ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศไทยประสบความสำเร็จการติดปลอกคอช้างป่าเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนและช้างป่าในพื้นที่เขตป่าตะวันออกของประเทศ

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วย นางสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลสำนักงานประเทศไทย (WWF) ทำการติดปลอกคอช้างป่าเพื่อติดตามพฤติกรรมและการเดินทางของฝูงช้างในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา จนประสบความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกคนและสัตว์ป่าในพื้นความขัดแย้ง

ขณะที่สัตว์ป่าถูกรุกพื้นที่นำไปใช้ในการเกษตรและเพาะปลูกด้านชุมชนได้รับผลกระทบจากความเสียหายของพืชผลที่ไม่สามารถนำไปจำหน่ายและเป็นการสูญเสียรายได้ซึ่งในบางครั้งเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ด้วย

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ได้นำร่องติดปลอกคอช้างป่าชุดแรก3เส้นโดยเส้นที่1ติดปลอกคอช้างป่าไปแล้วเมื่อ 22 ธ.ค. 2561 ส่วนที่เหลืออีก 2 เส้นจะเร่งติดภายในวันที่ 10 ม.ค. นี้ในพื้นที่ของกลุ่มป่าตะวันตกจากนั้นจะสังเกตพฤติกรรมและการเคลื่อนย้ายของช้างป่าถือเป็นการทดสอบระบบของปลอกคอช้างป่าที่ WWF ให้การสนับสนุนรวม 6 เส้น ราคาเส้นละ 160,000 บาท นำเข้าจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เป็นความร่วมมือขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลและเครือข่ายนักวิจัยในสถาบันวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์จากทั่วโลก เช่น พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากปัจจุบันนี้ความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนครอบคลุม 5 จังหวัดมากกว่า 1,000 กิโลเมตร จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมทั้งจัดทีมนักวิจัยและหน่วยลาดตระเวนลงพื้นที่ติดตามศึกษาพฤติกรรมช้างป่าและศึกษาเส้นทางการเดินของฝูงช้าง เพื่อวางแผนแก้ปัญหาช้างเข้าทำลายและกินผลไม้พืชสวนของเกษตรกร

การติดปลอกคอช้างเป็นวิธีที่หลายประเทศนำมาใช้และได้ผลดีโดยจะต้องมีการออกแบบแผนงานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และพฤติกรรมของช้างในแต่ละประเทศโดยข้อมูลที่ได้รับจะถูกนำมาใช้วางแผนร่วมกับกับชุมชนแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้าง

ด้านนายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ กล่าวว่า อุปกรณ์ที่ใช้ใช้ติดตามสัตว์นั้นจะมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ชุดปลอกคอสัญญาณวิทยุ” โดยได้นำชุดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมเข้ามาใช้เป็นครั้งแรกของไทยที่นำอุปกรณ์ทันสมัยที่สุดมาติดเข้ากับช้างป่าได้เป็นผลสำเร็จ

ชุดปลอกคอดาวเทียมส่วนใหญ่จะนำมาใช้กับสัตว์ที่เคลื่อนที่และหาตัวได้ยากโดยสัญญาณจะถูกส่งไปยังระบบดาวเทียมที่มีทั้งระบบจีเอสเอ็มและอิเรเดียมเข้ามารองรับที่สำคัญอุปกรณ์นี้ใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศเพราะมีความแม่นยำสูงทำงานด้วยการส่งสัญญาณมายังภาคพื้นและผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากการอ่านค่าตำแหน่งของปลอกคอช้างได้และรู้พิกัดของช้างที่ค่อนข้างแม่นยำ