ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ วาระที่ 2-3 จำนวน 28 มาตรา ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคือให้กัญชาและกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้รักษาโรค ภายใต้การควบคุมและดูแลทางการแพทย์ได้
มีการเพิ่ม คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเฉพาะวาระที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จำนวน 8 ตำแหน่งคือ 1.ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 3.อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 4.อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 5.อธิบดีกรมสุขภาพจิต 6.นายกแพทยสภา 7.นายกสภาการแพทย์แผนไทย และ8.นายกสภาเภสัชกรรม
ให้มีอำนาจตามหมวด 2 การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่สำคัญคือ เพื่อประโยชน์ทางราชการ การแพทย์ การรักษผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยพัฒนา รวมถึงเกษตกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งได้รับอนุญาตคือจากผู้อนุญาต คือเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และประกาศกำหนดลักษณะกัญชง (hemp) ที่มีลักษณะตามกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ที่นำไปใช้ประโยชน์ทางกฎกระทรวง ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของกรรมการ ระหว่างที่ยังไม่มีการประกำหนดตามกฎหมายฉบับนี้ ให้ใช้นิยามตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่ายหรือไม่ไว้ในครอบครองฯ พ.ศ. 2559
ส่วนการผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง หรือจำหน่ายกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้นั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด และความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ทั้งนี้หากมีปริมาณการครองครองเกิน10กิโลกรัม ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายโดยหน่วยงานที่จะได้รับอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง หรือจำหน่ายกัญชาได้นั้น ประกอบด้วย
1.หน่วยงานรัฐ ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนวิชาด้านการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามแก้ปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย 2.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 3.สถาบันอุดมศึกษาที่ศึกษาและวิจัยด้านการแพทย์ 4..ผู้ประกอบอาชีพเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชน 5.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ 6.ผู้ป่วยที่เดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดติดตัว เพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว 7.ผู้ขออนุญาตอื่นที่ รมว.สาธารณสุขเห็นชอบ
พร้อมกำหนดให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ให้ความเห็นชอบการกำหนดโซนนิ่งในการปลูกกัญชา หรือผลิตทดสอบ เสพหรือครอบครองในปริมาณที่กำหนด รวมถึงมีอำนาจกำหนดให้ท้องที่ใดเป็นพื้นที่เสพกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ด้านบทลงโทษนั้น หากครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยมีปริมาณกัญชาไม่ถึง 10 กิโลกรัม มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ครอบครองเกิน 10 กิโลกรัม จำคุก 1- 15 ปี ปรับ 100,000 -1,500,000 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ในร่างกฎหมายกำหนดให้เมื่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว 3 ปี ให้คณะกรมการควบคุมยาเสพติด ประเมินผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองกัญชาทุก 6 เดือน
นอกจากนี้ ยังกำหนดบทเฉพาะกาลให้ ผู้ใดมีกัญชาในครอบรองเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ รักษาผู้ป่วย รักษาโรคเฉพาะตัว หรือวิจัย ก่อนกฎหมายนี้ยังคับใช้ ไม่ต้องรับโทษ เมื่อดำเนินการ ขอใบอนุญาตต่อเลขาฯอย.ภายใน 90 วัน นับแต่กฎหมายบังคับใช้ ถ้าไม่อนุญาตให้ตกเป็นของกรทรวงสาธารณะสุขหรือทำลาย
ทั้งนี้หลังจากที่สมาชิกสนช.พิจารณาสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จครบทุกมาตราแล้ว ที่ประชุมสนช. มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษด้วยคะแนน 166 ต่อ 0 งดออกเสียง 13 ให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป