ไม่พบผลการค้นหา
เพื่อไทย ค้านการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนักท่องเที่ยวต่างชาติ ติงข้อสงสัย 3 ประการ มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวของรัฐ แนะจัดทำประกันเพื่อสร้างทางเลือก ลดความไม่สบายใจของผู้ท่องเที่ยว

วันที่ 6 ก.ย. 2565 ในการแถลงข่าวคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะรองเลขาธิการและคณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย แถลงว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอยู่นั้น กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

โดยคาดว่าการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนกันยายน จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาวิจารณ์ คาดว่าจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมได้ราวต้นปี 2566 และเข้าใจว่าค่าเหยียบแผ่นดินอาจจะมีการคิดหลายอัตราอีกด้วย หากเป็นเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลคงเอาจริงกับการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของรัฐบาลนั้นได้นำมาสู่ข้อสงสัยทั้ง 3 ประการ ดังนี้ 

ข้อสงสัยที่ 1 ทำงานของรัฐบาลไร้ซึ่งความพร้อม รัฐบาลมีการประกาศการเงินค่าเหยียบแผ่นดินตั้งแต่ต้นปี แต่ก็เลื่อนมาตลอด ส่วนนึงอาจจะมาจากการขับเคลื่อนด้วยการด่าจากประชาชน แต่อีกส่วนนึงมาจากการทำงานที่ไร้ความพร้อมของรัฐบาล เพราะในความเป็นจริงรัฐบาลควรมีการศึกษา วิจัย สอบถามความเห็นของประชาชนก่อน 

หลังจากนั้นก็ทำประชาวิจารณ์ และดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ทั้งนี้หากเจาะเข้าไปในใส้ในพบว่า การศึกษาเรื่องนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาทางอากาศเพิ่งเสร็จลง ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาทางบกอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนกันยายน นั่นหมายความว่าการดำเนินการมาตรการของรัฐไร้ซึ่งข้อมูลที่แท้จริง

ข้อสงสัยที่ 2 นโยบายของรัฐบาลจะสร้างต้นทุนในการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทุกวันนี้วิกฤติเงินเฟ้อยังไม่เบาบางลง วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังระอุ และยังมีวิกฤติพลังงานที่เข้ามาอีก ทั้งนี้จะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ผู้บริโภคก็จะต้องใช้จ่ายมากขึ้นแม้จะซื้อสินค้าเท่าเดิม และหากมีมาตรการนี้อีกก็จะเพิ่มต้นทุนในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมากขึ้น เท่ากับว่ารัฐบาลไล่นักท่องเที่ยวทางอ้อมหรือไม่

ข้อสงสัยที่ 3 มาตรการดังกล่าวจะเป็นการสร้างผลกระทบทางผลลบต่อจิตใจนักท่องเที่ยวหรือไม่ ทางกระทรวงอาจมองว่าค่าใช้จ่ายในการเยียวยาหรือดูแลของนักท่องเที่ยวด้านสาธารณสุขเป็นภาระให้กับทางงบประมาณ แต่ นักท่องเที่ยว คือ ผู้สร้างรายได้ให้กับประเทศ การที่รัฐบาลมีมาตรการบังคับเก็บเงินแบบนี้จะสร้างความบั่นทอนจิตใจของนักท่องเที่ยวหรือไม่ 

พรรคเพื่อไทยขอเสนอทางแก้ไขเบื้องต้นคือ การทำทางเลือกประกันภัย ประกันชีวิต หรือประกันแบบอื่นๆ ให้กับนักท่องเที่ยว แล้วทำการตลาดให้นักท่องเที่ยวซื้อประกันตามความเหมาะสมดีกว่า เพราะเราจะโน้มน้าวนักท่องเที่ยว แทนที่จะไปบังคับเก็บเงิน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้นักท่องเที่ยวไม่หนักใจ ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ มีตัวเลือกประกันมากมาย และสร้างความสบายใจให้แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจะรู้สึกปลอดภัย ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในบริการ ประเทศมีรายได้เพิ่ม แรงงานมีตลาดรองรับ มาตรการทั้งหมดนี้ควรที่จะดำเนินการมากกว่าไปบังคับเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ 

“ทั้งหมดนี้กล่าวมานี้ คือ พฤติกรรมที่เรียกว่า รัฐบาลมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ที่แท้จริง รัฐบาลควรมองถึงความสามารถในการบริหารประเทศของตัวเองและฟังเสียงของประชาชนมากกว่า แทนที่จะคิดไปเองและตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน" จักรพล กล่าว 

จักรพล เสริมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยนำประชาชนเข้ามาในสมการเพื่อออกนโยบายและแก้ไขปัญหาเลย คิดแทนประชาชนไปซะทุกเรื่อง ทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองไร้ความสามารถในการบริหารแต่ยังไม่คิดที่จะให้ใครมาช่วยหรือฟังเสียงคนรอบข้างให้มากขึ้น นอกจากนี้จะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลยังสร้างบาดแผลและกดหัวประชาชนอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่วายคิดจะอยู่ต่อ ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศแล้วยังไม่มีจิตสำนึกต่อประชาชนด้วย 

"ในนามของพรรคเพื่อไทยขอคัดค้านการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินและคัดค้านการอยู่ต่อของรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้พบกับสิ่งที่ดีกว่า" จักรพล กล่าว 


'กฤษฎา' หวั่นกระทบการค้าชายแดน ชี้ทำ SME ได้รับผลกระทบอ่วม 

วันที่ 6 ก.ย. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย ในการแถลงข่าวคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า การที่รัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาว่าจะเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับคนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยทางบกหรือไม่นั้น จะส่งผลเสียกับการค้าชายแดนและกำลังซื้อที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยตามชายแดนไทย 

17687.jpg

กฤษฎา กล่าวว่า น่าจะมีผลกระทบไม่มากก็น้อย และก็มีความเป็นไปได้ว่าสุดท้าย ประเทศเพื่อนบ้านก็อาจจะมีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับเราเหมือนกัน ดีไม่ดีอาจจะมากกว่าที่เราเก็บเขาก็ได้ และหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็มีโอกาสที่เราจะเสียมากกว่าได้ ถ้าเทียบเชิงจำนวนประชากร และการเดินทางเข้าออก ซึ่งก็จะเป็นอีกนโยบายที่รัฐบาลกำลังจะตัดสินใจผิดอีกครั้ง 

กฤษฎา กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.หนองคาย เรามีสะพานมิตรภาพแห่งแรกของประเทศที่เชื่อมกับเพื่อนบ้าน และเป็นจุดเดียวที่อยู่ตรงข้ามกับเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน ทุกๆ วัน โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีนักท่องเที่ยว พ่อค้า แม่ค้า จากประเทศลาว เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในจ.หนองคายและจังหวัดใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ซึ่งรายได้ตรงนี้ เห็นได้ชัดเลยว่า ช่วงโควิด ทำให้หลายธุรกิจ โดยเฉพาะ SME นั้น ล้มหายตายจากไป และตอนนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟู กำลังจะกลับมาดี 

"รัฐบาลกลับจะทำให้เค้าไม่อยากมาเมืองไทย และอาจจะเป็นการจุดชนวนให้เขาเปลี่ยนไปใช้สินค้าจากจีน หรือเวียดนามได้ ซึ่งถ้าไม่ไตร่ตรองให้ดี รัฐกำลังจะทำให้ SME และร้านค้า ลำบากอีกครั้ง โดยไม่ต้องพึ่งภัยธรรมชาติ ก็เป็นได้" กฤษฎา กล่าว


'สรัสนันท์' จวกนโยบายการ ตปท.ด้อยพัฒนา

สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น กล่าวว่า ความไม่รับรู้ และไม่ขยับเพื่อรับมือต่อการแปลงเปลี่ยนของโจทย์โลกใหม่ๆ ที่ทั้งเปราะบางและซับซ้อน ไม่ว่าจะเรื่องความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือจีน-ไต้หวัน ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และกำลังตายอย่างรวดเร็ว อนาคตเศรษฐกิจไทยอาจจะหมดหนทางรอดแล้วก็เป็นได้ หากผู้นำยังคงนิ่ง และไม่รับรู้กลับหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามา

สรัสนันท์ 17704.jpg

สัญญาณแรก คือการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติต่างๆ ออกมาจากประเทศจีน และอาเซียนคือจุดมุ่งหมายใหม่แต่หากว่าประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายหลักที่หลายๆ บริษัทเลือกที่จะมาลงทุน โดยสาเหตุหลักมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาคอรัปชั่น สิทธิ์ทางภาษีที่ไทยมีน้อยกว่าเพื่อนบ้าน แต่ที่สำคัญที่สุดคือสภาวะขาดความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ และนักลงทุนที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำประเทศไทยมาถึงจุดนี้ 

สรัสนันท์ กล่าวต่อว่า ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกว่า 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ ประเทศไทยไม่ได้มีการลงนามตกลงทางการค้าใดๆ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นประเทศเวียดนาม มี FTA มากกว่าประเทศไทยหลายสิบฉบับ ทำให้การค้าการลงทุนไหลไปทางเวียดนามมากกว่า แม้แต่บริษัทไทยก็ออกไปลงทุนที่เวีนดนามกว่าสามแสนล้านบาท สิ่งที่ประเทศไทยพลาดไปหมายถึง เม็ดเงินการลงทุน การจ้างงาน เศรษฐกิจภายในประเทศที่จะฟูขึ้น

 "ด้วยความด้อยปัญญาการต่างประเทศ เราไม่เห็นการเจรจาเพื่อการค้าการลงทุน ไม่มี FTA ใดๆ ตลอดการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เราเห็นเพียงแต่นายกไทยไปยืนเป็นคนประกอบในเวทีโลก เห็นการตกลงซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพียงเพื่อเอาใจมหาอำนาจ" สรัสนันท์ กล่าว 

 สรัสนันท์ เสริมว่า อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่หายนะที่น่าเป็นกังวลคือ อุตสาหกรรมยานยนตร์ไทย ที่มุ่งสู่การบริโภครถยนตร์ไฟฟ้า และไทยไม่มีความสามารถในการผลิต ตลอด 8 ปีรัฐบาลภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยมีนโยบายเพื่อรับรองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เคยเตรียมพร้อมในด้านคน ด้านทรัพยากร ด้านกฎหมายบังคับใช้ต่างๆ ทำให้นักลงทุนไป จีน เวีนดนาม อินโด เรียบร้อยแล้ว การเพิ่งมาตื่นรู้ตัวตอนนี้ และทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท ตั้งเป้าสร้างไทยเป็นศูนย์การผลิตยานยนตร์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาค นั้นมองว่าเราช้าไป และไม่อาจตามประเทศอื่นได้ทัน 

"มองว่ารัฐบาลนี้วัวหายล้อมคอก และงบประมาณที่นำไปละลายแม่น้ำก็คงคาดผลลัพธ์ไม่ได้เช่นกัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับยายนตร์ไทยคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปกว่า 2,500 ราย จะทยอยปิดตัว แรงงานกว่า 500,000-600,000 ราย จะถูกลอยแพ" สรัสนันท์ กล่าว 

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว สรัสนันท์ ยังได้ให้ความเห็นในเรื่องปัญหาแรงงานไทยในต่างแดน ว่า การลักลอบเข้าประเทศต่างๆ แบบผิดกฎหมาย เช่นปัญหาผีน้อยในประเทศเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์หว่างประเทศ การท่องเที่ยว และการเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายทำให้แรงงานไทยไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ

เช่น ประกันสังคม ถูกโกงค่าแรง หรือถูกกดขี่ต่างๆ ทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานไทยในต่างแดนไม่ได้รับการดูแล และรัฐบาลไม่เคยสนใจที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลควรเดินหน้าเจรจากับหลายๆ ประเทศเพื่อเปิดช่องทางอย่างถูกกฎหมายให้แรงงานไทยได้ไปทำงานอย่างมีศักดิศรี และได้รับการดูแลตามสิทธิมนุษยชน

"ทางคณะทำงานด้านการต่างประเทศของพรรคเพื่อไทยมองว่ารัฐบาลควรทำหน้าที่ปกป้องและอำนวยความสะดวกแรงงานชาวไทยให้สามารถไปทำงานในต่างประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย คนไทยหลายแสนชีวิตอยู่ต่างประเทศถูกมองข้ามอย่างสิ้นเชิง" สรัสนันท์ กล่าว