เกมธุรกิจในยุคดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และหลายๆ ครั้งที่เอสเอ็มอีไทยจะก้าวออกไปแข่งขันในตลาดนอกบ้าน ก็มักเจอหลายด่าน ทั้งเรื่องเงินทุน ความรู้การตลาด เทคโนโลยี แต่ในโลกปัจจุบันที่มี 'สตาร์ทอัพ' และเหล่า Geek คนบ้าเทคโนโลยีที่สนุกสนานกับการค้นหาโซลูชั่นแก้ปัญหาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล จะเป็นอีกตัวต่อหนึ่ง ที่ทำให้เอสเอ็มอีไทยโตก้าวกระโดด และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรดิจิทัล
'เจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่เครือข่ายสาขาและบริการดิจิทัล ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมา เวลาเอสเอ็มอีมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เช่น การบริหารสินค้าคงคลัง การตลาด ปัญหาเรื่องคน ก็มักจะสอบถามเพื่อนหรือคนรู้จักในแวดวงเดียวกัน แต่โครงการ 'Smart Business Transformation' หรือ SBT ที่ยูโอบีจับมือกับเดอะ ฟินแล็บ และอีก 3 หน่วยงานภาครัฐ จะเป็นจุดเชื่อมโยงการแก้ปัญหา และหาพันธมิตรธุรกิจสตาร์ทอัพให้กับเอสเอ็มอีไทยให้สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจรับมือกับยุคดิจิทัลได้
"โครงการนี้จะเชื่อมกับระดับ Global leagues คือทำให้ปัญหาของคุณ ไม่ต้องหาคนแก้แค่ในเมืองไทย แต่เราจะหาคนที่มีโซลูชั่นจากทั่วโลก เป็นสตาร์ทอัพที่คิดวิธีแก้ปัญหาให้ธุรกิจของคุณ ซึ่งเขาอาจจะอยู่ที่อิสราเอล ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน ที่มีโซลูชั่นแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ด้วยเงินทุนที่น้อยที่สุด นี่คือเป้าหมายของเรา ที่ต้องการให้เอสเอ็มอีไทยไม่ได้โตแต่ในประเทศ แต่ต้องโตในระดับภูมิภาค ระดับโลกได้ ซึ่งการโตแบบนั้นได้ต้องอาศัยเทคโนโลยี และเขาต้องมีพันธมิตรธุรกิจระดับโลกที่จะมาช่วยกันได้" เจมส์ กล่าว
5 ประสานดันเอสเอ็มอีไทยสู่ 'องค์กรดิจิทัล'
ความตั้งใจเป็นจุดเชื่อมโยงให้เอสเอ็มอีไทยได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจสู่องค์กรดิจิทัล จึงเกิดขึ้นในโครงการ 'Smart Business Transformation' หรือ SBT ด้วยความร่วมมือของธนาคารยูโอบี (ไทย) ,เดอะ ฟินแล็บ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเปิดรับสมัครผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวน 50 ราย ตั้งแต่วันนี้ถึงต้นเดือน เม.ย. นี้ ให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อปรับตัวเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรดิจิทัล
โดยยูโอบี ประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับพัฒนาเอสเอ็มอีที่รวมโครงการรายละ 1 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการตั้งแต่การนำผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เข้ามาเป็นเมนเตอร์ (ผู้ให้คำแนะนำ) มาช่วยพัฒนาเอสเอ็มอี ส่วนในขั้นต่อไป หากเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะจับมือกับเทคสตาร์ทอัพปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานนั้น ก็อาจมีเงินทุนในลักษณะร่วมลงทุน หรือ VC (Venture Capital) จากดีป้า, สวทช. และ สสว. เข้ามาร่วมเพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีปรับเปลี่ยนกระบวนการธุรกิจได้จริงๆ
เวิร์คชอปในไทยเป็นครั้งแรก หลังจัดที่สิงคโปร์มา 3 ปี
อย่างไรก็ตาม โครงการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัลนี้ ยูโอบีร่วมกับเดอะ ฟินแล็บ ทำมาแล้ว 3 ปี แต่ที่ผ่านมา เป็นการคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มไทยไปฝึกอบรมและจับคู่สตาร์ทอัพที่สิงคโปร์ แต่ในปีนี้ (2562) เป็นครั้งแรกที่มาทำในประเทศไทย และมีเมนเตอร์ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ขณะที่ผู้ดูแลหลักสูตรการอบรมและการดำเนินโครงการบ่มเพาะธุรกิจยังเป็น 'เดอะ ฟินแล็บ' หน่วยงานด้านการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างยูโอบี สิงคโปร์ และ SGInnovate ฝ่ายละครึ่งๆ ทำหน้าที่บ่มเพาะธุรกิจสู่ดิจิทัล
"ในประเทศไทยธนาคารยูโอบีอาจไม่ได้ใหญ่มาก แต่เราก็เป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาค การทำโครงการนี้ เกิดขึ้นเพราะเราเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ต้องเกิดจากความเข้มแข็งของเอสเอ็มอี ดังนั้น โครงการนี้นอกจากการพัฒนากระบวนความคิดการทำธุรกิจแล้ว เราก็จะมีการจับคู่ธุรกิจกับสตาร์ทอัพ เพื่อให้เกิดการขยายฐานเอสเอ็มอีสู่องค์กรดิจิทัล และ 3 ปีที่ผ่านมา เราก็มีโชว์เคสการจับคู่ธุรกิจที่น่าสนใจ" เจมส์ กล่าว
ดังนั้น หลังจบโครงการนี้ ยูโอบี (ไทย) จึงคาดหวังว่า จะมีเอสเอ็มอีไทยประมาณ 15 ราย ที่ผ่านเข้าเกณฑ์และเข้าร่วมการฝึกอบรมในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้เขาได้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน และสิ่งที่ต้องพัฒนาในธุรกิจ แล้วทีมของเดอะ ฟินแล็บ จะไปหาพันธมิตรเป็นสตาร์ทอัพที่มีโซลูชั่นทำงานร่วมกัน ให้เกิดเป็นรูปธรรม พัฒนาเป็นธุรกิจต่อไป
ส่วนคุณสมบัติของเอสเอ็มอีรับเข้าร่วมโครงการ คือ 1) มีเงินทุนหมุนเวียน 25-1,000 ล้านบาท 2) อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค การก่อสร้าง ขนส่ง ค้าปลีก ค้าส่ง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ 3) เปิดกว้าง มีความพร้อมจะปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม กระตือรือร้นจะใช้เครืองมือทำงานแบบใหม่ ใช้ดิจิทัลเข้ามาแก้ปัญหา
แนะเอสเอ็มอีอยากเปลี่ยนกระบวนการ ต้องเปลี่ยนกระบวนคิด
'เฟลิกซ์ ตัน' กรรมการผู้จัดการ เดอะ ฟินแล็บ กล่าวว่า หลักการสำคัญอันดับแรกของเอสเอ็มอียุคใหม่คือ ต้องเปลี่ยน mindset หรือ เปลี่ยนวิธีคิดก่อน และหน้าที่ของเดอะ ฟินแล็บคือการสร้างแรงบันดาลใจให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจ กระบวนทัศน์การทำงาน
พร้อมเล่าตัวอย่างธุรกิจในสิงคโปร์ที่เข้ามาร่วมงานกัน เช่น บริษัทหลีหมิง ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในสิงคโปร์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาด้านกระบวนการทำงานหลายขั้นตอน ใช้กระดาษเยอะมาก มีสินค้าคงคลังจำนวนมาก แต่พอมาเวิร์คชอบกับเดอะ ฟินแล็บ พร้อมปรับเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน ธุรกิจนี้ก็สร้างลดต้นทุน และทำกำไรได้
หรือกรณีบริษัท โคโคโลโล หรือ Cocoloco ผู้ผลิตน้ำผลไม้ซึ่งสั่งซื้อมะพร้าวจากประเทศไทย และปรับเปลี่ยนกระบวนการธุรกิจใช้ดิจิทัลเข้ามาจัดการการขาย การตลาด การจัดการสินค้าคงคลัง ระบบงานบุคคล และจับมือกับ 'แอฟฟาเบิ้ล' (Affable) ที่มีเทคโนโลยี AI , Machine Learning มาวิเคราะห์ตลาด สร้างแบรนด์ให้ จนวันนี้ ทั้งสองธุรกิจก็ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เป็นต้น
'ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์' รองผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้าลงนามความร่วมมือในโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2561 ด้วยเห็นความสำคัญการสนับสนุนเอสเอ็มอีปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยมองว่า การปรับเปลี่ยนมี 2 ระดับคือ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ และเปลี่ยนกระบวนการ
สำหรับการเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจ ดีป้า มีทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีที่สนใจปรับสู่องค์กรดิจิทัล คือ ออกค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในมูลค่าไม่เกินร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่าย และไม่เกิน 1 ล้านบาท ด้วยคาดหวังว่า จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่โตไปเรื่อยๆ แบบเดิมๆ
ขณะที่ 'ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล' ผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า สวทช. มีกลไกที่เรียกว่า ITAP หรือ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และจะให้ทุนแก่เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ ในส่วนของการบริการคำปรึกษาและจัดหาผู้เชี่ยวชาญดิจิทัล ขณะที่ ITAP จะให้คำแนะนำด้านเทคนิคด้านเงินทุน เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ
ส่วน 'สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล' ผู้อำนวยการ สสว. ย้ำว่า บทบาทของ สสว. ในโครงการนี้คือ ผู้ประสานและประชาสัมพันธ์ให้เอสเอ็มอีไทยได้ทราบถึงเครื่องมือ และโครงการนี้
รับ 50 รายเข้าเวิร์คชอป 2 วัน หลังจากนั้นคัดเหลือ 15 รายเข้าโครงการบ่มเพาะฯ
สำหรับ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.thefinlab.com/thailand ตั้งแต่วันนี้ถึงต้นเดือน เม.ย. โดยกิจกรรมเริ่มจากการเวิร์คชอป หรือ Business Model Transformation (BMT) ใช้เวลา 2 วัน คือ ระหว่างวันที่ 2-3 เม.ย. นี้
หลังจากนั้นจะคัดผู้ประกอบการเหลือ 10-15 ราย เพื่อเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการสู่องค์กรดิจิทัล เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ค. -ส.ค. 2562) โดยเดือนแรก จะเป็นการเวิร์คชอป การวางแผนการตลาดดิจิทัล การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง การจับคู่สตาร์ทอัพเพื่อหาดิจิทัลโซลูชั่น แก้ปัญหาธุรกิจ แล้วเดือนสุดท้าย จะเป็นการตรวจสอบประเมินผล พร้อมกับการ showcase ในช่วงต้นเดือน ส.ค. 2562
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ผู้ประกอบการจะมีค่าใช้จ่ายในช่วงเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะรายละ 150,000 บาท แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะยกเว้นกับเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมใน 2 กรณี คือ 1) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีบัญชีธนาคารกับธนาคารยูโอบี (ไทย) 2) เป็นเอสเอ็มอีที่มีหนังสือรับรองจากดีป้า,หรือ สวทช. หรือ สสว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :