ไม่พบผลการค้นหา
‘วัชระพล’ ห่วงชาวอีสานในอิสราเอล ถาม รมว.ต่างประเทศแนวทางช่วยเหลือ ‘จักรพงษ์’ ประสานทุกหน่วยงานถึงปาเลสไตน์ ขอกลุ่มฮามาสปล่อย 16 ตัวประกันชาวไทย ยืนยันชาวไทยในอิสราเอลเสียชีวิต 21 คน ทางการอิสราเอลใช้ 2 สัปดาห์ยืนยันตัวตน จัดเที่ยวบินอพยพรอบต่อไป 16 และ 18 ต.ค. นี้

วันที่ 12 ต.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระพิจารณาญัตติกระทู้ถามสดด้วยวาจา วัชระพล ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบุว่า มีประชาชนไทยไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลถึง 3 หมื่นกว่าคน และมีประชาชนจากภาคอีสานสูงถึง 1.9 หมื่นคน โดยมีชาวอุดรธานี กว่า 4 พันคน

วัชระพล กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนมาเป็นจำนวนมากจากชาวไทยอิสราเอล โดยเฉพาะบุคคลที่สูญหายและตามตัวไม่เจอ บางส่วนมีภาพปรากฏมาว่าถูกจับเป็นตัวประกันของสงคราม และเมื่อได้พูดคุยกับครอบครัวญาติพี่น้อง ก็รู้สึกได้ถึงความโศกเศร้า และยังมีอีกหลายรายที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิต รวมถึงผู้รอดชีวิตแต่ยังรอคอยความช่วยเหลือ ซึ่งตนเองได้รับข้อมูลมา 13 คน และจะส่งต่อให้รัฐมนตรีต่อไป

743815_0.jpg
  • วัชระพล ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ วัชระพล ขอข้อมูลเกี่ยวกับสงครามที่เปิดเผยได้จากกระทรวงการต่างประเทศ ว่ามีแนวโน้มที่สงครามจะขยายวงกว้างขึ้นหรือไม่ และจะกระทบกับประชาชนชาวไทยในภูมิภาคอย่างไร รวมถึงขอทราบมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนชาวอีสานในพื้นที่อิสราเอล

จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาตอบกระทู้ถาม โดยเผยว่า การโจมตีทางอากาศของกลุ่มฮามาสยังดำเนินอยู่ และยังแทรกซึมมาจากเลบานอน โดยมีเป้าหมายคือตัดขาดฉนวนกาซา ทั้งนี้ รัฐบาลไทยพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้พ้นเหตุการณ์ การโจมตีในเขตฉนวนกาซา ส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 5 พันคน จากทั้ง 3 หมื่นคน

จักรพงษ์ เผยว่า ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตชาวไทยอยู่ที่ 21 คน แต่เนื่องจากสถานการณ์สู้รบยังทำให้ทางการอิสราเอลไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ในชณะนี้ มีผู้บาดเจ็บ 14 คน ถูกลักพาตัว 16 คน โดยรัฐบาลได้ตั้งศูนย์ประสานงานฉุกเฉินเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือและอพยพชาวไทย ทำงานเรื่อยมาอย่างไม่มีวันหยุด

รัฐบาลให้ความช่วยเหลือชาวไทยที่ได้รับผลกระทบ ผู้เสียชีวิต 21 คน รัฐบาลไทยได้ประสานกับสถานทูตอิสราเอล ได้รับแจ้งว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการระบุตัวตนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ และทางอิสราเอลประกาศว่าจะเยียวยาเหยื่อสงครามครั้งนี้ด้วย ขณะที่เที่ยวบินพาณิชย์ได้นำคนไทยผู้บาดเจ็บกลับมายังสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว 15 คน

ด้านกระทรวงการต่างประเทศได้พยายามสื่อสารไปยังปาเลสไตน์ โดยเฉพาะกลุ่มฮามาสให้ปล่อยตัวประกันชาวไทยที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ทั้ง 16 คน เนื่องจากปาเลสไตน์ไม่มีสถานทูตประจำประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานไปยังสถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ กลไกอาเซียน รวมถึงหน่วยบรรเทาทุกข์และปฏิบัติงานเพื่อผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ตะวันออก (UNRWA) สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)

ขณะที่นายกรัฐมนตรีระหว่างการหารือกับผู้นำมาเลเซีย ได้หยิบยกประเด็นการช่ายเหลือคนไทยในพื้นที่ตะวันออก และมาเลเซียนมีสำนักงานปาเลสไตน์อยู่ จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือจากมาเลเซียซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อไทย แต่เนื่องจากเป็นประเด็นละเอียดอ่อน จึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในเชิงลึกได้

จักรพงษ์ ยังกล่าวว่า การติดต่อสถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เปิดให้โทรฯ ติดต่อได้ตลอด 24 ชัวโมง ที่เบอร์ 02-572-8442 ศูนย์ดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ของกระทรวงการต่างประเทศ และกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงศุล 06-401-98530 กระทรวงแรงงาน สายด่วนฉุกเฉิน 1964 และช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ

ขณะนี้มีประชาชนได้ติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมากจากหลายช่องทาง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศประจำประเทศไทยจะเป็นผู้ติดต่อประสานงานไปยังผู้ได้รับผลกระทบเอง เนื่องจากสถานทูตในอิสราเอลไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติเพราะมีเหตุระเบิดตลอดเวลา 

สำหรับแนวทางเยียวยาคนไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ในกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางาน และทำงานในต่างประเทศ โดยคนที่เดินทางกลับมาเนื่องจากภาวะสงครามจะได้รับเงินสงเคราะห์ 1.5 หมื่นบาทต่อราย กรณีพิการ 1.5 หมื่นบาท กรณีทุพพลภาพ 3 หมื่นบาท กรณีเสียชีวิต 4 หมื่นบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพในต่างประเทศ (เท่าที่จ่ายจริง) ไม่เกิน 4 หมื่นบาท

ส่วนการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้อพยพกลับไทย ให้สามารถกลับไปทำงานได้ที่อิสราเอลนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน โดยกระทรวงการต่างประเทศพร้อมจะให้การสนับสนุน หารือกับทางการอิสราเอลในการส่งแรงงานไทยกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์เป็นปกติ

ขณะที่การอพยพ เวลานี้รอบแรกจะเดินทางมาถึงประเทศไทยเวลา 11.16 น. และในวันที่ 15 ต.ค. จะมีเครื่องบินของกองทัพอากาศจะรับผู้อพยพอีก 150 คน ในช่วงเช้า และอีก 150 คน ในช่วงเย็น ตามด้วยอีกรอบในวันที่ 18 ต.ค. แต่ระหว่างเวลาดังกล่าวยังจะหาช่องทางอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือ รวมถึงการจัดหาเที่ยวบินเพิ่ม และหาแนวทางอื่นๆ ทั้งทางบก และทางน้ำ ซึ่งยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากภาวะสงคราม