ไม่พบผลการค้นหา
‘วัคซีนโควิด’ มีข้อมูลสะท้อนหลากหลายประเด็นที่รัฐบาลไม่เคยชี้แจงอย่างเป็นทางการ ล่าสุด รมว.ดีอีเอส ยื่นฟ้อง ธนาธร ม.112 จากการตั้งคำถามต่อบริษัทที่รัชกาลที่ 10 ถือหุ้นอยู่

ขณะทั่วโลกหาทางออกให้ประเด็น ‘ความเหลื่อมล้ำทางวัคซีนต้านโควิด-19’ ระหว่างประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง อาทิ กรณีของแคนาดาที่สามารถจัดซื้อวัคซีนในจำนวนที่มากกว่าตัวเลขประชากรหลายเท่าตัวแต่ประเทศอีกมากกลับไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ

เป็นอีกครั้งที่ไทยไม่อาจยกระดับไปอยู่ในขั้นเดียวกับพลเมืองสากลเพราะมัวแต่สะดุดขาตัวเองทำทุกเรื่องให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้แต่ประเด็นความมั่นคงทางสาธารณสุขของคนในชาติก็ตาม 


คำถามที่ ‘รัฐบาล’ ไม่ตอบ 

เมื่อ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ‘วอยซ์’ เผยรายงานพิเศษ ภายใต้ชื่อ Exclusive : ‘ติดเชื้อ’ กับ ‘ถูกโกงวัคซีน’ - คนไทยปฏิเสธอะไรได้ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสังคมว่า ประเทศอาจกำลังเสี่ยงทุ่มเงินภาษีมหาศาลแบบไม่คุ้มทุนให้ได้มาซึ่งความมั่นคงทางสาธารณสุขอย่างที่รัฐบาลพยายามประกาศเพียงเพื่อกลบกระแสการบริหารประเทศหละหลวมและไม่เคยออกมารับผิดชอบอย่างเป็นทางการ 

ไล่มาตั้งแต่การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 จากสนามมวยลุมพินีเมื่อ มี.ค. 2563 จนถึงการลักลอบเดินทางเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร ที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเหตุใดรั้วลวดหนามที่ตำรวจใช้ควบคุมการชุมนุมใจกลางเมืองหลวงของประเทศถึงได้หนาแน่นกว่าบริเวณตะเข็บชายแดน 

unsplash-มวยไทย ชกมวย นักกีฬา สนามมวย เวทีมวย.jpg

รายงานฉบับดังกล่าว ชี้ทั้งประเด็น ต้นทุนราคาการได้มาซึ่งวัคซีน 26 ล้านโดส จากบริษัท ‘แอสตราเซเนกา’ ในมูลค่าเฉลี่ยโดสละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 150 บาท ซึ่ง อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่าเป็นราคาที่ผนวกรวมกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์แล้ว

อย่างไรก็ดี เอกสารหลุดจาก ‘อีวา เดอ บลีเกอร์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเบลเยียม กลับสะท้อนว่าสหภาพยุโรปสามารถจัดซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกาได้ในราคาโดสละ 1.78 ยูโร หรือประมาณ 66 บาทเท่านั้น ซึ่งนับว่าต่างกันอยู่มาก โดยอาจทำความเข้าใจได้ว่าราคาที่ห่างกันนั้นมาจากการถ่ายทอดองค์ความรู้และโอกาสในการเป็นผู้ผลิตของไทย 

หากเป็นเช่นนั้น จึงเกิดคำถามต่อว่า เหตุใดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา จึงระบุว่าจะมีการจัดซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกาเพิ่มอีก 35 ล้านโดส (รวมของเดิมเป็น 61 ล้านโดส) โดยไม่มีการชี้แจงว่าจัดซื้อในราคาเท่าใด เพียงแต่ระบุว่าไม่ต้องวางเงินมัดจำล่วงหน้า

หากไทยต้องจัดซื้อในราคาเท่าเดิมคือโดสละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะนำไปสู่คำถามว่าแล้วเหตุใดจึงไม่รอวัคซีนจากสยามไบโอไซเอนซ์ที่เดินหน้าผลิตแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จ เม.ย.นี้

อีกทั้ง ถ้าต้องซื้อล็อตที่ 2 ในราคาเท่าเดิมเช่นนี้ จะดีกว่าไหม ถ้าไม่ต้องรับเอาชุดความรู้ในการผลิตวัคซีนจากแอสตราเซเนกามาตั้งแต่แรก แต่เจรจาต่อรองให้ได้วัคซีนในราคาโดสละ 2.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 75 บาท อย่างที่ฟิลิปปินส์ทำได้ เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนงบให้หน่วยงานเฉพาะอาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และ บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ดำเนินการผลิตวัคซีนของประเทศอยู่แล้ว 

นอกจากนี้ รัฐบาลที่ออกมาประกาศว่าสามารถเจรจากับบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด จากประเทศจีนเพื่อนำเข้าวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดส ยังไม่มีการอธิบายกับประชาชนอย่างทั่วถึงว่าต้องใช้งบประมาณสนับสนุนการจัดหาดังกล่าวด้วยต้นทุนสูงถึงโดสละ 17 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 511 บาท ซึ่งแพงกว่าวัคซีนจากแอสตราเซเนกาถึง 3 เท่า 

เท่านั้นยังไม่พอ ผลการทดสอบประสิทธิภาพที่มีความหลากหลายของวัคซีนจีน ทั้งกรณีที่สถาบันชีวการแพทย์บูตันตันของบราซิลแถลงว่าวัคซีนดังกล่าวป้องกันโควิดได้แค่ 50.4% ขณะตุรกีรายงานประสิทธิภาพสูงถึง 90% และอินโดนีเซียให้ตัวเลขราว 60%

ฝั่งรัฐบาลกลับไม่เคยมีการแถลงทำความเข้าใจกับคนไทยว่า งบประมาณที่มาจากเงินภาษีของพลเมืองถูกเอาไปละลายกับวัคซีนที่มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน 


เริ่มที่ ‘วัคซีน’ ไปจบที่ ‘ม.112’  

18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ‘คณะก้าวหน้า’ นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ใช่เวลาร่วมครึ่งชั่วโมงผ่านคลิปวิดีโอภายใต้ชื่อ ‘วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย?’ เพื่อนำเสนอชุดข้อมูลและตั้งคำถามต่อสาธารณชนว่า เหตุใดประเทศไทยที่ภาคภูมิใจในระบบสาธารณสุขถึงยังไม่มีวัคซีนใช้เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการสั่งวัคซีนล็อตแรกกลับไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรอย่างทั่วถึง

ก่อนสรุปความโดยรวมว่าคือข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการนโยบายสาธารณสุขของภาครัฐ 

ไม่เพียงสิ่งที่ประชาชนถามไถ่ผู้บริหารประเทศไร้ซึ่งคำตอบ คำชี้แจง หรือแม้แต่คำปฏิเสธพร้อมหลักฐานยืนยันหากทุกสิ่งที่รัฐบาลทำเป็นไปตามครรลอง ซ้ำร้าย สิ่งที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย ตอบกลับคือ “คนที่พูดเรื่องนี้ เหมือนกับรู้ทุกเรื่อง รู้ไปหมดทุกเรื่อง แต่ไม่รู้อย่างเดียวคือไม่รู้จักสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ...รถตรวจหาเชื้อโควิด 20 คัน ใครเป็นคนให้” โดยปราศจากการชี้แจงในประเด็นที่คณะก้าวหน้าตั้งคำถาม 

ล่าสุดวันที่ 20 ม.ค. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งตัวแทนเพื่อยื่นฟ้องธนาธรต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตามพระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ม.112)

พร้อมด้วยความผิดตาม พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) จากการไลฟ์เฟซบุ๊กวิจารณ์ประเด็นวัคซีนและการนำสถาบันสูงสุดเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นการถือหุ้นบริษัท 


'ธนาธร' พูดอะไรในไลฟ์

ธนาธร เริ่มต้นจากการตั้งคำถามถึงความล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ฉีดวัคซีนกันไปบ้างแล้ว โดยแตะประเด็นเปรียบเทียบนโยบายวัคซีนของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย ที่ปัจจุบันมีวัคซีนครอบคลุมประชากรแล้วถึง 71% ขณะไต้หวันมีสัดส่วนที่ 42% ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ที่ 45.1%

สำหรับไทย เมื่อบวกจำนวนโดสจากแอสตราเซเนกาล็อตแรก 26 ล้านโดส เข้ากับวัคซีนจากซิโคแวคอีก 2 ล้านโดส จะครอบคลุมประชากรเพียง 21.5% เท่านั้น พร้อมย้ำเพิ่มว่า การเจรจารอบใหม่ที่จะซื้อเพิ่มจากแอสตราเซเนกา ยังไม่มีการลงนามอย่างเป็นทางการ จึงไม่อาจนำตัวเลขมารวมกันได้ 

ในห้วงเวลาเดียวกันกับการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรของแต่ละประเทศนั้น ธนาธร บรรยายว่าประเทศอย่างอิสราเอล ฉีดวัคซีนให้พลเมืองแล้วกว่า 2.3 ล้านโดส คิดเป็น 25.91% ของประชากร ขณะที่ฝั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฉีดวัคซีนให้ประชากรกว่า 17.52% แล้ว ซึ่งกลับมาเป็นข้อกังขาว่ายังไม่มีวัคซีนแม้แต่โดสเดียวฉีดให้กับคนไทยบนแผ่นดินไทย

“แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างอินโดนีเซีย สัปดาห์ก่อนก็ได้เริ่มฉีดเข็มแรกไปแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยกว่าจะมาก็คือปลายเดือนกุมภาพันธ์ ได้ฉีดเข็มแรกต้นมีนาคม และกว่าล็อตใหญ่จะมาถึงจริงๆ ก็ครึ่งหลังปี 2564” ธนาธร กล่าว

ประเด็นที่นำไปสู่การยื่นฟ้อง ม.112 ของธนาธร คือเมื่อเขาพูดถึงเรื่องสัญญาการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตวัคซีนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่ง “เป็นบริษัทที่มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้นอยู่ 100%”

ธนาธรเลือกบรรยายในหัวข้อที่มาที่ไปของบริษัทดังกล่าว รวมไปถึงสายความเชื่อมโยงกับบริษัทลูกต่างๆ เพื่อสะท้อนประเด็นที่เขาตั้งใจตั้งคำถามว่า เมื่อมองในแง่ประสิทธิภาพการเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนในภูมิภาคนี้ เหตุใดจึงเลือกบริษัทที่มียอดขาดทุนสะสมไปแล้วถึง 581 ล้านบาท ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ธนาธร ชี้ว่า อาจเป็นไปได้ที่บริษัทขาดทุนจำนวนหนึ่งเพราะวงจรการผลิตยาหรือวัคซีนนั้นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในการวิจัยค่อนข้างสูง  

ธนาธร เสริมต่อว่า เมื่อย้อนกลับไปดูแผนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติปี 2563-2565 ชื่อของบริษัท สยามไบโฮไซเอนซ์ ไม่ได้อยู่ในรายชื่อแผนขององค์กรที่มีศักยภาพต่อการผลิตวัคซีนของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย :

  • สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
  • บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
  • องค์การเภสัชกรรม
  • บริษัทร่วมทุน ระหว่าง องค์กรเภสัชกรรม กับ บริษัท เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
  • สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

ธนาธรปิดท้ายว่า ทั้งหมดนี้ นำมาซึ่งคำถามสุดท้ายว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี อนุมัติข้อตกลงอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้าเกิดว่ามีอะไรผิดพลาด พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่"

"ถ้าเกิดว่าวัคซีนผลิตได้ช้ากว่ากำหนดเวลา ถ้าเกิดว่าการผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนเกิดอาการแพ้วัคซีนหรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่”


‘เอกชน’ นำเข้าไม่ได้แม้เสียเงินเอง

เมื่อพยายามปิดตาไม่มองเรื่องการเมือง ประเด็นวัคซีนต้านโควิด-19 ยังมีแม้แต่ข้อกังหาในวงการโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีนเอง ทั้งยังยอมจ่ายเงินเองเพื่อไม่ต้องให้เป็นภาระด้านงบประมาณต่อรัฐบาล 

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เผยกับ ‘วอยซ์’ ว่า ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจที่ต้องดูแลและรับผิดชอบความเสี่ยงของบุคลากร บริษัทไม่ได้อยู่ในจุดที่จะรอวัคซีนฟรีจากรัฐบาลได้ อีกทั้งยังไม่เคยมีประกาศอย่างชัดเจนจากฝั่งรัฐว่าจะช่วยจัดหาวัคซีนให้กับโรงพยาบาลเอกชน

บุญ วนาสิน ธนบุรี เฮลท์แคร์
  • นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่โรงพยาบาลดำเนินการในช่วงก่อนคือการติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งในกรณีของธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป คือ บริษัทซิโนแวค ตั้งแต่แรก ก่อนที่รัฐบาลจะเลือกสั่งวัคซีน 2 ล้านโดสจากซิโนแวค  

อย่างไรก็ดี แม้ตกลงกับฝั่งจีนได้แล้ว แต่เมื่อถึงขั้นตอนในการยื่นจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.บุญ ชี้ว่า ตัวเขาส่งเอกสารไปให้กับ อย.พิจารณา แต่ถูกปฏิเสธกลับมาว่าไม่ได้อยู่ภายใต้หน้าที่ของ อย.

"กัมพูชาฉีดแล้ว สิงคโปร์ฉีดแล้ว มาเลเซียก็ฉีดแล้ว ผมขอมาสองเดือน ถ้าให้เอาเข้า ป่านนี้เดือน ธ.ค.ได้ฉีดแล้ว”

ประธานกรรมการบริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป เสริมว่า ปัจจุบันเมื่อรัฐบาลมาพิจารณานำเข้าวัคซีนซิโนแวคโดยมีองค์กรเภสัชกรรมเป็นผู้รับอนุญาตในการขึ้นทะเบียน ตนเองจึงทำจดหมายถึง อย.ว่า หากอนุญาตให้องค์กรเภสัชกรรมขอให้พ่วงจากฝั่งของเอกชนอย่างธนบุรี เฮลแคร์ ที่ทำเรื่องตั้งแต่แรกเข้าไปด้วยได้หรือไม่ เพราะท้ายสุดแล้วเป็นวัคซีนที่มาจากบริษัทเดียวกัน


“ถ้าเราต้องเริ่มศูนย์ใหม่ ผมว่ามันไม่ยุติธรรม ผมอาจจะร้องไปที่ศาลปกครอง ขอคุ้มครองฉุกเฉิน อันนี้จะเรียกว่าฟ้องหรือไม่ฟ้องผมไม่รู้ แต่ว่าเราขอคุ้มครองฉุกเฉินให้เรานำเข้ามาใช้ได้ เหมือนกับที่รัฐบาลใช้อยู่

ในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน นพ.บุญ ชี้ว่า การตกในที่นั่งตัวเองลำบากกว่าฝั่งรัฐบาลมาก เนื่องจากการปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ได้วัคซีนมาใช้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจและบุคลากรภายในเครือ พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากโรงพยาบาลในเครือ ณ ประเทศเมียนมาว่า ปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลดังกล่าวต้องกักตัวบุคลากรทางการแพทย์สูงถึง 40% ของบุคลากรทั้งโรงพยาบาล 

นพ.บุญ ย้ำว่า “เราปล่อยให้เสี่ยงถึงระดับนั้นไม่ได้ สมมติศิริราชโดนปิด รัฐบาลก็ยังจ่ายเงินเดือนอยู่ แต่เอกชนโดนปิด ชื่อเสียงก็เสีย รายได้ก็หายเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเสี่ยงไม่ได้กับค่าวัคซีนไม่กี่ล้านบาท คือเอกชนมันต้องคิดหลายอย่าง” พร้อมทิ้งท้ายว่า ยิ่งวัคซีนถูกผลักให้ล่าช้า ประเทศจะยิ่งตกอยู่ในความเสี่ยง

“หากเกิดระบาดรุนแรงขึ้นมา คุมไม่อยู่ ประเทศชาติเสี่ยง ทุกคนต้องช่วยกัน เอกชนก็พยายามจะช่วยรัฐบาลทุกวิถีทาง เพราะทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ แต่มันขึ้นกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลว่าจะทำยังไงให้ทุกคนปลอดภัย ผมเชื่อว่านายกหวังดีต่อประเทศ แต่นายกไม่ใช่หมอก็ต้องฟังหมอ แต่หมอก็มีสองฝ่าย ที่อนุรักษนิยมกับที่มองวิสัยทัศน์กว้างหน่อย สรุปแล้ว อย่าเสี่ยง ผมใช้คำสุดท้ายก็แล้วกัน”

ท้ายสุด แม้แต่ในยามวิกฤตเช่นนี้ ประชาชนยังอาจต้องกลับมาตั้งคำถามว่าพวกเขาพึ่งพาผู้บริหารประเทศเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน แล้วนโยบายต่างๆ ที่ออกมา จะกลายมาเป็นภาระมูลค่ามหาศาลที่พลเมืองต้องจ่ายอย่างไม่คุ้มค่าในอนาคตหรือไม่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;