ไม่พบผลการค้นหา
การชู 3 นิ้วแบบ The Hunger Games เป็นสัญลักษณ์การประท้วงในไทยหลังรัฐประหารปี 2557 ส่วนการชุมนุมของเยาวชนยุคใหม่ในปี 2563 มีเพลง 'แฮมทาโร่' ร่วมด้วย สะท้อนว่าการเคลื่อนไหวในยุคนี้ต่างจากเดิมไกลโข
ย้อนรอยสัญลักษณ์ III ชูสามนิ้ว

12 วันหลังการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของ 'คณะรักษาความสงบแห่งชาติ' (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ออกหน้า รวมตัวกันบริเวณแยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ

การชุมนุมครั้งนั้นถูกรายงานผ่านสื่อต่างประเทศหลายสำนักว่าเป็นการ 'ชู 3 นิ้ว' ตามอย่างตัวละคร 'แคตนิส เอเวอร์ดีน' จากหนังสือ The Hunger Games ผลงานของนักเขียนชาวอเมริกัน 'ซูซาน คอลลินส์' ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกหลายภาค

ทั้งนี้ สำนักข่าว AP/ The Guardians รายงานว่าผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารชู 3 นิ้ว โดยเป็นการหยิบยืมสัญลักษณ์มาจากภาพยนตร์เรื่องดัง เพื่อแสดงพลังแห่งการต่อต้าน และไม่ยินยอมต่ออำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ

ขณะที่ Reuters รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'พ.อ.วินธัย สุวารี' รองโฆษกของ คสช.ขณะนั้น โดยระบุว่า คสช.จะมอนิเตอร์ผู้ที่ชู 3 นิ้ว แต่ไม่ได้ห้ามการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว ส่วนผู้ถูกจับกุมขณะชู 3 นิ้ว "เป็นเพราะฝ่าฝืนคำสั่ง 'ห้ามชุมนุม' เกิน 5 คน ตามประกาศของ คสช."

AFP-ประท้วงชูสามนิ้ว ฮังเกอร์เกมส์ Hunger Games นัชชชา กองอุดม
  • นัชชชา กองอุดม ชู 3 นิ้วประท้วงเดี่ยวหน้าโรงภาพยนตร์

อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 พ.ย.2557 เกือบ 6 เดือนหลังรัฐประหาร โรงภาพยนตร์ลิโดและสกาล่า ก็ประกาศถอดภาพยนตร์ The Hunger Games ตอน Mocking Jay: Part 1 ออกจากตารางการฉายหนัง และเว็บไซต์ The Atlantic รายงานว่า มีผู้ประท้วงชู 3 นิ้วถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 5 รายในประเทศไทย 

การรายงานของสื่อต่างประเทศช่วงนั้น ย้อนแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของทีมโฆษก คสช. เพราะแม้ผู้ชู 3 นิ้วจะไม่ได้รวมตัวเกิน 5 คน ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวอยู่ดี ซึ่งกรณีนี้ ทีมโฆษก คสช.บอกว่า 'ไม่ใช่การจับกุม' แต่เป็นเพียงการ 'เชิญตัวไปพูดคุย' 


The Atlantic ระบุว่า บางครั้งศิลปะในโลกเสมือนก็สะท้อนเหตุการณ์ในโลกจริงได้


AFP-ประท้วงชูสามนิ้ว ฮังเกอร์เกมส์ Hunger Games เลบานอน
  • ผู้ชุมนุมที่เลบานอนก็ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ The Hunger Games

ด้วยเหตุนี้ การชู 3 นิ้วได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลหลังปี 2557 ใช้ในการชุมนุมเรื่อยมาจนถึงปี 2563 

ส่วนผู้ชุมนุมในประเทศอื่นๆ ที่ชู 3 นิ้วแบบหนังสือและภาพยนตร์ The Hunger Games เพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านอำนาจกดขี่เช่นเดียวกับไทยก็มีเหมือนกัน เช่น การประท้วงขับไล่รัฐบาลที่เลบานอนเมื่อปี 2562


ไม่ได้ถูกห้ามแค่ชู 3 นิ้ว 

การชู 3 นิ้วในหนังสือและภาพยนตร์ The Hunger Games ทุกภาค เป็นได้ทั้งคำขอบคุณและคำอำลาบุคคลที่รักหรือนับถือ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจของผู้ปกครอง 'พาเน็ม' อันเป็นดินแดนสมมติในเรื่อง

การชูสามนิ้วประท้วงปรากฏในฉากหนึ่งของหนัง และนำไปสู่การจลาจลในเขตปกครองที่ 12 ซึ่งในเรื่องเป็นดินแดนที่ถูกทิ้งขว้างและมีความเหลื่อมล้ำอย่างมากหากนำไปเทียบกับศูนย์กลางอำนาจซึ่งเป็นที่อยู่ของชนชั้นปกครอง

และในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา การชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คนในประเทศไทย มีการอนุญาตให้จัดแบบ 'ได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง' ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชุมนุมได้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ไว้ก่อนหรือไม่ หรือหากวัตถุประสงค์ของการชุมนุมเกิน 5 คนเป็นการสนับสนุนรัฐบาล คสช. ผู้ที่ชุมนุมก็จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าไปควบคุมหรือจับตามอง

ขณะที่การชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ของคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล - ผู้ชุมนุมมักจะถูก 'เชิญตัว' ไปพูดคุย ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามไปถึงที่พักอาศัยของผู้ชุมนุม และมีกรณีที่นักกิจกรรมหลายคนถูกทำร้ายร่างกาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้อย่างที่ควรจะเป็น

AFP-หนังสือ 1984-จอร์จ ออร์เวลล์-George Orwell-ชุมนุมต้านรัฐประหาร
  • แฟลชม็อบอ่านหนังสือ 1984 ประท้วงรัฐบาล คสช.

แม้แต่การชู 3 นิ้วเพื่อประท้วงรัฐบาล คสช. ก็ยังตามมาด้วยการถูกเพ่งเล็งหรือจับกุม ทำให้ผู้ชุมนุมปรับเปลี่ยนรูปแบบการรวมตัวเป็นแฟลชม็อบ นอกเหนือจากการปักหลักชุมนุมปราศรัยแบบเดิมๆ นำไปสู่กิจกรรมรวมตัวอ่านหนังสือ การยืนเฉยๆ กินแซนด์วิช รวมถึงวิ่งมาราธอน 'ไล่ลุง' แต่ผู้ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลหลายรายก็ยังถูกจับกุม - ดำเนินคดีด้วยข้อหาแตกต่างกันไป

เจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายหลากหลายในการสั่งห้ามหรือจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมารวมตัวเพื่อแสดงสัญลักษณ์เชิงคัดค้าน-ประณามรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การจราจร, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงการอ้าง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่แต่แรกเริ่มบอกว่าเป็นการใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 


"เยาวชนออกมาเคลื่อนไหว เพราะรู้สึกไม่มีอนาคต"

แม้จะมีการเลือกตั้งภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปฐมบทจากการลงประชามติซึ่งผู้คัดค้านร่าง รธน.ฉบับนี้ถูกจับกุมและดำเนินคดี ทั้งยังเปิดทางให้ คสช.แต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 คน โดยมีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แถมมีวาระยาวนานถึง 5 ปีในการดำรงตำแหน่ง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นธรรมและความไม่มีเสรีภาพของการเลือกตั้งจากหลายฝ่าย ทั้งในและนอกประเทศ

แฮมทาโร่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แฟลชม็อบ 91067628537517_1864964811939991987_n.jpg

การชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกฯ ด้วยเสียงครึ่งหนึ่งจาก 250 ส.ว. จึงเกิดขึ้นเป็นประจำช่วงหลายเดือนหลังการเลือกตั้ง เรื่อยมาถึงช่วงที่รัฐบาลทยอยยกเลิกมาตรการสั่งห้ามเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค.2563 เป็นต้นมา

การชุมนุมของกลุ่มผู้ไม่พอใจรัฐบาลกระจายไปหลายจังหวัด หลายพื้นที่ ทั้งยังไม่มีแกนนำที่ชัดเจน เพราะผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นเยาวชนชั้นมัธยมปลายกับมหาวิทยาลัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากที่มีการรวมตัวบริเวณสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสะท้อนความเห็นที่มีต่อรัฐบาล แม้บางสถาบันจะมีคำสั่งห้ามใช้พื้นที่จัดกิจกรรมอยู่บ้าง แต่ยังมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือน มิ.ย.- ก.ค.ที่ผ่านมา 

ชุมนุม-LGBT-สิทธิทางเพศ

กิจกรรมของผู้ชุมนุมมีทั้งการปราศรัยแบบเดียวกับการชุมนุมเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แต่ก็มีกิจกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการ 'เซิ้งหมู่' กลางลาน หรือการเต้นคัฟเวอร์เพลงของวงดนตรีดัง ตลอดจนแต่งคอสเพลย์แสดงละครที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ 'หอแต๋วแตก' เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชนกลุ่มหลากหลายทางเพศในการแก้ไข พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการสมรสเพศเดียวกัน

เว็บไซต์ CNN รายงานว่า รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแรงขับเคลื่อนหลักในการออกมาต่อต้านรัฐบาลของคนรุ่นใหม่ มีเหตุผลจากการที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า "ไม่มีอนาคต" (a lack of a future)

รศ.ดร.ฐิตินันท์ ระบุด้วยว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดการรัฐประหารขึ้นถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงชีวิตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลในปัจจุบัน และแม้จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำๆ แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้ก้าวไปไหนไกลนัก สิ่งที่คนรุ่นใหม่พูดถึงกันอย่างมาก แทบจะทุกครั้งที่ออกมาร่วมการชุมนุม นั่นก็คือการพูดถึง 'อนาคต' ของพวกเขาเอง

อย่างไรก็ตาม ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การชุมนุมของเยาวชน ผลักดันให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับสถาบันหลักๆ ของประเทศ ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ การแสดงออกจึงเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์ เช่น การชู 3 นิ้ว รวมถึงการชูป้ายต่างๆ

ขอเสียงหน่อย อนค ศก
  • กลุ่มนักศึกษาชูป้ายทวงถามความคืบหน้าของบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายรายต่างๆ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะกล่าวผ่านสื่อว่า "เป็นห่วงนักศึกษาที่ออกมาชุมนุม" ขณะเดียวกันก็เตือนผู้ชุมนุมด้วยว่า 'อย่าก้าวล่วง' ในประเด็นล่อแหลม เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

ซีเอ็นเอ็นระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ, ถูกทำร้ายร่างกาย และหลายรายถูกอุ้มหายก่อนจะถูกพบเป็นศพในภายหลัง และผู้วิจารณ์รัฐบาลทหารที่หายตัวไปรายล่าสุด คือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์


แฮมทาโร่ ชอบกินอะไร?

ล่าสุด วันที่ 26 ก.ค.2563 เยาวชนในชั้นมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย รวมถึงกลุ่มประชาชนวัยอื่นๆ รวมตัวกันอีกครั้งที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยผู้ร่วมกิจกรรมวิ่งวนกันเป็นวงกลม พร้อมกับร้องเพลงประกอบของ 'แฮมทาโร่' การ์ตูนอนิเมชันช่ือดัง

แฮมทาโร่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แฟลชม็อบ 50928998781849_1557693290260594218_n.jpg

เนื้อเพลงเต็มๆ ของ 'แฮมทาโร่' เวอร์ชันภาษาไทยไม่มีถ้อยคำปลุกใจให้ฮึกเหิมหรือเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เพราะเพลงนี้ไม่ได้ถูกแต่งมาเพื่อใช้ในการต่อสู้ใดๆ แต่บางท่อนของเพลงถูกผู้ชุมนุมดัดแปลงในเชิงยั่วล้อไปกับสถานการณ์ทางการเมือง โดยท่อนที่พูดถึง 'ของอร่อยที่สุด' ในเพลงแฮมทาโร่ จะถูกเปลี่ยนเป็นสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าน่าจะถูกกินไปมากที่สุดในยุคสมัยรัฐบาลชุดนี้ เช่น 'ภาษีประชาชน'

ผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้บอกกับสื่อที่ไปรายงานข่าวว่า การใช้ 'แฮมทาโร่' จัดกิจกรรม เป็นการเปรียบประชาชนเหมือนหนูแฮมสเตอร์ที่ถูกขังอยู่ในกรง และ 'กรง' เปรียบกับโครงสร้างสังคมที่กดขี่เอาเปรียบ แต่วันนี้ประชาชนได้ออกมาจากกรงเพื่อใช้เสรีภาพแล้ว 

ทั้งนี้ แฮมทาโร่เป็นผลงานการ์ตูนอนิเมชันของ 'ริสึโกะ คาไว' และเผยแพร่โดยบริษัทสื่อญี่ปุ่น โชงากูกัง โดยเป็นซีรีส์ที่ออกฉายในหลายประเทศ รวมถึงไทย ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา และผู้เขียนเชื่อว่าเด็กๆ หลายคนน่าจะชอบหนูแฮมสเตอร์ เพราะตัวเธอเองก็เป็นคนหนึ่งที่เลี้ยงแฮมสเตอร์เช่นกัน

เนื้อเพลงแฮมทาโร่ฉบับภาษาไทย 

"เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่

ตื่นออกจากรัง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่

ของอร่อยที่สุดก็คือ เมล็ดทานตะวัน

ได้เวลาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่

ได้เวลาวิ่ง กลิ้งนะกลิ้งนะแฮมทาโร่

สนุกจริงๆ ที่กลิ้งไปกับแฮมทาโร่

ของอร่อยที่สุดก็คือ เมล็ดทานตะวัน

มีความสุขจริง ได้วิ่งไปกับแฮมทาโร่

ได้เวลานอน นอนนะ นอนนะแฮมทาโร่

ไม่ว่าที่ไหน นอนนะ นอนนะแฮมทาโร่

ของอร่อยที่สุดก็คือ เมล็ดทานตะวัน

และแล้วก็นอน หลับฝันดีนะแฮมทาโร่"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: