ปราจันต์ ปรเมศวรัณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเดอะดิโพลแมต สื่อด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ เผยแพร่บทความชื่อ Is Thailand’s Military Fighting a ‘Hybrid War’ Threat? เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
เนื้อหาในบทความมองว่า Hybrid War หรือ 'สงครามพันทาง' ที่พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2562 ไม่มีคำอธิบายรายละเอียดที่ชัดเจนนัก แต่สะท้อนให้เห็นว่ากองทัพไทยมีแนวคิดเรื่อง 'ภัยคุกคาม' ที่เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นผลจากสภาพการเมืองและความมั่นคงในยุคปัจจุบัน
ผู้เขียนบทความระบุว่า กองทัพไทยมองเรื่องภัยคุกคามแตกต่างไปตามช่วงเวลา โดยยุคที่โลกยังเกิด 'สงครามเย็น' ไทยมองว่าภัยคุกคามของประเทศขณะนั้น คือ กลุ่มคอมมิวนิสต์ต่างๆ ขณะที่ภายหลังปี 2544 ภัยคุกคามกองทัพไทย คือ กลุ่มติดอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยกระดับการก่อเหตุมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนปัจจัยที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ สถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศ ซึ่งกองทัพไทยเข้าแทรกแซงอยู่บ่อยครั้ง โดยครั้งล่าสุด คือ การรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่ชักนำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่อำนาจ ทั้งยังสืบทอดอำนาจได้สำเร็จผ่านการเลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากรัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพมหานคร ทั้งยังเป็นช่วงเดียวกับที่มีการจัดประชุมนานาชาติครั้งใหญ่ ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศอย่างรอยเตอร์เป็นการเฉพาะ โดยกล่าวว่ากองทัพไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบของ 'สงครามพันทาง' ซึ่งก็คือสงครามไซเบอร์ ผนวกกับการก่อเหตุระเบิดจริงๆ ถือว่าร้ายแรงกว่าสมัยที่กองทัพต้องต่อสู้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์
พล.อ.อภิรัชต์ระบุกับรอยเตอร์ด้วยว่า 'พรรคการเมืองใหม่' บางพรรค ใช้ช่องทางของตัวเองในการสื่อสารหรือโฆษณาชวนเชื่อไปยังกลุ่มคนอายุ 16-17 ปี เพื่อให้ข้อมูลปลอมแก่กลุ่มคนเหล่านี้ เพราะรู้ว่าพออายุ 18 ปี พวกเขาจะมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก
ท่าทีดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์ของเดอะดิโพลแมตมองว่า กองทัพไทยกำลังยกระดับกรอบความคิดของตนเองเรื่องภัยคุกคามความมั่นคง โดยอ้างอิงบริบททางการเมืองและความมั่นคงในปัจจุบัน และถึงแม้ พล.อ.อภิรัชต์จะย้ำว่า "กองทัพไทยจะไม่ล้ำเส้น" ซึ่งหมายถึงกองทัพจะไม่แทรกแซงการเมืองหรือก่อรัฐประหารอีกครั้ง แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมั่นใจได้มากนัก เพราะกองทัพไทยเคยมีท่าทีเช่นนี้มาก่อนแล้ว
ส่วนคำว่า 'สงครามพันทาง' ตามนิยามของ Frank G. Hoffman ซึ่งถูกอ้างถึงในคู่มือใช้เป็นแนวทางในการศึกษาตามหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2554-2555 ระบุว่า "เป็นสงครามที่มีการผสมผสานกำลังตามแบบและกำลังนอกแบบปฏิบัติการทางทหารร่วมกันอย่างแยกไม่ออก" โดยได้ยังยกตัวอย่างสงครามในลักษณะนี้ ได้แก่ "สงครามระหว่างอิสราเอลและเลบานอนเมื่อปี 2549 ที่มีปฏิบัติการทางทหารอย่างเด่นชัดของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ และมีความขัดแย้งกับรัฐ คือ อิสราเอล โดยตรง"
พร้อมกันนี้ คู่มือของ วปอ.ยังระบุถึงคำจำกัดความในภาษาไทยของสงครามพันทางเอาไว้ด้วยว่า คือ "สงครามที่มีการผสมกันระหว่างลักษณะต่างๆ ของการดำเนินสงคราม ที่ใช้ทั้งขีดความสามารถของสงครามตามแบบยุทธวิธีนอกแบบและการก่อการร้ายที่ใช้ความรุนแรง การบีบบังคับขู่เข็ญ และการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: