ไม่พบผลการค้นหา
'ศิริกัญญา' อภิปราย 'กระทรวงพลังงาน' ให้ สนพ. จัดจ้างบุคลากร-ซื้อพลังงานทดแทน ทั้งที่ยังไม่มีแผนพลังงานชาติ ขณะ 'เบญจา' ซัด 'รัฐบาลเพื่อไทย' จะเช็กบิล 'ประยุทธ์' เมื่อไหร่ ขณะ 'เอกนัฏ' ลุกป้อง ยัน กมธ. ไร้อำนาจออกกฎ

วันที่ 21 มี.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 28 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2-3 ที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว มาตรา 18 กระทรวงพลังงาน 

โดย ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการผู้ขอสงวนความเห็น อภิปรายว่า โครงการจัดทำระบบติดตามและประเมินผลงานดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านพลังงาน ปี 2566-2580 (แผนพลังงานชาติ) จัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งเป็นการจ้างที่ปรึกษาจัดทำซอฟต์แวร์ Automated-MRV เพื่อประเมินและติดตามผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ (NEP) 

โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) เป็นแผนย่อยของแผนพลังงานชาติในปี 2565 เช่นกัน ปัญหาอยู่ที่แผนพลังงานชาติที่ควรจะออกมาตั้งแต่ปี 2565 เป็นเวลา 2 ปีที่เราอยู่กันโดยไม่มีแผนพลังงานชาติ กลายเป็นว่าโครงการนี้กำลังจะจัดจ้างที่ปรึกษา แต่วันนี้ยังไม่มีการจัดเปิดรับฟังความคิดเห็นแผนพลังงานชาติของปี 2565 เลย หลังมีกำหนดการฟังตั้งแต่เดือน ม.ค. และถูกเลื่อนมาให้จัดในช่วงเดือน เม.ย. หากรับฟังเสร็จในเดือนเม.ย. จะสามารถประกาศใช้อีกทีเดือน ก.ย. เท่ากับสิ้นปีงบประมาณปี 2567 พอดี จึงไม่มีความสมเหตุสมผล ที่ทั้งแผนพลังงานชาติและการเปิดรับฟังความเห็นก็ยังไม่คืบหน้า 

“การรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว ว่าเป็นไปตามแผนพลังงานชาติหรือไม่ แม้ยังไม่มีแผนพลังงาน แต่กลับมีการอนุมัติทำสัมปทานซื้อพลังงานจากเขื่อนในลาวแล้วเรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีการรับซื้อพลังงานทดแทน 5 พันเมกกะวัตต์ และจ่ออนุมัติซื้อพลังงานทดแทนอีก 3,600 เมกกะวัตต์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่หรือไม่ ต้องสอบถามไปยัง กมธ.ว่ามีการพูดคุยเรื่องนี้กับ สนพ.อย่างไร ถ้าเราไม่จำเป็นต้องมี PDP เราก็อนุมัติซื้อไฟฟ้าได้ ไม่ต้องมีแผนพลังงานชาติ เราก็รับซื้อไฟฟ้าได้ งั้นก็ไม่ต้องมี ให้อำนาจอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานไปเลยไหมคะ” ศิริกัญญา กล่าว


'เบญจา' จี้ 'เพื่อไทย' เช็กบิล 'ประยุทธ์' 

ด้าน เบญจา แสงจันทร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอปรับลดงบประมาณกระทรวงพลังงาน 5% เนื่องจากอาจจะมีพลังงานซ่อนอยู่ เพราะกระทรวงพลังงานแม้จะเป็นกระทรวงที่งบประมาณน้อย แต่มีขุมทรัพย์มหาศาลซ่อนอยู่ เมื่อปี 2561 หลังจากที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้สิทธิ์ในการประมูลและสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แหล่งเอราวัณ และบงกชไปถือครอง ทำให้เชฟรอนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ที่เคยเป็นผู้ถือครองสัมปทานในแหล่งเอราวัณมาอย่างยาวนาน ได้พ่ายแพ้การประมูลและต้องทำแผนรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม และส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้กับรัฐ 

