สถาบันฟื้นฟูจากภัยพิบัตินานาชาติหรือ DRI ระบุว่า การเริ่มต้นธุรกิจขึ้นมาใหม่อีกครั้งเป็นเรื่องยากกว่าการปิดกิจการมาก เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก (small business) มีความเสี่ยงมากกว่า และอาจทำให้พวกเขาต้องกลับไปเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneuer) ใหม่อีกครั้งจึงจะอยู่รอด ในช่วงหลังวิกฤตระดับโลกอย่างโควิด-19
โคลเอ เดมรอฟสกี ประธาน DRI กล่าวว่า เมื่อเริ่มเปิดเมือง เศรษฐกิจจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมในทันที พฤติกรรมของเราเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับเงินในกระเป๋าด้วย ช่วงปิดเมือง กิจกรรมอย่างการชอปอาหาร ดูภาพยนตร์ ประชุมงาน และการเรียนการสอนเปลี่ยนไปอยู่บนออนไลน์แทน ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเทรนด์ระยะสั้นแล้ว ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ธุรกิจที่ไม่มีความสร้างสรรค์หรือบอกได้ว่าพวกเขาจะมีประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างไรในเศรษฐกิจยุคหลังโควิดก็จะลำบาก
เดมรอฟสกียังระบุว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มั่นคงมักมีแผนทุนสำรองฉุกเฉินและการจัดการความเสี่ยงที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่ธุรกิจขนาดเล็กมักไม่มีแผนเหล่านี้ และธุรกิจขนาดเล็กจะต้องลำบากต่อไป หลายธุรกิจอาจไม่มีวันได้กลับมาอีกครั้ง
DRI แนะนำว่า บริษัทควรต้องวางแผนมาตรการต่างๆ เช่น ลดชั่วโมงเปิดทำการ ระบบเหลื่อมเวลาการทำงาน และเปลี่ยนกะบ่อยๆ ส่วนธุรกิจค้าปลีกก็จะต้องเตรียมเว้นระยะระหว่างลูกค้า และแพ็กอาหารสำหรับแต่ละคน ยกเลิกการแจกตัวอย่างสินค้า อีกทั้งยังต้องมีนโยบายที่ทำให้ลูกค้าและพนักงานมั่นใจ เช่นการทำความสะอาดที่บ่อยขึ้น ให้พนักงานมีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก ถุงมือ และการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย
บางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล การประชุมและอีเวนต์ใหญ่ๆ อาจถูกยกเลิกหรือมีคนเข้าร่วมน้อยไปอีกนาน และอาจเป็นการ “ตอกฝาโลงธุรกิจพื้นที่ทำงานร่วมกันและแปลนออฟฟิศแบบเปิด” เพราะเราไปเรียนรู้ถึงความสำคัญของกำแพงแล้ว และหากโรงเรียนยังปิดอยู่ หรือเปลี่ยนไปเป็นการเรียนที่บ้านบ่อยขึ้น ผู้จ้างงานอาจต้องทำความเข้าใจ และยืดหยุ่นให้กับลูกจ้างที่เป็นพ่อแม่มากขึ้น
ด้านอาร์เนาด์ เดอ เมเยอร์ นักวิชาการชาวเบลเยียมผู้ดำรงตำแหน่งอธิบการบดีมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์เขียนบทความลงในสำนักข่าวเดอะสเตรทไทม์สว่า โควิด-19 ทำให้เรารับรู้แล้วว่า ห่วงโซ่อุปทานของโลกเปราะบางและเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขนาดไหน แม้การค้าระหว่างประเทศจะไม่หายไป คนยังเดินทางไปทำงานหรือพักผ่อนหย่อนใจ แต่บริษัทต่างๆ ก็จะมองวิธีจัดการซัพพลายเชนและกิจกรรมระหว่างประเทศเปลี่ยนไปจากเดิม บริษัทอาจย้ายการผลิตจากประเทศค่าแรงต่ำอย่างจีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กลับไปยังประเทศอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น การเข้มงวดเรื่องซัพพลายเชนจะทำให้บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายมากขึ้น หรือรัฐบาลอาจเข้ามาควบคุมเรื่องนี้
ความร่วมมือระหว่างประเทศจะถูกจัดสรรใหม่ ซึ่งจะกระทบกับประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของการค้าโลก เช่น สิงคโปร์ที่เติบโตขึ้นมาอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเป็นเมืองท่าเรือ ท่าอากาศยาน และบริการทางการเงินและวิชาชีพที่สำคัญสำหรับโลกาภิวัฒน์
ปัจจุบัน เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจ จะไม่ได้จำกัดแต่การวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การทำงานจากบ้าน แต่คนได้เปลี่ยนไปซื้อของออนไลน์ ใช้บริการส่งสินค้าถึงบ้าน เรียนออนไลน์ ประชุมออนไลน์ สังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เยี่ยมชมพิพิธภัณธ์บนโลกดิจิทัล ดูภาพยนตร์ออนไลน์ แม้คนจะยังต้องการกิจกรรมที่พบปะผู้คนกันต่อหน้า แต่โมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่สะดวกก็จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ความยั่งยืนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่คนคำนึงถึงมากขึ้นด้วย
เดอ เมเยอร์มองว่า ภูมิทัศน์อุตสาหกรรมอาจเปลี่ยนไปอย่างมาก ภาคเทคโนโลยีตั้งแต่ ฟินเทค การจัดการด้านสุขภาพและยา อาจเป็นผู้ชนะในตลาด ส่วนภาคคมนาคม บริการโรงแรม ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์อาจฟื้นตัวยากกว่า และน้ำมันและก๊าซก็จะลำบากอีกหลายปี แต่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบก็จะมีผู้ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและสร้างโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมาได้เช่นกัน
เดอ เมเบอร์แนะนำว่า หากต้องการเป็นผู้ชนะในตลาด บริษัทจะต้องพร้อมฉวยโอกาสที่จะมาหลังโรคระบาดหายไป ควรมีทีมทำงานด้านฟื้นฟูธุรกิจแยกจากทีมรับมือวิกฤต เพื่อให้มองเป็นว่าอนาคตของอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไรต่อไป มีแผนระยะสั้น-กลาง-ยาวอย่างไร และลงมือเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ธุรกิจให้เร็ว รวมถึงประเมินความเปราะบางและปรับโครงสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทอื่นๆ และสาขาต่างๆ จากนั้นก็ต้องมีนวัตกรรมใหม่ให้กับสินค้า บริการและกระบวนการทำงาน
ที่มา : BBC, Straits Times