ไม่พบผลการค้นหา
'อนุทิน' ย้ำต้องหาผู้รับผิดชอบค่ารื้อเสาโฮปเวลล์ หาก รฟท. เจรจาไม่จบ พร้อมออกเงินส่วนตัว 200 ล้านดำเนินการ จี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ คุย CPH เซ็นสัญญาภายใน 15 ต.ค.

จากกรณีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินโครงการ 224,000 ล้านบาท และติดปัญหาการเจรจาสัญญาโครงการฯ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจ้าของโครงการ กับ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เพราะมีประเด็นเรื่องการทุบเสาโฮปเวลล์ เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง 

โดยต้องหาผู้รับผิดชอบจ่ายค่าดำเนินการ 200 ล้านบาท ว่า ใครต้องเป็นผู้ทุบเสาโฮปเวลล์ระหว่าง รฟท.และ CPH 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะจ่ายเงินส่วนตัว 200 ล้านบาท ดังกล่าว 

ล่าสุด นายอนุทิน เปิดเผยว่า โครงการนี้ มีมูลค่างานกว่าแสนล้าน และช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศไทยอีกมหาศาล แต่จะมาชะงักด้วยเรื่องเงิน 200 ล้านบาท ก็เห็นว่าไม่เหมาะสม ที่สุดแล้วถ้าไม่มีใครรับผิดชอบ ก็จะจ่ายให้เอง โครงการจะได้เดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันต้นสัปดาห์นี้ (23 ก.ย.) นายอนุทิน ระบุว่า จะจัดให้มีการประชุมวันที่ 27 ก.ย.และจะให้กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญาการก่อสร้างในวันที่ 15 ต.ค. 2562 พร้อมกับย้ำว่า ภาครัฐให้เวลาในการเจรจามาพอสมควรแล้ว จึงไม่มีเรื่องต้องหารือเพิ่มเติม ดังนั้น วันที่ 15 ต.ค. ต้องเซ็นสัญญากัน เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลยไม่ได้ รอกระทั่งถึงเดือน พ.ย. การดำเนินโครงการจะครบกำหนดเวลาที่ระบุในเงื่อนไขการประกวดราคา เท่ากับภาครัฐต้องรับผิดชอบ และจะมีมาตรการการขึ้นบัญชีดำฝ่ายเอกชน กลายเป็นผู้ละทิ้งงาน จะมาร่วมงานกับรัฐไม่ได้อีกแล้ว รัฐจำเป็นต้องทำ เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย มาตรา157 

นอกจากนั้น กรณีภาคเอกชนรายที่ 2 มาดำเนินโครงการต่อในอนาคต หากพบว่ามูลค่างานของเอกชนรายที่ 2 สูงกว่ามูลค่างานเอกชนรายแรก เอกชนที่ทิ้งงานต้องรับผิดชอบส่วนต่างของมูลค่างานที่สูงขึ้น 

รฟท.จ้าง 'คอนซัลติ้ง' วิเคราะห์ความเหมาะสม 8 เดือน

อีกด้านหนึ่ง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2562 ระบุว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด 

โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางรางในภาคตะวันออกให้มีความสมบูรณ์ โดยเป็นการพัฒนาต่อจากโครงการระยะที่ 1 ซึ่งจะเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ และท่าอากาศยานภาคกลางและภาคตะวันออกเข้าด้วยกัน และรองรับการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างบูรณาการ 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ลงนมสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ว่าจ้าง เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา และมีระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน  

27 ก.ย. หาข้อสรุป ก่อนจี้เอกชนลงนามให้ทัน 15 ต.ค.นี้

สำหรับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ย. 2561 มีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นซองข้อเสนอเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2 ราย ได้แก่

  • กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบ ด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD , China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
  • กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบ ด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)

ต่อ มาวันที่ 22 ธ.ค. 2561 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ประกาศว่า กลุ่มซีพีและพันธมิตรเสนอราคาต่ำสุดที่ 117,227 ล้านบาท ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เสนอราคาต่ำเป็นอันดับ 2 ที่ 169,934 ล้านบาท

ต่อมาเดือน เม.ย. 2562 กลุ่ม CPH ได้ยื่นข้อเสนอนอก TOR ทั้งหมด 11 ข้อแก่ รฟท. ประกอบด้วย

1.ขอขยายโครงการจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี 2.ขอให้รัฐอุดหนุนเงินโครงการตั้งแต่ปีแรกที่เปิดดำเนินการ รวมไปถึงการการันตีผลตอบแทน IRR ร้อยละ 6.75 ต่อปี 

3.รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนในปีที่ 1-6 จากเดิมที่ต้องจ่ายในวันที่เปิดดำเนินการ 4.สามารถลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ลงมาเหลือร้อยละ 5 ได้ในอนาคต เนื่องจากบริษัทอาจนำโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

5.ขอ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเพดานเงินกู้เครือ ซี.พ. เนื่องจากปัจจุบันติดเพดานเงินกู้ หรือ Single Lending Limit ตามเกณฑ์ของธปท. อยู่ 6.ขอให้รัฐบาลค้ำประกัน รฟท. หากมีปัญหาในภายหลัง

7.ผ่อนชำระโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ 11 ปี ด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 จากเดิมต้องจ่ายทันที ถ้าหากรัฐบาลโอนโครงการให้ 8.รัฐบาลต้องสนับสนุนจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับร้อยละ 4 ให้กับโครงการ

9. ขอชำระเงินค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา เมื่อวันที่ถึงจุดที่มีผลตอบแทย 10.ถ้าหากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายด้วย

11.ห้าม รฟท. ทำธุรกิจหรือเดินรถแข่งขันกับเอกชน ส่วนข้อ 12 ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

ต่อมาเดือน พ.ค. 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ รฟท. ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่ม CPH ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เห็นชอบไว้ 

แล้วเรื่องต่างๆ ได้ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ซึ่งในวันที่ 27 ก.ย. 2562 เวลา 16.00 น. คณะกรรมการคัดเลือกฯ จัดประชุม และทำหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นข้อเสนอคือ กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญาในวันที่ 15 ต.ค. 2562 นี้ ซึ่งหากมาลงนามตามกำหนดจะทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเงื่อนไข RFP (กำหนดคุณลักษณะ) โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี 

อย่างไรก็ตาม หากกลุ่ม CPH ไม่มาลงนามสัญญาตามกำหนดจะถูกริบหลักประกันซอง 2,000 ล้านบาท และอาจถูกพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบทางราชการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :