Animal Farm เป็นวรรณกรรมคลาสสิกซึ่งได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Times ของสหรัฐฯ ว่าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ 1 ใน 100 เล่มที่นักอ่านทั่วโลก 'ต้องอ่าน' เพราะเป็นหนังสือที่กระตุ้นให้เกิดความคิดในเชิงวิพากษ์และตั้งคำถามกับสภาพสังคม แต่งโดย 'จอร์จ ออร์เวลล์' นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 1945
แม้เวลาจะผ่านไปนานเกินครึ่งศตวรรษ แต่ Animal Farm ยังถูกนำกลับมาตีพิมพ์อีกหลายครั้ง ถูกดัดแปลงเป็นละครเวที ภาพยนตร์ และเกมสมัยใหม่ ทั้งยังมีผู้นำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงภาษาไทย ซึ่งตีพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง และมีสำนวนแปลแตกต่างกันไป
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Craft Reader ระบุว่า แอนิมอล ฟาร์ม ที่แปลโดย ม.ล.นิภา ภานุมาส เมื่อปี พ.ศ.2502 ใช้ชื่อภาษาไทยว่า 'ฟาร์มเดรัจฉาน' ทั้งยังมีสำนวนแปลของสำนักพิมพ์อื่นๆ ออกมาอย่างน้อย 9 ฉบับพิมพ์ และเดือน ต.ค. 2561 มีการตีพิมพ์ Animal Farm ฉบับ 2 ภาษา โดยสำนักพิมพ์แอร์โรว์ คลาสสิก บุ๊คส์ แปลโดย 'สรวงอัปสร กสิกรานันท์' และใช้ชื่อหนังสือครั้งล่าสุดว่า 'การเมืองเรื่องสรรพสัตว์' โดยคาดว่าเป็นการพิมพ์ในภาษาไทยครั้งที่ 10 ของวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องนี้ของจอร์จ ออร์เวลล์
'เพนกวิน' สำนักพิมพ์เก่าแก่ หนึ่งในผู้จัดพิมพ์ Animal Farm ระบุว่า นี่คือหนังสือเสียดสีสังคมที่พูดถึงเหล่าสัตว์ในฟาร์มซึ่งก่อกบฏกับ 'มนุษย์' เจ้าของฟาร์ม ผู้กดขี่ต่อสัตว์ต่างๆ แต่ท้ายสุดแล้ว สัตว์ในฟาร์มนั้นก็ลงเอยด้วยการสยบยอมต่อสัตว์ทรราชย์ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำแทนมนุษย์ ทั้งยังระบุด้วยว่า จอร์จ ออร์เวล เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ขึ้นจากมุมมองและบริบททางสังคมของโลกยุคหลังการปฏิวัติรัสเซีย เพื่อวิพากษ์การปกครองแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ จึงมีนักอ่านจำนวนหนึ่งมองว่านี่คือหนังสือต่อต้าน 'เผด็จการ'
นอกจากนี้ การกดขี่และความเลวร้ายของระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ เป็นเนื้อหาที่สะท้อนภาพสรรพสัตว์เชิงอุปมาใน Animal Farm และถูกมองว่าเป็น 'ประเด็นสากล' ทำให้นักอ่านจากทั่วโลกรู้สึกเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตัวเอง และ 'จอร์จ ออร์เวลล์' เป็นนักเขียนคนหนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น 'ต้นธาร' ของวรรณกรรมแนวดิสโทเปียที่พยายามสะท้อนภาพสังคมอันเสื่อมทรามและการครอบงำสอดส่องความคิดของมวลชน ตรงข้ามกับสังคมอุดมคติใน 'ยูโทเปีย' วรรณกรรมของเซอร์โทมัส มอร์
เมื่อมีข่าวว่า 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' แนะนำให้คนไทยอ่าน Animal Farm เพราะว่า "เป็นหนังสือน่าอ่านที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี” ทำให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์จำนวนหนึ่งในไทยตั้งคำถามด้วยความประหลาดใจที่หนังสือของนักเขียนซึ่งสนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ได้รับการแนะนำว่าเป็นหนังสือน่าอ่านจากผู้ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ทั้งยังออกกฎหมายล้างความผิดของตนเองและพรรคพวก
นอกเหนือจาก Animal Farm ยังมีผลงานอีกเล่มหนึ่งของจอร์จ ออร์เวลล์ ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะหนังสือเสียดสีสังคมอำนาจนิยมและการครอบงำของรัฐที่เฝ้าจับตาผู้คนในทุกย่างก้าว นั่นก็คือ 1984 ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์มาแล้วหลายครั้งเช่นกัน
เมื่อปี 2558 กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารและผู้เรียกร้องการเลือกตั้งในไทย เคยรวมตัวกันแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองด้วยการพร้อมใจกัน 'อ่านหนังสือ' ในที่สาธารณะ และ 1984 เป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ผู้ชุมนุมนำไปอ่านด้วย และภาพการชุมนุมแสดงออกทางการเมืองผ่านวรรณกรรมคลาสสิกของออร์เวลล์ก็ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างประเทศหลายสำนัก จนกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก
ล่าสุด สำนักพิมพ์ในสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์ชีวประวัติของจอร์จ ออร์เวลล์ โดยใช้ชื่อว่า The Ministry of Truth by Dorian Lynskey เนื่องในวาระที่หนังสือ 1984 ครบรอบ 70 ปี และนักวิจารณ์บางรายมองว่า สังคมอเมริกันในปัจจุบัน ภายใต้รัฐบาล 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีที่มีแนวคิดชาตินิยมขวาจัด ทำให้คนจำนวนมากหันกลับมาอ่านหนังสือของออร์เวลล์มากขึ้น เพราะผลงานของเขาตั้งคำถามเชิงวิพากษ์กับการปกครองที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ และการใช้อำนาจเกินขอบเขต ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่าคนอเมริกันจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่มั่นใจในสภาพสังคมที่เป็นอยู่
ดอเรียน ลินสกี ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของจอร์จ ออร์เวลล์ ระบุในตอนหนึ่งของหนังสือ The Ministry of Truth ว่า ในฐานะนักอ่าน เรามักจะหันหน้าเข้าหาหนังสือของออร์เวลล์ "เมื่อความจริงถูกตัดทอนจนพิกลพิการ ภาษาถูกบิดเบือน และอำนาจถูกใช้ในการกดขี่ข่มเหง" ทำให้ "เราอยากรู้ว่าเรื่องราวต่างๆ มันจะเลวร้ายได้สักแค่ไหน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: