นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI กล่าวกรณีข่าว นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ นำนักลงทุนต่างชาติชาวสหรัฐฯเข้ามาพบปะกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข วันนี้ (30/7/2562) เพื่อหารือการเข้ามาลงทุนปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาในประเทศไทย ไบโอไทยเห็นว่ามีข้อควรระวังหลายประการ ดังนี้
1) แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.2562 มาตรา 26/5 ไม่อนุญาตให้ต่างชาติ ดำเนินการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยกรณีที่เป็นนิติบุคคลนั้น ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และกรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยและมีสำนักงานในประเทศไทย (และต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยราชการ)นั้น อาจต้องเฝ้าระวังการหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยการตั้งบริษัทนอมินี ซึ่งดูเหมือนว่ามีผู้ถือหุ้น 2 ใน 3 เป็นคนไทย แต่ในทางปฏิบัติกลับมีต่างชาติเป็นเจ้าของ ดังที่พบเห็นในหลายกิจการ เช่น กรณีการลงทุนปลูกกล้วยหอมในจังหวัดภาคเหนือของนักลงทุนจากจีน เป็นต้น
2) การเอื้ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนดังกล่าว อาจทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยได้ว่า นักการเมืองที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่ และอาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ รักษาความมั่นคงทางยา และป้องกันการผูกขาดเรื่องยา เพราะแทนที่จะช่วยกันสนับสนุนให้หมอพื้นบ้าน ผู้ป่วย และเกษตรกรคนไทยให้สามารถปลูกเพื่อใช้ประโยชน์กัญชาเพื่อการแพทย์ กลับอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติแทน
ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านควรจะตรวจสอบเรื่องนี้และแถลงท่าทีว่า สนับสนุนการดำเนินการของนายประภัตร โพธสุธน หรือไม่อย่างไร ดังที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวตำหนินักการเมืองบางคนที่นำนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนทำนา ในช่วงที่เกิดวิกฤตอาหารของโลกในปี 2551
3) มีความเป็นไปได้ว่า หากมีการจัดตั้งบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นเพื่อปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาได้ผลักดันและออกกฎหมาย ซึ่งให้สิทธินักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างยาวนาน ตลอดจนมาตรการด้านภาษี และอื่นๆ ที่เอื้ออำนวยแก่นักลงทุนต่างชาติ อาจเป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับการดำเนินธุรกิจของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติดังกล่าว ประชาชนส่วนใหญ่จะรู้สึกอย่างไร เมื่อตนเองถูกกีดกันแต่กลับประเคนผลประโยชน์รูปแบบต่างๆแก่ต่างชาติ
4) การกล่าวอ้างว่านักลงทุนกลุ่มนี้มีครอบครองสายพันธุ์กัญชาชั้นดีของโลก ยังเป็นที่สงสัยเนื่องจากในประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช (PVP) ของสหรัฐยังมิได้ให้การคุ้มครองสายพันธุ์กัญชาแต่ประการใด ยกเว้นสายพันธุ์กัญชาจำนวน 3-4 สายพันธุ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร (patent) เท่านั้น
สายพันธุ์กัญชาชั้นดีที่มีอัตราของ CBD, THC และสารอื่นๆ ในระดับเปอร์เซ็นต์ต่างๆนั้น เป็นสายพันธุ์กัญชานอกระบบ ที่ค้าขายกันทั่วไปในตลาดกัญชาในอเมริกาเหนือ โดยไม่มีผู้ใดอ้างสิทธิผูกขาดหรือครอบครอง (แต่มีการควบคุมผ่านการรักษาพ่อแม่พันธุ์เป็นความลับ) การอ้างเหตุในเรื่องครอบครองสายพันธุ์ชั้นดีเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาในประเทศไทย เป็นเรื่องที่พึงตรวจสอบ
5) การอ้างการลงทุนเพื่อปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติกลุ่มนี้ จะมาพร้อมกับการเรียกร้องให้ฝ่ายไทยต้องให้การคุ้มครองสายพันธุ์ที่พัฒนาหรืออ้างว่าได้พัฒนาขึ้น ซึ่งหมายถึงประเทศไทยต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ให้ครอบคลุมพืชทุกชนิดรวมทั้งสายพันธุ์กัญชา และขยายการผูกขาดพันธุ์พืชจากส่วนขยายพันธุ์ (เมล็ด กิ่ง หน่อ เหง้า ฯลฯ) ไปยังผลิตผล (ดอกกัญชาแห้ง) และผลิตภัณฑ์ (น้ำมันกัญชา หรือ ยาจากกัญชาสายพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง)ด้วย ซึ่งหมายถึงการเปิดทางให้กลุ่มทุนต่างชาติผูกขาดตลอดสายตั้งแต่สายพันธุ์กัญชาไปจนถึงยาที่พัฒนาจากสายพันธุ์กัญชาดังกล่าว
การเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ในขณะที่คนในประเทศทั้งผู้ป่วย เกษตรกร และหมอพื้นบ้าน ถูกสกัดกั้นไม่ใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ จะนำไปสู่การผูกขาดยาจากกัญชา และขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องติดตามอย่างใกล้ชิด