ไม่พบผลการค้นหา
'กมธ.ตำรวจ' เรียกหน่วยงานแจงกรณี 'ทักษิณ' ยังอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ จริงหรือไม่ 'วัชระ' ข้องใจป่วยกะทันหัน จี้ 'ชัยชนะ' ไปพิสูจน์ให้เห็นตัวเป็นๆ ในห้อง

วันที่ 14 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชัยชนะ เดชเดโช เป็นประธานกรรมาธิการฯ วาระพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาลและพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 

สืบเนื่องจาก วัชระ เพชรทอง อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีนักโทษชายรายหนึ่งชื่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชน และกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้เชิญผู้ชี้แจง อาทิ พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ (สบ.6) โรงพยาบาลตำรวจ, วรดา วสันต์นันทสิริ ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์, นัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, พิมพ์ญาณินท์ บุญรัศมี ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการที่ 2 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

โดย วัชระ เพชรทอง ตั้งคำถามว่า ทักษิณ พักรักษาตัวอยู่ใน รพ.ตำรวจ ตลอดเวลาหรือไม่ ซึ่งวันนี้ก็เป็นวันที่ 112 แล้ว หลังจากปรากฏข่าว ทักษิณ เข้าพักรักษาตัว และในวันที่ 20 ธ.ค. ก็จะครบ 120 วัน ซึ่งกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจต้องทำหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรม ซึ่งต้องชี้แจงว่าจะทำหนังสือก่อนหรือหลังอย่างไร

S__53542914_0.jpg

วัชระ ยังขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งรายชื่อผู้คุมที่รับตัว ทักษิณ พร้อมตั้งคำถามอีกว่า ก่อนหน้านี้ ทักษิณ สุขภาพแข็งแรงดี แต่เหตุใดเมื่อกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว จึงต้องเข้ารักษาตัวทันที พร้อมเห็นว่าคณะกรรมาธิการ ควรตั้งคณะอนุกรรมาธิการสืบหาข้อเท็จจริง และให้เดินทางไปที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 เพื่อพิสูจน์ทราบว่า ทักษิณ ยังมีตัวเป็นๆ อยู่ที่นั่นหรือไม่

วัชระ ยังเผยว่า ในสัปดาห์หน้า ตนเองพร้อมด้วย ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ จะไปยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา วินิจฉัยว่ากรมราชทัณฑ์ ออกระเบียบและช่วยเหลือให้นายทักษิณไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำหรือไม่


'ชัยชนะ' โวย 'กรมราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจ' แจงไม่ชัด

ชัยชนะ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการการตำรวจ ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ วัชระ เพชรทอง อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาล และพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้เชิญผู้ชี้แจง อาทิ พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ, วรดา วสันต์นันทสิริ ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์, นัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, พิมพ์ญาณินท์ บุญรัศมี ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการที่ 2 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

S__174055432_0.jpg

ชัยชนะ เผยว่า ผลการประชุมในวันนี้ วัชระ และ ณัฐพงษ์ สุมโมธรรม สส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามกับกรมราชทัณฑ์ ถึงขั้นตอนในการรับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ามีกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการวินิจฉัย ก่อนจะส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจอย่างไร มีโรงพยาบาลใดบ้างที่ทำ MOU ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ งบประมาณที่ใช้ในการรักษานักโทษ มีอะไรบ้าง ทำไมการเดินทางไปเรือนจำของ ทักษิณ จึงไม่ใช้รถของเรือนจำ แต่ก็เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะเราไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างจากกรมราชทัณฑ์

ทั้งนี้ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ เมื่อเข้าสู่เรือนจำในวันแรกนักโทษจะต้องมีการกักตัวก่อน จึงจะสามารถย้ายจากแดน 7 ไปรักษาตัวในแดน 2 แต่ ทักษิณ กลับถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจภายในคืนนั้น ซึ่งทางรักษาการผู้อำนวยการราชทัณฑ์ ได้ชี้แจงว่า แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยให้ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เป็นเพียงการปรึกษาหารือกันระหว่างแพทย์ในคืนนั้น ซึ่งแพทย์ได้บอกว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์น่าจะมีศักยภาพไม่เพียงพอ จึงหารือกันว่าควรจะส่งตัวไปโรงพยาบาลใด 

ทว่าโดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว กรมราชทัณฑ์จะต้องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลแม่ข่าย ที่สังกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากนักโทษทุกคนต้องใช้งบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งตนได้รับคำยืนยันจากแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่า ไม่ได้วินิจฉัยให้ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในคืนนั้น หรือคำถามที่ผู้บัญชาการเรือนจำ ชี้แจงว่า กรมราชทัณฑ์มี MOU กับโรงพยาบาลอยู่ แต่ฝ่ายวิชาการของกรมราชทัณฑ์ บอกว่า ไม่มีการทำ MOU กับโรงพยาบาลแม่ข่ายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ตรงกัน

อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ตอบไม่ได้ว่า ทำไมถึงไม่ต้องกักตัว ตัดผม ต้องอยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ดังนั้น กรรมาธิการการตำรวจ และผู้ร้องเห็นว่า ในเมื่อผู้ที่เข้ามาชี้แจงไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างกระจ่างชัดเจนต่อตัวผู้ร้อง และสังคมไทยได้ กรรมาธิการฯ จึงจะจัดทำหนังสือเชิญ และขอเอกสารจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก่อน แล้วจะเรียกเข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ อีกครั้ง แต่ยังไม่มีการกำหนดวัน 

โดยเมื่อได้รับคำชี้แจงเป็นที่ประจักษ์แล้ว ในช่วงหลังปีใหม่ก่อนวันเด็กแห่งชาติ เราจะเดินทางไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ทักษิณ ได้พักรักษาตัวอยู่จริงหรือไม่ ถือเป็นของขวัญวันเด็ก

เมื่อถามว่า หากมีการเชิญเข้าชี้แจงอีกครั้งแล้วยังไม่ได้ความชัดเจนอีก จะมีการดำเนินการอย่างไร ชัยชนะ กล่าวว่า ก็ถือว่ากรมราชทัณฑ์ตกเป็นจำเลยสังคม เนื่องจากตอบไม่ชัดเจน แล้วจะไปต่อได้อย่างไร มีนักโทษมีหลายคนที่ต้องออกมารักษาตัว และใช้งบของ สปสช. แต่ทำไม ทักษิณ จึงได้พักชั้น 14 เหนือกว่าคนอื่น ในเมื่อใช้งบ สปสช.เหมือนกัน

“สังคมไทยจะเดินหน้าไปได้ ต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำ ถ้ายังมีการสองมาตรฐานอยู่ สังคมจะยืนอยู่ได้อย่างไร” ชัยชนะ กล่าว

เมื่อถามว่า ในที่ประชุมได้มีการถามถึงระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากถูกเชื่อมโยงว่า อาจจะเอื้อประโยชน์ให้ ทักษิณ ไม่ต้องเข้าเรือนจำ หรือไม่ ชัยชนะ กล่าวว่า ยังไม่มีการชี้แจงเรื่องนี้ เพราะ คำถามที่เราถามว่า ทำไมจึงไม่ต้องกักตัว ทักษิณ ยังตอบไม่ชัด เมื่อตอบไม่ได้จึงยังไม่สามารถไปถึงระเบียบใหม่ของราชทัณฑ์ตรงนั้น

ชัยชนะ กล่าวต่อไปว่า แม้กฎกระทรวงออกมาตั้งแต่ปี 2563 และมีการแก้ระเบียบในปี 2564 ก็จริง ในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่อนุญาตให้ระเบียบดังกล่าวถูกประกาศใช้ แต่กลับถูกประกาศใช้ในยุคของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งการประกาศใช้ทันที 

“สังคมไทยคงทราบว่า ทำเพื่อใคร ซึ่งกรรมาธิการการตำรวจ จะต้องมีการตั้งคำถามในสภาฯ เริ่มจากตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรี ตามพรรคการเมืองที่ได้รับมอบหมายไปว่า มีความเร่งรีบอะไร ถึงต้องออกระเบียบดังกล่าว ออกมาเพื่อรองรับใครหรือไม่” ชัยชนะ กล่าว

ชัยชนะ กล่าวด้วยว่า มีเรื่องข้างต้นอยู่ในการประชุมวันนี้ แต่ผู้เข้าชี้แจงไม่สามารถตอบคำถามเรื่องการกักตัวของ ทักษิณ ได้ ตนจึงบอกว่า ในเมื่อตอบไม่ได้ ก็ยุติการประชุมดีกว่า เพราะตอบไม่ได้ซักคำถามนึง

ทั้งนี้ แพทย์ได้ชี้แจงด้วยว่า หลังจากที่รับตัวนายทักษิณมาแล้ว ทักษิณ มีโรคประจำตัว ได้แก่ 1.ความดันโลหิตสูง 2.เส้นเลือดตีบตัน 3.ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งถ้าดูภาพจากโซเชียลมีเดีย ตนคิดว่า ไม่น่าจะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี เพราะคนเป็นโรคนี้ไม่สามารถดื่มไวน์กับลูกได้ เพราะเคยปรากฏภาพว่า ทักษิณดื่มไวน์ และเต้นด้วย