ไม่พบผลการค้นหา
สำนักข่าวรัสเซียเผยผลการศึกษาพบว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของสตรีผู้ต้องโทษคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรอง ทำไปเพื่อป้องกันตัวเองจากความรุนแรงในครอบครัว

เนื่องในวาระวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) วันที่ 25 พฤศจิกายน สำนักข่าวโนบายากาเซตา (Новая газета: Novaya Gazeta) และเมดีอาโซนา (Медиа: Mediazona) ได้เผยงานวิจัยร่วมที่ศึกษาด้วยการใช้แมชชีนเลิร์นนิง เกี่ยวกับสตรีผู้ต้องโทษจากคดีป้องกันตัวเอง

การวิเคราะห์ครั้งนี้นำข้อมูลคำตัดสินในคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ (มาตรา 105 วรรค 1 กฎหมายอาญารัสเซีย) ก่อน 2,500 คดีในช่วงปี 2016-2018 มาวิเคราะห์ พบว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของสตรีผู้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานฆาตกรรม ทำไปเพื่อป้องกันตัวเองจากความรุนแรงในครอบครัว

ขณะเดียวกัน สตรีราว 1,700 คน ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (มาตรา 111 วรรค 4 กฎหมายอาญารัสเซีย) ก็เป็นกรณีที่ทำไปเพื่อป้องกันตัวเองเช่นกัน

ความผิดทั้งสองกรณีมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี

นอกจากนี้ งานวิจัยของโนบายากาเซตาและเมดีอาโซนายังพบอีกว่าสตรีราว 1,500 คนที่ถูกตัดสินว่าป้องกันตัวเกินกว่าเหตุในช่วงปี 2011-2018 นั้น มี 91 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นการป้องกันตัวเองจากคู่รัก หรือญาติเพศชาย ขณะที่ผู้ชายซึ่งถูกตัดสินด้วยข้อหาเดียวกันนั้น มีเพียงประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นการป้องกันตัวเองจากคู่รักเพศหญิง

"ผู้พิพากษาไม่เข้าใจว่าความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร" สำนักข่าวเมดีอาโซนา อ้างอิงคำพูดของมารี เดฟเตียน ทนายความเพื่อสิทธิสตรี

รายงานของสหประชาชาติในปี 2010 ระบุว่าทุกๆ ปี สตรีราว 14,000 คน เสียชีวิตในรัสเซีย โดยฝีมือของสามีหรือญาติ ขณะที่สำนักข่าวมอสโกไทม์สรายงานว่าตัวเลขของทางการรัสเซียชี้ว่าราว 1 ใน 5 ของสตรีชาวรัสเซียถูกทำร้ายร่างกายโดยคู่รัก

ทางด้านกระทรวงยุติธรรมรัสเซีย กล่าวกับศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าระดับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนั้นมากเกินจริง ไม่มีหลักฐานว่าเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเคลมว่าผู้ชายประสบปัญหากับการเลือกปฏิบัติมากกว่า

สำนักข่าวมอสโกไทม์ส ระบุว่าการยกเลิกโทษอาญา (decriminalization) ความผิดที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวบางรูปแบบในปี 2017 นั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายิ่งบั่นทอนความคุ้มครองสตรี ขณะที่ผู้สนับสนุนการเลิกโทษอาญานี้ชี้ว่าเป็นการอนุญาตให้ผู้ปกครองสั่งสอนลูกๆ ได้ และข้อเสนอเมื่อเร็วๆ นี้ในการทำให้ความรุนแรงในครอบครัวกลับมามีโทษทางอาญาอีกครั้ง ก็เผชิญกับการประท้วงโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวซึ่งวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามทำลายค่านิยมของสถาบันครอบครัวที่มีมาแต่เดิม

ที่มา: Moscow Times / Novaya Gazeta / Mediazona

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: