ไม่พบผลการค้นหา
ส่องนโยบาย 5 พรรคการเมืองหลัก 'เพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-อนาคตใหม่-ประชาธิปัตย์' สนับสนุนส่งเสริม 'เอสเอ็มอี' แม้ปัญหาและอุปสรรคยังเยอะ

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างหลากหลายในสังคม แต่กลับเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่เข้าใจ และมองเห็นความสำคัญไม่มากไปกว่าการเปิดร้านขายของ

แท้จริงแล้ว เอสเอ็มอี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศมหาศาล จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2560 ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจของเอสเอ็มอี อยู่ที่ 6,551,718 ล้านบาท จากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ในปี 2560 ที่อยู่ที่ 15,452,882 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.4 ของจีดีพี ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนกว่า 12,155,647 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.22 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ

แม้แนวโน้มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากเอสเอ็มอีจะเพิ่มสูงขึ้นตลอด ตัวเลขการเติบโตตั้งแต่ปี 2557 ของสัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอีต่อจีดีพีรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 40.2, 41.3, 42.1 และ 42.4 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เอสเอ็มอียังไม่สามารถกล่าวว่าอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากเอสเอ็มอียังต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัยบั่นทอนศักยภาพการแข่งขันจากภายนอกประเทศ

อีกทั้งหากวัดกันที่สัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอีต่อจีดีพีรวมของประเทศ ตามหนังสือ 'คู่มือนโยบายสำหรับการพัฒนาเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค’ (Policy Guidebook for SME Development in Asia and the Pacific) ของนายมาซาโตะ อาเบะ ระบุว่า ในประเทศที่มีรายได้สูงโดยเฉลี่ยแล้วมีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเอสเอ็มอีต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศที่ร้อยละ 51

ทางรอด 'เอสเอ็มอีไทย’

ตามรายงาน แผนส่งเสริมเอสเอ็มอี ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่จัดทำโดย สสว. ระบุแนวทางการยกระดับและแก้ปัญหาเอสเอ็มอี ดังต่อไปนี้

  • ยกระดับเทคโนโลยี นวัตกรรม ผลิตภาพ

เนื่องจากสภาวะปัจจุบันของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศมีการแข่งขันกันสูง การผลิต สินค้าและบริการแบบเดิมจึงทำให้ไม่เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นการเสียโอกาสทางการค้า จากรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2558 ไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 188 ประเทศที่มีความพร้อมและศักยภาพด้านนวัตกรรม

  • ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นปัญหาของเอสเอ็มอีเสมอมา ทำให้ประเทศมีวิสาหกิจขนาดกลาง น้อยเกินไป เพราะวิสาหกิจขนาดย่อมไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ ในปี 2560 มีตัวเลขวิสาหกิจ ขนาดกลางเพียง 18,298 จากทั้งหมด 3,046,793 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.60 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวเลขร้อยละ 0.60 ยังห่างไกลจากค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 – 10 อีกมาก

  • ส่งเสริมการเข้าถึงตลาดและการเข้าสู่สากล

การใช้ประโยชน์จากภูมิศาสตร์ที่ตั้งของการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นการเพิ่มตลาดใหม่ ให้กับผู้ประกอบการ รวมไปถึงการเสริมสร้างความพร้อมด้านการสื่อสารกับภาคต่างประเทศ

  • พัฒนาและส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ

การส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักเรียน นักศึกษา โดยกว้าง จะ เป็นการวางรากฐานสังคมผู้ประกอบการให้แก่ประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความสามารถในการบริหารธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของธุรกิจในระยะแรก

  • สร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีมูลค่าสูง

ภาคอุตสาหกรรมของประเทศกำลังเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมการผลิตธรรมดา เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น เอสเอ็มอีใหม่ๆ จึงควรที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ

  • ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายของธุรกิจเอสเอ็มอี

การรวมกลุ่มในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน เป็นการสร้างเครือข่าย ช่วยเหลือทางธุรกิจให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

  • พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นการใช้วิสาหกิจเข้ามาลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศระยะยาว เพราะวิสาหกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย

  • พัฒนาเครื่องมือการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ

การส่งเสริมให้มีเครื่องมือที่ดี จะเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ ความช่วยเหลือ หรือบริการได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง

  • ทบทวน ปรับปรุงกฏหมาย กฏ ระเบียบ สิทธิประโยชน์เพื่อเอื้อและลดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี

การบังคับใช้กฏหมายที่เข้มงวดเกินไป หรือกฏเกณฑ์บางประการเป็นการขัดขวางความ ก้าวหน้าของเอสเอ็มอี จึงควรมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับพลวัตของสภาพเศรษฐกิจ

นโยบาย 5 พรรคใหญ่ ต่อ 'เอสเอ็มอีไทย’

เริ่มที่ 'พรรคเพื่อไทย' ที่มีทั้งนโยบายหลักแบบภาพใหญ่เจาะ 3 ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ (1) นโยบายพลังงาน การพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพื่อเป็นการทดแทนน้ำมัน (2) นโยบายเกษตร ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมมูลค่าเพิ่ม (3) นโยบายคมนาคม เน้นการพัฒนาระบบคมนาคมในทุกพื้นที่ เพื่อให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในด้านเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศ

พรรคเพื่อไทยยังชู 3 นโยบายย่อยตอบโจทย์การช่วยเหลือเอสเอ็มอี ได้แก่

  • การสร้างศูนย์เถ้าแก่ใหม่ เพื่อช่วยเหลือเรื่องเงินทุน ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ และการช่วยเหลือด้านกฏเกณฑ์หรือกฏระเบียบต่างๆ
  • บัตรทองสตาร์ทอัพ ที่ให้สิทธิด้านภาษีและสิทธิพิเศษนอกเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี แก่ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการออนไลน์ และสตาร์ทอัพ
  • การฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว โดยการสร้างสตรีทฟู๊ดของไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโลก การเชื่อมโยงสนามบินต่างๆ และการผลักดันโครงการ 1 ตำบล 1 ของฝาก

'พรรคพลังประชารัฐ' ชูการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศภายใต้ชื่อ 'เศรษฐกิจประชารัฐ' ที่มีพันธกิจหลัก 7 ประการ (1) ยกระดับความสามารถผู้ผลิต (2) ก้าวสู่เกษตรประชารัฐ 4.0 (3) กระจายรายได้ กระจายโอกาส ด้วยการท่องเที่ยวชุมชน (4) ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจแบ่งปัน (5) สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียนนวัตกรรมสีเขียว (6) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต (7) ลดอุปสรรค เพิ่มโอกาสการดำเนินธุรกิจ

หากกล่าวโดยสรุปอาจมองได้ว่า พรรคพลังประชารัฐเน้นการแก้ปัญหาเอสเอ็มอีด้านการยกระดับเทคโนโลยีจากพันธกิจข้อที่ 2 และ 5 พัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการจากข้อที่ 1 พัฒนาเศรษฐกิขฐานรากจากข้อที่ 3, 4 และ 6 และลดอุปสรรคในการทำธุรกิจจากข้อที่ 7

'พรรคภูมิใจไทย' ที่เน้น 'การทลายทุกข้อจำกัด’ นำเสนอ 2 นโยบายหลักที่ส่งผลต่อการสนับสนุนเอสเอ็มอี คือ (1) กัญชาเสรี ที่อาจจัดเข้าสู่การสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีมูลค่าสูง โดยพรรคระบุว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีรายได้จากการปลูกและจำหน่ายเพื่อใช้ทางการแพทย์ โดยพรรคอ้างตัวเลขการซื้อขายกัญชาในต่างประเทศ ที่อยู่ที่กิโลกรัมละ 70,000 บาท และอาจมีมูลค่าธุรกิจสูงถึง 4.6 ล้านล้านบาท ในอนาคต (2) บุรีรัมย์โมเดล เป็นการหาจุดเด่นเพื่อพัฒนาเมือง โดยยกบุรีรัมย์ที่สร้างขึ้นมาเป็นเมืองกีฬาและท่องเที่ยวเป็นตัวอย่าง ในการกระจายรายได้ลงสู่ต่างจัดหวัด

สำหรับ 'พรรคอนาคตใหม่' นโยบายด้านเศรษฐกิจที่พรรคชูขึ้นมาเป็นเสาหลักมีความเป็นมหภาคค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อลงไปดูในตัวนโยบายย่อยพบว่ามีหลายนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาทิ

(1) นโยบายยุติระบบราชการรวมศูนย์ มีการพูดถึง การให้งบประมาณท้องถิ่นในการบริหารเอง นับเป็นหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง

(2) นโยบายปฏิวัติการศึกษา โดยมีการชูนโยบายการทุ่มเงินกว่า 1 แสนล้านบาทเพื่อพัฒนาสถาบันฝึกอาชีวะจำนวน 900 แห่งทั่วประเทศไทยในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานและเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการ

(3) นโยบายทลายเศรษฐกิจผูกขาด ที่มีการพูดถึงการบังคับใช้กฏหมายการค้าอย่างจริงจัง การเปิดใบอนุญาตเพื่อสร้างธนาคารท้องถิ่น การแก้ไขกฏหมายที่เอื้อให้เกิดการผูดขาด และการประมูลสัมปทานต่างๆ อย่างโปร่งใส

(4) นโยบายเกษตรก้าวหน้า ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไทย

(5) นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อประชาชน ที่มีการลงลึกไปใน3 มิติ ได้แก่ การเชื่อมรวมข้อมูลของระบบราชการทั้งหมดเข้าไว้ในฐานข้อมูลเดียวกันเพื่อความสะดวกในการเรียกใช้, การส่งเสริมอุตสาหกรรมไอที โดยมีการพูดถึงเปิดเผย 'โอเพ่น ดาต้า’ เพื่อการพัฒนาต่อยอดของเอสเอ็มอี ทั้งยังมีการเตรียมเจรจาแบบรัฐต่อรัฐเพื่อผลประโยชน์ของนักลงทุน และการแก้กฏหมายเพื่อส่งเสริมความคล่องตัว และดึงดูดผู้มีศักยภาพเข้ามาทำงานในประเทศ และการเตรียมความพร้อมประชาชนสู่โลกดิจิทัล

ปิดท้ายด้วย 'พรรคประชาธิปัตย์' ที่ชูนโยบายเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยพูดถึงการแก้จนของประชาชนเป็นหลัก แต่ไม่ได้เน้นนโยบายที่สะท้อนการแก้ปัญหาเอสเอ็มอีมากนัก ประชาธิปัตย์มาพร้อมกับ 5 นโยบาย ได้แก่ (1) การขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจทั้งระดับภาครัฐและเอกชน โดยเน้นให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (2) การคำนึงถึงประชาชนที่มีรายได้ปานกลาง-น้อย เป็นสำคัญ (3) สร้างสังคมสวัสดิการ มุ่งสู่ประกันรายได้พื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม (4) สร้างมูลค่าทางเกษตร วัฒนธรรมไทย และ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (5) สร้างธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีและพลังงานสะอาด

เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ

สำหรับนโยบายที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการ นายพรดนัย สมใจมั่น กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามอะพาร่า กล่าวว่า อยากให้มีนโยบายช่วยเหลือด้านเงินทุน การทำการตลาด สำหรับเอสเอ็มอีที่มีความสามารถ และประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อต่อยอดธุรกิจต่อไป และอยากให้มีงานสัมมนาเกี่ยวกับเอสเอ็มอีที่มีคุณภาพและมีเนื้อหาและความรู้ใหม่จริงๆ ไม่ซ้ำซาก


“เรื่องเงินทุนสำคัญมาก ถึงแม้สินค้าดี แต่ไม่มีงบการตลาด ก็ขายไม่ได้” นายพรดนัย กล่าว

ด้าน นางสาวณัฐภัทสร บุญเจริญ ทาญาติกิจการโชห่วย พูดไปในทำนองเดียวกันถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เพราะไม่สามารถสู้กับธุรกิจรายใหญ่ได้ โดยเฉพาะด้านปริมาณการผลิต รวมไปถึงปัญหาด้านการตลาดที่ภาครัฐสนับสนุนไม่ขึ้น อาทิ ประเด็นสินค้าโอท็อปที่ไม่สามารถตีตลาดได้ ส่วนประเด็นสำคัญคือข้อบังคับในการจดทะเบียนที่ไม่เอื้อให้ธุรกิจรายย่อยจดทะเบียนได้เพราะติดกฏเกณฑ์ต่างๆ


"นโยบายเชิงรุกของรัฐบาลมันไม่มีประสิทธิภาพเอาเลย" นางสาวณัฐภัทรสร กล่าว

ปิดท้ายที่ นางสาวนันทนัช เอกศิริพงษ์ ผู้ขายของออนไลน์ กล่าวว่า อยากให้พรรคการเมืองมีนโยบายเอื้อความสะดวกให้กับเอสเอ็มอีในการจดทะเบียนร้านค้า หลายคนไม่จดเพราะไม่รู้กฏหมายว่าจะได้สิทธิประโยชน์หรือโทษอย่างไรบ้าง และที่สำคัญต้องเดินทางไปถึงสำนักงานเขต ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากเสียเวลา หากมีระบบลงทะเบียนออนไลน์จะช่วยได้มาก อีกนโยบายที่อยากให้มีคือการสนับสนุนเทคโนโลยี

"ในฐานะแม่ค้าออนไลน์ทุกวันนี้ไม่ได้แตะเงินสดเลย ใช้การโอนเงินเสมอ ค่าส่งของก็ยังจ่ายด้วยการสแกนบาร์โค้ด การพัฒนาเทคโนโลยีให้ใช้ได้อย่างกว้างขวางก็จะเป็นการช่วยเอสเอมอีอย่างมาก"

โดยมองว่านโยบายของพรรคอนาคตใหม่เข้าตาเพราะตอบโจทน์ในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น Single Digital ID ขณะที่ อีกสองคนยังไม่เห็นนโยบายของพรรคใดเข้าตาเป็นพิเศษ

สุดท้ายแต่ละพรรคก็คงพยายามสร้างนโยบายมาตอบโจทย์ประชาชนในทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุด ส่วนพรรคใดจะตอบได้มากได้น้อยก็ต้องไปมองกันที่นโยบาย

อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องไม่ลืมว่าตนคือผู้ที่มีอำนาจที่สุด และอำนาจนี้ไม่ได้จบลงที่การหย่อนบัตรเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม แต่จะอยู่ติดตัวไปตลอด ไม่ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใคร หรือพรรคการเมืองใดจะชนะการเลือกตั้ง