เนื่องจากเป็นย่านการค้าที่มีความคึกคักมายาวนาน 'เยาวราช' จึงถูกหยิบมาใช้เป็นเกณฑ์วัดศักยภาพเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้งทั้งในช่วงตรุษจีนและเทศกาลกินเจ
ประเทศไทยในปี 2562 เผชิญภาวะเศรษฐกิจมากมาย ส่งผลให้เก้าอี้ของนายกรัฐมนตรีไล่ไปถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหลายร้อนจนนั่งไม่ติด พาเหรดกันออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ปลุกท่องเที่ยว ด้วยความหวังอุดช่องโหว่ความซบเซาของการส่งออกและท่องเที่ยวที่เคยเป็นพระเอกและแหล่งสร้างรายได้ของประเทศ และในเวลานี้คงไม่มีมาตรการไหนดังไปกว่า 'ชิมช้อปใช้' อีกแล้ว
ในเวลาไล่เลี่ยกัน โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากสถานีหัวลำโพง -สถานีบางแค ก็เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปีนี้
ส่งผลให้ 'เยาวราช' ที่แต่เดิมเป็นดัชนีชี้วัดกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน กินเจอยู่แล้ว ตอนนี้จึงเป็นตัวชี้วัดโครงการ 'ชิมช้อปใช้' รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้าในเมืองไปในตัว
"ได้ก็มี ไม่ได้ก็เยอะ"
สำหรับมุมมองของพ่อค้าแม่ค้าในเยาวราช สำหรับเศรษฐกิจตอนนี้มีความหลากหลายอย่างชัดเจน 'มนัสนันท์ คงเจริญวัฒนกุล' เจ้าของร้านบะหมี่บอกชัดเจนว่าการมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่ผ่านเยาวราชในสถานีวัดมังกร ช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาสะดวกขึ้น
เช่นเดียวกับ 'พร สิงห์ไฟราช' พนักงานร้านอาหารทะเล ที่เสริมว่า นักท่องเที่ยวในเยาวราชเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับร้านอาหาร
อย่างไรก็ตาม 'พร' บอกว่า ในประเด็นโครงการ 'ชิมช้อปใช้' ร้านของตนเข้าร่วมโครงการ แต่ไม่ได้เพิ่มยอดค้าขายมากขึ้น เพราะลูกค้าส่วนมากยังเป็นชาวต่างชาติ ขณะที่ 'มนัสนันท์' ชี้ว่า ร้านของเธอไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากไม่ได้ลงทะเบียน
อีกฝั่งหนึ่ง ในมุมของผู้ค้าของแห้ง 'จูรีลักษณ์ จีรวัฒนวาทย์' เจ้าของร้านของแห้งในซอยตรงข้ามรถไฟฟ้าสถานีวัดมังกร และ 'วัลลภา โรจนประเสริฐ' เจ้าของร้านหมูแดดเดียว กล่าวคล้ายคลึงกันว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การมาถึงหรือการเดินทางที่สะดวกขึ้น เพราะแม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางมายังเยาวราชมากขึ้น แต่กลุ่มคนเหล่านั้นไม่ได้ใช้จ่ายมากขึ้นแต่อย่างใด
'คนเดินเยอะแต่ไม่ซื้อ ซบเซา บอกว่าไม่มีตังค์กัน' จูรีลักษณ์ กล่าว
หากนำยอดขายไปเทียบกับยุคที่เศรษฐกิจค่อนข้างรุ่งเรือง 'จูรีลักษณ์' บอกว่า ยอดขายตกลงมาก ปัจจุบันนี้หากไม่ใช่วันหยุดสุดสัปดาห์ ในบางวันร้านของเธอขายได้ไม่ถึง 1,000 บาทด้วยซ้ำ เธอฉายภาพปัจจัยสร้างผลกระทบที่ชัดขึ้นว่า "เพราะรัฐบาลยุคปัจจุบันมีการจัดระเบียบแผงลอยบนฟุตบาทมากเกินไป จึงอยากจะให้ผ่อนปรนมากกว่านี้"
ส่วนในมุมของ 'ไพรัช สูดธี' อาชีพขับรถตุ๊กตุ๊ก ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่เงินในกระเป๋าของประชาชน หากรัฐบาลอยากจะออกมาตรการอะไรสักอย่าง ก็ให้เป็นมาตรการที่ช่วยให้คนทำงานมีรายได้มากขึ้น เพราะเมื่อคนมีรายได้มากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ
ถ้าจะถามว่า 'เยาวราช' ในการสำรวจครั้งนี้ สะท้อนอะไรออกมาบ้าง ก็คงต้องยอมรับความจริงว่ากำลังซื้อภายในประเทศของคนไทยลดลงอย่างชัดเจน หากดูจากการสำรวจครั้งนี้ ร้านอาหารที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างประเทศหรือนักท่องเที่ยวยังคงอยู่ได้ดี แต่ร้านค้าที่พึ่งกำลังซื้อจากคนไทยเองอย่างร้านของแห้งกลับซบเซาอย่างหนักแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
การไปถึงของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้ประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำ ส่วนการออกโครงการชิมช้อปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นสิ่งที่ผิด แต่มาตรการแจกเงินดังกล่าวสามารถกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนได้ครบทุกกลุ่มจริงหรือไม่ และจะช่วยประชาชนได้อย่างยั่งยืนจริงหรือเปล่า อาจเป็นคำถามที่รัฐบาลต้องกลับไปคิดดูอีกสักรอบ เพราะผลสำรวจที่สะท้อนออกมาจากผู้ค้าที่พึ่งกำลังซื้อภายในประเทศเป็นหลักดูไม่สอดคล้องกับทิศทางที่ภาครัฐตั้งไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :