ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อเตรียมการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคฯ ว่า การประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่ในรอบ 3 ปี ที่มีการประชุมเต็มรูปแบบ ซึ่งมีผู้นำหลายภูมิภาคเข้าร่วมการประชุม ซึ่งจะเป็นการประชุมหารือ ถึงปัจจัยสำคัญต่างๆในการ ในการฟื้นฟูสถานการณ์ต่างๆของโลก
โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อย่างหนัก รวมไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้นำแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในประเทศไทย ได้เกิดประโยชน์สูงสุด และประสบความสำเร็จ ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบในฐานะเจ้าภาพที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น
ดอน ระบุอีกว่า ผู้นำที่จะเข้าร่วมการประชุม APEC ในครั้งนี้ เป็นผู้นำระดับสูงสุดของแต่ละประเทศ ยืนยันทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจจะเข้าร่วมการประชุม ส่วนจะเป็นระดับใดนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายในของแต่ละประเทศ ขณะที่ประเทศที่จะส่งผู้แทนมาร่วมประชุม ประกอบด้วย มาเลเซีย เพราะจะมีการเลือกตั้ง รวมไปถึงเม็กซิโก เนื่องจากเหตุผลภายในประเทศ ที่สามารถเปิดเผยได้เพียงเท่านี้
ขณะที่แขกพิเศษ 3 ประเทศ ที่จะเข้าร่วมการประชุมเอเปคในครั้งนี้ ที่สามารถ เปิดเผยได้หนึ่งในนั้นมีประธานาธิบดีประเทศฝรั่งเศส มกุฎราชกุมารซาอุฯ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศซาอุดิอาระเบีย ส่วนการเยือนอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล เบื้องต้นขณะนี้มี 6 ประเทศ หนึ่งในนั้นมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน
ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดที่ไทยในฐานะเจ้าภาพจะต้องดูแล คือความปลอดภัยระดับสูงสุดของผู้นำแต่ละประเทศ และเหตุผลที่ไม่สามารถตอบได้ว่าผู้นำ แต่ละประเทศมีใครเดินทางมาร่วมประชุมบ้างนั้นเป็นเรื่องของความปลอดภัย โดยขอให้อดใจรอ ไทยพยายามทำให้เกิดความชัดเจน และเตรียมการต้อนรับรวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตามมาตรการ ที่ไทยจะต้องเตรียมการรับมือ ในช่วงของการประชุม มีทั้งมาตรการดูแลด้านความปลอดภัยการแพร่ระบาดโควิด 19 การจราจร ที่ต้องไม่กระทบ กับสภาพปกติของบ้านเมือง และขณะนี้ มีประเทศที่จะขอหารือทวิภาคีร่วมกับไทยจำนวนมากจนยังไม่สามารถจัดลำดับได้
ทั้งนี้ ดอน ยืนยันว่า การที่รัฐบาลจะครบวาระจะไม่ส่งเป็นอุปสรรคในการหารือ จะเห็นได้จากมีผู้นำประเทศมาร่วมเป็นจำนวนมาก ด้วยความตั้งอกตั้งใจ บางประเทศขอเวลาการหารือเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีหน้าที่จัดสรรเวลาให้ลงตัว