นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการช็อปช่วยชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองที่มีรายได้ปานกลาง ครอบคลุมสินค้า 3 ประเภท คือยางรถยนต์ และจักรยาน ที่มีคูปองยืนยัน ว่าสินค้าที่ได้รับการรับรองจากการยางแห่งประเทศไทย หนังสือทั่วไป และ อีบุ๊ค นิยาย เรื่องสั้น แบบเรียน แต่ไม่รวม นิตยสาร และหนังสือพิมพ์, ส่วนสินค้าโอทอป ที่ต้องมีใบรับรองจากกรมพัฒนาชุมชนจะได้การลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาทเริ่ม 15 ธ.ค. 2561 - 16 มกราคม 2562 ซึ่งทุกรายการต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ยังปรับเพิ่มค่าตอบแทน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จากเดือนละ 600 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2561 ถึง 30 ก.ย. 2562 รวมระยะเวลา 10 เดือน มีผู้ได้รับสิทธิประโยชน์กว่า 1,050,000 คน
ขณะเดียวกัน ยังได้เห็นชอบให้แจกซิมโทรศัพท์มือถือให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี เพื่อส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งข้อมูล และข่าวสารที่จำเป็นต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต และช่วยให้หลุดพ้นความยากจน เช่น ติดตามแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร, ข้อมูลด้านการวางแผนเพาะปลูก และการขายสินค้าเกษตร หากคนที่มีซิมมือถือและอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว จะเพิ่มจำนวนอินเทอร์เน็ตฟรี เพียงพอต่อการใช้งาน ส่วนผู้ที่ยังไม่มีซิมมือถือจะแจกซิมมือถือพร้อมอินเตอร์เน็ต โดยต้องรอ กสทช. คำนวณ ค่าใช้จ่ายและจำนวนอินเตอร์เน็ตให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งาน
นอกจากนี้กระทรวงต่างๆก็จัดทำโครงการของขวัญปีใหม่ มอบให้ ประชาชน เช่น กระทรวงมหาดไทย จัดบริการรังวัดที่ดินตามความต้องการของประชาชน และแจกแบบบ้านสานฝันฟรี 4 แบบ, กระทรวงวิทยาศาตร์ ยกเว้นค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ดูดาวฟรี ที่หอดูดาว
ครม. เคาะแจกเงินชาวสวนยางไร่ละ 1,800 บาท ชาวสวนปาล์มไร่ละ 1,500 บาท
ครม. เห็นชอบ 3 โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินงบประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สำรองจ่าย ได้แก่ 1. โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2561 – 2562 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพของเกษตรกรชาวสวนยาง เป้าหมาย เกษตรกรชาวสวนยางที่มีสวนยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ที่เปิดกรีดแล้ว และขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนวันที่ 14 พ.ย. 2561 จำนวน 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย รวมเนื้อที่ 9,448,447 ไร่ โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามพื้นที่เปิดกรีดจริง ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ (กรณีมีคนกรีดยางแบ่งเป็นเจ้าของสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ และคนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่) วงเงิน 17,512,734,883 บาท (ซึ่งเป็นงบของ ธ.ก.ส. และ กยท.)
2. โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร โดยการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำน้ำยางพาราไปใช้สร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ
3.โครงการการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของสถาบันเกษตรกรโดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ไปจัดทำรายละเอียดโครงการ เสนอ ครม. อีกครั้ง
พร้อมกันนี้ยังมีมติเห็นชอบโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน โดยช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันที่มีปาล์มน้ำมันซึ่งให้ผลผลิตแล้ว และอายุมา่กกว่า 3 ปีขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 150,000 ราย พื้นที่ไม่เกิน 2,250,000 ไร่ โดยให้ความช่วยเหลือตามพื้นที่ปลูกจริงในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิด 15 ไร่ วงเงินรวมทั้งสิ้น 34 พันล้านบาท, มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ เร่งรัดดำเนินการซื้อน้ำมันปาล์มดิบมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าบางปะกงจำนวน 160,000 ตัน รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบในราคากิโลกรัมละ 18 บาท, มาตรการกำหนดมาตรฐานโรงงานกลัดน้ำมันปาล์ม, มาตรการการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10