ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชนและนักวิชาการชี้ ย้ายคลื่น 700 MHz เร็วเกินไป ด้านตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลย้ำต้องการความช่วยเหลือก่อนตาย

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดงานอภิปรายในหัวข้อ "ย้ายคลื่น 700 MHz ใครได้ใครเสีย และมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค"

กสทช

วงอภิปรายครั้งนี้ ประกอบไปด้วย (1) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (2) นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (3) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (4) น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีตกรรมการ กสทช. (5) นายเจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจ ยามเฝ้าจอ (6) นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ กรรมการ สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจอทัล (7) นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

การจัดอภิปรายครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อคลายความสับสนของทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล หลัง กสทช. มีแถลงบนเว็บไซต์เกี่ยวกับร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา

โดยเงินที่ได้คืนจากการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz จะนำไปพัฒนาโครงข่าย 5G และส่วนหนึ่งถูกนำเข้าไปในกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อจ่ายเป็นค่าทดแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่

นายเจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจ ยามเฝ้าจอ ในฐานะตัวแทนประชาชน ย้ำว่าความพยายามผลักดันครั้งนี้ของ กสทช. เร็วและมีความรวบรัดเกินไป อีกทั้งร่างที่ออกมาไม่มีรายละเอียดเพียงพอให้ทุกฝ่ายมองเห็นภาพที่เป็นรูปธรรมของการผลักดันครั้งนี้ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความกังวลและไม่มั่นใจ ซึ่งด้าน น.ส.สารี ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีความเห็นสอดคล้องกัน ในความไม่ชัดเจนของกระบวนการต่างๆ

สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์

ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ มีความเห็นไปในทางเดียวกันเมื่อมองในมิติความรวดเร็วในการดำเนินการ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีความจำเป็นหรือการได้เปรียบทางการค้าใดที่ทำให้คณะกรรมการ กสทช. ต้องเร่งถึงเพียงนี้ 


"กสทช. พยายามทำโดยเร็วอย่างยิ่ง และมันไม่ใช่ลักษณะโดยเร็วแบบปกติ ค่อนข้างเร็วมากๆ จนผิดปกติไปหรือเปล่า" นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ มองต่อไปว่า แท้จริงแล้ว ทีวีดิจิทัลได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่บ้างแล้วจึงอาจเกินความจำเป็นไป หาก กสทช. จะนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz มาอุ้มทีวีดิจิทัลอีกที แต่แนะให้ กสทช. อนุญาตให้ ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะยุติการดำเนินการสามารถทำได้ โดยจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือตามเวลาจริง ขณะที่ นำเงินที่ได้จากการประมูลมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ไม่ใช่ให้ทุกรายไป 

ด้านนายสมชัย และ น.ส.สุภิญญา มีความเห็นสอดคล้องกันในการสนับสนุนให้ทีวีดิจิทัลยังไม่ขายคลื่นสัญญา 700 MHz เพราะมองว่าคลื่นความถี่นี้ ยังมีศักยภาพในการพัฒนา และไม่ควรรีบร้อนเกินไป เพราะหากมองในเชิงการตลาด จะเป็นการเสียโอกาสในการได้ราคาที่ดี 

นายสมชัยเพิ่มเติมอีกว่า หากรัฐฯ นำคลื่นความถี่ที่เป็นของสาธารณะมาประมูลให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมซึ่งสามารถนับนิ้วได้หมด จะทำให้ของสาธารณะกลายเป็นของเอกชน ส่งผลให้ประชาชนเผชิญความเสี่ยงในการไม่ได้ใช้งานเต็มศักยภาพเพราะเอกชนสามารถขายการเข้าถึงความเร็วให้กับประชาชนอีกทีหนึ่งได้

"ถ้าหากประมูลคลื่น 700 MHz เปรียบเสมือนเหมืองทองขนาดใหญ่ให้เอกชนมาอุ้มทีวี คำถามคือทำไมไม่อุ้มประชาชนบ้าง" นายสมชัย กล่าว

สำหรับนายมานะ มองว่า ตอนนี้สถานีกำลังเกิดการสับสนระหว่างทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคม สำหรับทีวีดิจิทัล หากไม่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทีวีตายแน่นอน

"อยู่ที่ตายเร็วหรือตายช้าเท่านั้น" นายมานะกล่าว โดยมองว่า กสทช. มีความรับผิดชอบในการอุ้มทีวีดิจิทัล แต่ยังควรทำในกรอบเวลาที่ไม่เร่งรัดเกินไป และมีแผนที่ชัดเจน

การอภิปรายครั้งนี้ ปิดท้ายด้วย นายฉัตรชัย ตัวแทนจากทีวีดิจิทัล ที่มองว่าอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลยังไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเตรียมพร้อมอย่างเพียงพอ และเห็นว่าการเร่งทำสิ่งที่จะเป็นผลดีกับคนรุ่นหลังเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 

"ทำอะไรก็ทำเถอะครับ การไม่ทำต่างหากที่สร้างความเสียหายยิ่งใหญ่กว่า" นายฉัตรชัย กล่าว

การอภิปรายครั้งนี้แสดงถึงแนวโน้มการเห็นด้วยและเห็นต่างกับความพยายามในการผลักดันการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ให้แก่บริษัทโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาโครงสร้าง 5G

ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ใครควรจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดในการตัดสินใจดำเนินโครงการ พร้อมกับคำถามที่ว่า กสทช.เอง ได้อะไรจากการเร่งประมูลคลื่นครั้งนี้ด้วยเช่นกัน