม่เป็นปัญหากัน อย่างน้อยที่สุด เราจะได้รับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะถ้าพยายามเต็มที่แล้วยังแก้ไม่ได้ ครั้งนี้ประชาชนจะทำเอง ประชาชนจะคิดเองว่าจะต้องทำอย่างไร ให้อีกซีกหนึ่งไปถึง 376 เสียง วุฒิสภาจะไม่มีความหมายต่อไป 

ในตอนนี้แม้เห็นต่างกัน แต่หัวข้อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีการพูดตรงกัน ทั้งสองเรื่อง บางเรื่องรอไปก่อน เดี๋ยวเขาก็พังแล้ว บางเรื่องต้องรีบ เพราะถ้าช้า จะเป็นปัญหา มองว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองเรานั้น เราควรจะทำอะไรในท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ภายใต้เงื่อนไข ข้อจำกัดมากมาย เราจะทำตามช่องที่เราพึงกระทำได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายอันเป็นเรื่องใหญ่ ตนพูดเสมอว่า ชนะไม่จำเป็นจะต้องสะใจ วิธีใดบรรลุเป้าหมายได้ เราก็จะทำวิธีนั้น