โดยปัญหาของข้อพิพาทที่ทำให้เชฟรอนได้ทำการยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการรัฐบาลไทย ในประเด็นที่เกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้ทางเชฟรอนเป็นผู้รับผิดชอบในการรื้อถอนและค่าใช้จ่ายเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลง ซึ่งเชฟรอนได้ส่งหนังสือยืนยันและพูดถึงการรื้อถอนแท่นที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมว่าตนเองมีหน้ารับผิดชอบการรื้อถอนแท่นแค่ 49 แท่น ที่ไม่ได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลตามสัญญาตามสัมปทานเพียงเท่านั้น 

เบญจา กล่าวต่อไปว่า ส่วน 142 แท่นที่ส่งมอบให้รัฐไปก็เป็นหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อเป็นไปตามสัญญาสัมปทานเดิมที่เคยทำกันไว้ตั้งแต่ปี 2515 แต่หลังรัฐประหารปี 2559 รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ไปแก้กฎกระทรวงย้อนหลัง ทำให้ผู้รับสัมปทานคือเชฟรอน ต้องไปชี้แจงว่าประเด็นนี้ไปสู้กันใน.อนุญาโตตุลาการประเด็นกฎหมายที่ออกมาใหม่ เป็นการออกมาภายหลังแล้วจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังกลับไปได้หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในวันนี้ และ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันนั้น ไม่ดำเนินการตามนโยบายพลังงาน และเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่ผิดพลาด บกพร่อง ปล่อยปละละเลย ไม่รอบคอบไม่รัดกุมเช่นนี้ จะเอาผิดอย่างไรกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ซึ่งตนได้อภิปรายงบส่วนนี้มาปีที่ 4 แล้ว แต่วันนี้เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว 

“ดิฉันต้องตั้งคำถามไปยังรัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย ที่สู้รบกับรัฐบาลของคุณประยุทธ์มา 10 ปี ในวันที่ท่านเคยลั่นวาจาเอาไว้ว่าวันใดที่คุณประยุทธ์หมดอำนาจ พรรคเพื่อไทยนี่แหละ จะเล่นงานคุณประยุทธ์ ไม่ใช่แค่เอาผิดต่อความเสียหายที่คุณประยุทธ์ ก่อไว้กับประเทศชาตินี้ แต่ต้องทำให้คุณประยุทธ์ในวันที่ลงจากอำนาจต้องย้ายไปอยู่บ้านหลวงหลังใหม่ที่เรียกว่าเรือนจำ แต่วันนี้นอกจากรัฐบาลจะไม่เอาผิดอะไรคุณประยุทธ์ ยังอยู่สบายแถมรัฐบาลเพื่อไทยต้องมาตามชดใช้ความเสียหายให้กับรัฐบาลคุณประยุทธ์อีกด้วย” เบญจา กล่าว


'เอกนัฏ' ป้อง 'พีระพันธุ์' ชี้ทำพลังงานสะอาด ใหประชาชนเข้าถึงได้ฟรี

จากนั้น เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะคณะกรรมาธิการ ชี้แจงยืนยันว่า กรรมาธิการเราไม่ได้มีอำนาจไปออกกฎเกณฑ์เรื่องการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็ก แต่ทั้งหมดมีข้อซักถาม เราก็ตั้งข้อสังเกตไปที่หน่วยงานเช่นเดียวกัน และทราบดีว่า พีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตระหนักดีถึงการทำงานในกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ยึดติดว่ากระทรวงฯ นี้เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด แต่เนื่องจากเป็นภารกิจในการกำกับดูแล หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องมีการรื้อกฎเกณฑ์กติกา รื้อระบบ และรัฐมนตรีก็ทำตลอด ตรงกับที่มีการนำเสนอว่ามีหลายเรื่องที่ไม่ต้องใช้เงินแก้ปัญหา แต่สามารถใช้แนวทางอื่น อย่างการแก้ระเบียบกติกาให้เหมาะสมในการแก้ปัญหาได้

เอกนัฏ ชี้ว่า การผลิตพลังงานสะอาดหมุนเวียนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคือการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเป็นการหาพลังงานราคาถูก เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตของประชาชนที่มีฐานะไม่ดี ไม่ได้มองว่าเป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน หลายโครงการมีวัตถุประสงค์ที่ดี ซึ่งเราได้เรียกหน่วยงานมาทบทวนหลายโครงการ หากดำเนินการภายในปีนี้ไม่ได้ หรือไม่มีความจำเป็น เราก็ขอปรับลดงบประมาณ