ไม่พบผลการค้นหา
สมาชิกรัฐสภากว่า 50 คนจากหลายประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้ 'รัฐบาลทหารไทย' ยกเลิกข้อจำกัดต่อเสรีภาพ เพื่อการเลือกตั้งที่โปร่งใสและยุติธรรม

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2562 สมาชิกรัฐสภากว่า 50 คนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมตัวกันในนาม 'สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน' หรือ APHR ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารไทยยกเลิกข้อจํากัดต่อสิทธิและเสรีภาพต่างๆ เพื่อให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค.

เนื้อหาในแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า สมาชิกรัฐสภา 24 คน จากทั้งหมด 52 คนที่ร่วมลงชื่อ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจาก 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ขอเรียกร้องให้กองทัพไทยหลีกทางให้รัฐบาลพลเรือนได้มาปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการแทรกแซงจากทหาร 

'ชาร์ลส์ ซานติเอโก' ประธานกลุ่ม APHR และสมาชิกรัฐสภามาเลเซีย กล่าวว่า แม้ตอนนี้ประเทศไทยจะอยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง แต่พรรคการเมือง ผู้สมัคร และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ยังคงต้องระมัดระวังในสิ่งที่เขาพูด ประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นอยู่กับว่า ผู้คนสามารถแสดงออกถึงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาหลังจากนั้น แต่กลับเป็นสิ่งที่ 'เป็นไปไม่ได้' ในประเทศไทยในปัจจุบัน

"เพื่อให้การเลือกตั้งมีความชอบธรรม น่าเชื่อถือ รัฐบาลทหารไทยจะต้องยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกที่เหลืออยู่ทั้งหมด และปล่อยตัวนักโทษที่ถูกจองจําเพียงเพราะการแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสงบ"

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ทหารก็จัดให้ตัวเองมีบทบาทสําคัญทางการเมืองต่อไปเป็นเวลาอีกหลายปีแล้ว ผ่านทางรัฐธรรมนูญที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย สิ่งนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทํางานของรัฐบาลในอนาคต ที่จะไม่สามารถตัดสินใจในการบริห ารประเทศได้อย่างเป็นอิสระ เช่น การกําหนดวาระนโยบายของตนเอง และถอนรากประเทศไทยออกจากวงจรความไม่สงบทางการเมืองและรัฐประหารได้

แถลงการณ์ของกลุ่ม APHR ระบุด้วยว่า การเลือกตั้งเพื่อเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในวันที่ 24 มี.ค. ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองโดยรัฐบาลทหารที่ยาวนานเกือบห้าปี นับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว

คสช. ได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบ ผ่านการใช้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญา เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง 

แม้ว่าจะมีการยกเลิกการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปแล้ว แต่ยังมีเงื่อนไขที่ปิดกั้นเสรีภาพคงอยู่ เช่น มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่ให้อํานาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นํา คสช. อย่างไม่จํากัด และไม่ถูกตรวจสอบ 

นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าที่น่ากังวลเกิดขึ้นระหว่างช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็คือ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ได้ผ่าน พ.ร.บ. ความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งมอบอํานาจให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ และยังให้เจ้าหน้าที่สามารถเรียกบุคคลเข้ามาสอบสวนโดยไม่มีหมายจับ ในกรณีที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ร้ายแรง

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และสั่งห้ามกรรมการบริหารพรรคไม่ให้ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อาจถูกจําคุกเป็นเวลาถึงห้าปีภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะถูกกล่าวหาว่าวิจารณ์รัฐบาลทหารผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยอัยการจะเปิดเผยว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่อีกครั้งในภายหลังการเลือกตั้ง

"การข่มขู่ว่าจะจําคุกนักการเมืองเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติบนเฟซบุ๊ก ไม่เพียงแต่ไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ยังทําให้เกิดสภาวะแห่งความกลัวต่อบรรดานักการเมืองคนอื่นๆ ทางการไทยต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทางการเมืองต่อนักการเมือง นักข่าว นักกิจกรรมและประชาชน ผู้ที่ไม่ได้ทําอะไรนอกจากแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ" เท็ดดี บากุยลัต กรรมการสมาชิก APHR และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปนส์กล่าว

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ APHR แสดงความกังวล คือ การที่กองทัพไทยทําให้ตัวเองยังคงมีบทบาทสําคัญทางการเมืองต่อไปหลังการเลือกตั้ง ผ่านการคัดเลือกวุฒิสภาสมาชิก 250 คน ซึ่งจะมีผลผูกมัดรัฐบาลพลเรือนต่อๆ มาให้ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตรช์าติ 20 ปี และผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ทําตามยุทธศาสตร์ อาจถูกไล่ออกได้ ซึ่งภาพดังกล่าวสะท้อนความทรงจำอันน่าเจ็บปวดของชาวอินโดนีเซียที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารในอดีต

"ในอินโดนีเซีย เรามีความทรงจําอันเจ็บปวดที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ชาวไทยและผู้นําพลเรือนควรจะต้องสามารถกําหนดอนาคตของประเทศได้อย่างเสรีปราศจากการแทรกแซงของทหาร เราขอเรียกร้องให้กองทัพลดบทบาทของตัวเองและหลีกทางให้รัฐบาลชุดต่อไปเป็นรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง ไม่ใช่รูปแบบของการปกครองแบบกึ่งพลเรือนกึ่งทหาร" อีวา ซุนดารี กรรมการสมาชิก APHR และ ส.ส.จากอินโดนีเซียกล่าวทิ้งท้าย

(ผู้ลงนามในแถลงการณ์เป็นสมาชิกรัฐสภาจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ติมอร-์เลสเต และฟิลิปปินส์)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: