ไม่พบผลการค้นหา
iLaw เผย ชุมนุมขยายตัวเพราะรัฐบาลไม่รับฟังประชาชน เสนอทางออกทำได้จริง-เวลาน้อย-เป็นรูปธรรม เริ่มจาก นายกฯ ลาออก พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ก่อนเดินหน้าแก้ รธน.

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ชี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้การชุมนุมของกลุ่มประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยขยายตัวมากขึ้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นในเดือน ก.ค.เป็นเพราะ ข้อเรียกร้อง 3 ประการในตอนแรก ได้แก่ 1.หยุดคุกคามประชาชน, 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.ยุบสภา “ไม่เคยได้รับการตอบสนอง” 

ผลของการ ‘นิ่งเฉย’ และ ‘ยื้อเวลาออกไป’ ทำให้จากข้อเรียกร้องเดิมพัฒนาขึ้นมาเป็นข้อเรียกร้องใหม่ด้วยจำนวน 3 ข้อเช่นเดิม แต่ใจความเปลี่ยนเป็น 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพรรคพวกลาออก 2.เปิดประชุมสมัยวิสามัญและแก้รัฐธรรมนูญตามข้อเสนอจากประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบันสูงสุดของประเทศ 

iLaw ชี้ว่า หากข้อเรียกร้องใหม่ทั้ง 3 ประการ ยังถูกเพิกเฉยต่อเนื่อง ความไม่พอใจของประชาชนจะขยายตัวมากกว่าเดิม ทั้งนี้ iLaw เสริมว่า ข้อเรียกร้องแบบใหม่มีความเป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้ทันที 

6 ข้อเสนอคลี่คลายวิกฤต 

แนวทางปฏิบัติที่ iLaw นำเสนอว่าสามารถช่วยคลายความตึงเครียดทางการเมืองให้ประเทศได้ภายในระยะเวลา 4 เดือน เริ่มจากการหยุดใช้อำนาจทางการเพื่อคุกคามประชาชนโดยทันที

“การยืมมือกฎหมาย และการคุกคามรูปแบบอื่นๆ ทั้งต่อผู้ชุมนุมและคนใกล้ชิด การใช้เครื่องมือเหล่านี้มีแต่จะสร้างความโกรธแค้นทำให้ความขัดแย้งลุกลามมากยิ่งขึ้น”

ขณะที่กระบวนการต่อมาคือการยุติการดำเนินคดีและปล่อนตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยให้เริ่มตั้งแต่การสลายการชุมนุมเมื่อ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือรัฐบาลต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้อย่างปลอดภัย 

“การปิดกั้นการถกเถียงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อหา “ล้มเจ้า” ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างความอัดอั้นที่ต่อมาปะทุขึ้นเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนและรุนแรงบนท้องถนน”

ประเด็นถัดมาคือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก เช่นเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันจำเป็นต้องถอนตัว ก่อนนำไปสู่ขั้นตอนการเปิดประชุมวิสามัญของรัฐสภาเพื่อเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอย่างเร็วที่สุด iLaw ประเมินว่าสามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น 

ท้ายที่สุด iLaw แนะนำให้ยุติบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผ่านการกดดันให้ ส.ว. ลงมติงดออกเสียง และให้เลือกนายกรัฐมนตรีใหม่จากพรรคที่ชนะเลือกตั้งได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากที่สุดซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมปกติของการเมืองไทย ทั้งนี้หน้าที่สำคัญของนายกฯ คนใหม่ เป็นเพียงการดูแลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินเรียบร้อยปกติ และจะเข้ามาทำหน้าที่เพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น เมื่อแก้รัฐธรรมเนียมเรียบร้อย ต้องดำเนินการยุบสภาเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;