เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ต.ค.ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 16/2564 โดยเห็นชอบปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเหลือ 23 จังหวัด รวมทั้งปรับเวลาห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 23.00-03.00 น. อย่างน้อย 15 วัน ส่วนสถานดูแลผู้สูงอายุให้เปิดดำเนินการแบบรับไป-กลับได้ โดยยังคงงดจำหน่ายและดื่มสุราในร้านอาหาร ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มสูตรการฉีดวัคซีนซิโนแวค ไฟเซอร์ และ ซิโนแวค 2 โดสกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า และฉีดด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดสกระตุ้นด้วยไฟเซอร์
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุม ศบค. ว่า ผลการประชุมมีรายละเอียดต่างๆมากมายที่จะทำให้เกิดความร่วมมือเตรียมการให้พร้อมทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการเปิดประเทศให้ทันตามที่ได้ประกาศเปิดประกาศไว้ 1 พ.ย. ซึ่งมาตรการต่างๆเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับต่างประเทศ ที่จะเข้ามาในประเทศไทย ตลอดจนมาตรการรองรับของเราในฐานะเจ้าของบ้าน ที่จะทำอย่างไรให้เกิดความพร้อมมากที่สุด จะต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ในเดือนต.ค. และ พ.ย. พิจารณา 2 มาตรการที่กำหนดไว้แล้ว คือมาตรการเปิดประเทศและการผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมต่างๆ โดยอาศัยกรอบของสาธารณสุขที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ซึ่งต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม
ส่วนการเดินทางของประเทศต่างๆ ขณะนี้มีหลายประเทศต้องการเดินทางเข้ามาในไทย ก็จะพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยขอใช้เวลาเตรียมมาตรการต่างๆ ในเรื่องของการปรับระดับประเทศ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้มานานแล้ว ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปพอสมควร จึงต้องปรับให้เหมาะสม
"วันนี้ขอความร่วมมือประชาชน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่จะช่วยให้คนในหลายส่วนของไทย เริ่มกลับมาทำมาหากินและตั้งตัวได้อีกครั้ง เราต้องพยายามดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้นให้สอดคล้องกับศักยภาพของไทย และดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่นเดียวกับที่หลายประเทศทำ"
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุม ศบค.วันนี้แสดงให้เห็นว่า เป็นเวลาที่คนไทยจะร่วมมือกัน จะสามารถทำสิ่งที่เหนือความคาดหมายได้เสมอ ทราบดีว่าทุกฝ่ายต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อจะให้เกิดขึ้นได้ภายใน 2 สัปดาห์ จึงขอขอบคุณทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีทุกคน ภาคเอกชน ที่ต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่ต้องรับผิดชอบพื้นที่การท่องเที่ยว ขณะเดียวกันมาตรการต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะคนต่างประเทศ แต่ต้องรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศด้วย ภายใต้กติกาเดียวกัน แต่เพื่อความรอบคอบ ยังต้องหารือรายละเอียดกันอีกครั้ง ทั้งนี้ยืนยันความพร้อมในการร่วมมือพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาอีกครั้งตามศักยภาพที่มีอยู่ ขอทุกฝ่ายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่พำนักในไทยช่วยกันประชาสัมพันธ์ความพร้อมของไทยในการเปิดรับนักท่องเที่ยวด้วย
ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าว่า นายกรัฐมนตรีเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มจะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นโดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้ถอดประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศกลุ่มสีแดง ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. ทำให้คนที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามที่สหราชอาณาจักรรับรองไม่จำเป็นต้องตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางหรือกักตัวหลังเดินทางถึงสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนทำให้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ได้ผลดีขึ้นเป็นลำดับ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศได้
ธนกร ระบุว่า นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 เรื่องการออกมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยไม่มีการกักตัว เฉพาะที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศ ซึ่งจะเริ่มมาตรการนี้ ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป และจะเพิ่มจำนวนประเทศในระยะต่อไป โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศที่อนุญาตให้ประชาชนของเขาเดินทางได้ โดยไม่มีเงื่อนไขมากนัก และสนับสนุนการประกอบอาชีพของประชาชนไทยในภาคการท่องเที่ยว การเดินทาง และภาคธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจและบันเทิง รวมถึงภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2564 จะมีการพิจารณาอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในโอกาสที่กำลังเข้าสู่เทศกาลปีใหม่
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญ ติดตามการแพร่ระบาด โดยสั่งการให้มีการพิจารณาจัดตั้ง ศบค. ส่วนหน้า ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้มีการบริหารจัดการในภาพรวม รวมทั้งให้มีการตรวจด้วยชุดตรวจเร็ว ATK และให้มีการจัดสรรเวชภัณท์ และยา โรงพยาบาลสนาม และระบบ HI ให้พร้อมและเหมาะสม ขณะเดียวกันทุกหน่วยต้องช่วยกันสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ปรับพฤติกรรม ยึดหลักการดูแลตนเองด้วยรูปแบบใหม่ และ DMHTT
สั่งหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่หลังเปิดประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีมาตรการที่เหมาะสม ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เตรียมพร้อมรับมือกับเชื้อโควิด - 19 สายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ให้กระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นระบบ
สำหรับการกำหนดประเทศในการเข้าราชอาณาจักร แบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ จะใช้เกณฑ์ด้าน สาธารณสุข เกณฑ์ด้านเศรษฐกิจและสังคม ในการคัดเลือกประเทศ โดยจะมีการกำหนดระยะเวลา และประเทศเพื่อให้เกิดความปลอดภัย พิจารณาอย่างน้อย 20 อันดับแรกที่มีผลต่อเศรษฐกิจสูง และมีเงื่อนไขที่สามารถเดินทางได้ โดยจะใช้เกณฑ์ด้านสาธารณสุขเข้ามาพิจารณาร่วม
ปรับเหลือ 23 จังหวัดแดงเข้ม ปรับเปิดกิจกรรมถึง 4 ทุ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติที่สำคัญของที่ประชุม ศบค. โดยจะเริ่มมีผลในวันที่ 16 ต.ค.นี้ มีดังนี้
1. เห็นชอบปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้
- พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 23 จังหวัด ขณะจังหวัดที่ไม่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มแล้ว ได้แก่ สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี อ่างทอง และลพบุรี นครราชสีมา แต่จังหวัดที่เพิ่มมาใหม่ ได้แก่ จันทบุรี นครศรีธรรมราช
- พื้นที่ควบคุมสูงสุด 30 จังหวัด
- พื้นที่ควบคุม 24 จังหวัด
2. ปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่
สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
- ปรับเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน เป็น 23.00 น. - 03.00 น. อย่างน้อย 15 วัน
- ปรับเวลาเปิดกิจการ/กิจกรรมต่าง ๆ ตามกำหนด จาก 21.00 น. เป็น 22.00 น.
- จัดการประชุม และจัดงานตามประเพณีนิยมได้ ในศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือ สถานที่จัด นิทรรศการ รวมถึงสถานที่ลักษณะเดียวกันในห้างสรรพสินค้า และโรงแรมได้
- สถานดูแลผู้สูงอายุให้เปิดดำเนินการแบบรับไป - กลับ ได้
สำหรับทุกพื้นที่นั้น ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ให้เปิด ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม ที่เล่นรายบุคคล หรือแข่งเป็นคู่ได้ (ยกเว้นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังไม่เปิดบริการ)
- การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ปรับเป็น 50, 100, 200, 300, 500 คน
ในส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ นั้น ที่ประชุม ศบค. ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กทม. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เร่งกำหนดมาตรการสำหรับเตรียมการให้แล้วเสร็จภายใน 31 ต.ค. นี้
3. เห็นชอบให้จัดหายา Molnupiravir จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา โดยมอบหมายให้กรมการแพทย์ นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินสำหรับการจัดซื้อยา ต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค. เพิ่มจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยว ระยะที่ 1 (1-30 พ.ย. 64 ) จาก 10 จังหวัดเป็น 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ (สนามบินสุวรรณภูมิ) กระบี่ (ทั้งจังหวัด) พังงา (ทั้งจังหวัด) ประจวบคีรีขันธ์ (ตำบลหัวหิน หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อำเภอบางละมุง ตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่ เกาะสีชัง อำเภอศรีราชา) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) บุรีรัมย์ (เมือง) หนองคาย (เมือง ศรีเชียงใหม่ ท่าบอ สังคม) อุดรธานี (เมือง นายูง หนองหาน ประจักษ์ศิลปาคม กุมภวาปี บ้านดุง) ระยอง (เกาะเสม็ด) และ ตราด (เกาะช้าง)
ในช่วงท้ายก่อนเสร็จสิ้นการประชุม ศบค. นายกรัฐมนตรียังขอบคุณและชื่นชมในความสำเร็จของเจ้าหน้าที่ และบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ปฏิบัติงานในส่วนงานอื่น ๆ ในการจัดหาและให้บริการฉีดวัคซีนได้เกินเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้เป็นอย่างมาก โดยสามารถฉีดวัคซีนได้เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจากเดือน พ.ค. จนประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในสิบประเทศ ที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในโลก
ขณะเดียวกัน ขอให้ทุกหน่วยงานสร้างการรับรู้ สื่อสารให้ชัดเจน สิ่งสำคัญขณะนี้ คือรัฐบาลต้องบริหารงานทั้งสองขา คือ ความปลอดภัยด้านสุขภาพ และการเดินหน้าเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่รัฐบาลก็ได้เตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งต้องขอบคุณภาคเอกชนและประชาชนที่ช่วยกัน ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและคนไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง