พรรคเพื่อไทยปล่อยคลิปวิดีโอ “คุณคิดว่าตัวเองจนไหม?” (youtu.be/9Ly0oYhimBk) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชีวิตในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรของ 4 คนหนุ่มสาวผู้มีเงื่อนไขในชีวิตแตกต่างกันออกไป
นัทธมน เปรมสำราญ นักเขียน นักแปล ศิลปินอิสระ กับประสบการณ์การพาคุณพ่อไปรักษาในโรงพยาบาลรัฐ
“ตอนแรกคิดว่าพ่อเป็นหวัดเฉยๆ เลยพาไปตรวจโรงพยาบาลเอกชนก่อน ค่าตรวจ 5,000 ปรากฏตรวจไปตรวจมาเจอบางอย่างในปอด หมอแนะนำให้ตรวจน้ำล้างปอด แต่มีค่าใช้จ่าย 40,000 ซึ่ง 40,000 นั้นแค่จุดเริ่มต้น ถ้าเกิดเจออะไรอีกล่ะ สุดท้ายเลยย้ายไปโรงพยาบาลของรัฐ แล้วพ่อก็ไปเสียที่โรงพยาบาลนั้น มีช่วงที่เราคิดมากเรื่องการตัดสินใจเรื่องการรักษาของพ่อ เราคิดย้อนกลับไปว่า ถ้าวันนั้นเราตรวจตั้งแต่ที่โรงพยาบาลเอกชน มันจะไม่เป็นแบบนี้หรือเปล่า แต่ว่าสุดท้ายมันก็เป็นไปตามที่เราทำได้”
วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย นักออกแบบ กับความฝันอยากซื้อบ้านที่มีพื้นที่กว้างขวางและมีความปลอดภัยให้คุณแม่
“เรามีความฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่าจะสร้างบ้านที่มีบริเวณ มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีความปลอดภัยที่ดีให้พ่อกับแม่อยู่ แต่ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจ หรือระบบรัฐที่ผ่านมา เราไม่กล้าฝันถึงสิ่งนั้น ต้องประนีประนอมกับความฝันตัวเอง เราคุยกันว่า ม้า บอกตรงๆ นะ ไม่สามารถซื้อบ้านให้ม้าได้ตอนนี้”
ณัฐพล สืบกระพันธ์ นักตัดต่อวิดีโอ กับความพยายามในการลดค่าเดินทางและประสบการณ์การรอรถประจำทางอย่างสิ้นหวัง
“เรามีตัวเลือกไม่ค่อยมากเวลาเดินทาง จะขึ้นรถไฟฟ้ายังต้องคิดเลยเพราะมันแพง เราเลยพยายามลดค่าใช้จ่ายด้วยการเปลี่ยนไปนั่งรถเมล์ แต่เคยรอรถเมล์อยู่ 2 ชั่วโมงก็ยังไม่มา ตอนนั้นรู้สึกว่า แค่จะกลับบ้านยังบั่นทอนฉิบหาย”
พนิดา มีเดช อาร์ตไดเร็กเตอร์ กับการตัดทอนกิ่งก้านความฝันตัวเองเพื่อเอาตัวรอดและเลี้ยงดูครอบครัว
“เราอาจมีเงินเดือนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย แต่เราก็มีหนี้สินที่เราต้องใช้ มีที่บ้านที่ต้องดูแล และมีความฝันที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งการเงินที่เรามีอยู่ไม่ได้ซัพพอร์ตตรงนั้นเลย เอาจริงๆ ถ้ากลับมามองที่ตัวเอง เรารู้สึกว่าเราก็จนแหละ”
ความจนที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ต้องจำนวนต่อชีวิตที่ไม่มีทางเลือกมากนัก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเดินทาง การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้าน หรือการเรียนรู้เพิ่มเติมด้านที่ตัวเองสนใจ อาจเรียกได้ว่าเป็น “ความจนซ่อนใน” ของเหล่าคนชนชั้นกลาง ดังที่วรรจธนภูมินิยามไว้ในคลิปวิดีโอว่า “จนซ่อนใน คือไม่ได้จนแบบชัดเจน แต่ว่าจนอยู่ข้างใน แล้วเราก็ไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเรากำลังแย่ หลายคนฆ่าตัวตายก็มี”
แม้เส้นทางชีวิตและความใฝ่ฝันของทั้ง 4 คนในคลิปนี้จะแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือโครงสร้างของเมืองที่กดทับจนไม่อาจลืมตาอ้าปาก โดยตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ที่ 336 บาทต่อวัน (อัตราสูงสุด) หรือคิดเฉลี่ยเป็นชั่วโมงละ 42 บาท โดยที่ค่ารถไฟฟ้าเที่ยวละ 16-70 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์อยู่ที่ชั่วโมงละ 250 บาท โดยที่ค่ารถไฟฟ้าเที่ยวละ 17-60 บาท
"คนไม่ได้อยากจะทน แต่ว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ เขาแค่รู้สึกต้องเอาตัวเองให้รอด ต้องรวยขึ้นเพื่อเอาตัวเองออกจากจุดนี้" นัทธมนให้ความเห็น
เพื่อไทยในฐานะพรรคที่ต่อสู้กับความยากจนด้วยการขุดรากถอนโคนปัญหาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมาโดยตลอด ดังที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากการก่ออิฐชั้นแรกของรัฐสวัสดิการด้วย “30 บาทรักษาทุกโรค” พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าต่อสู้กับความยากจนที่กัดกินประชาชนภายใต้การบริหารจัดการประเทศที่ล้มเหลวของเผด็จการนานกว่า 8 ปี โดยเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงที่คนทั่วประเทศมองว่าเป็นเมืองแห่งความหวัง เมืองแห่งโอกาสในการลืมตาอ้าปาก
ผู้สมัคร ส.ก. เพื่อไทยมีความเชี่ยวชาญและความพร้อมที่จะผลักดันนโยบายที่ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ดังนั้นวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เลือกเพื่อไทยเป็น ส.ก. ให้ได้เกินครึ่งสภากรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าไปผลักดันนโยบายดีๆ ตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯ และทีมงาน รวมทั้งอนุมัติและตรวจสอบการใช้ภาษีกว่าแสนล้านบาทของผู้ว่าฯ และทุกหน่วยงานในสังกัด กทม.