ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ เรียกประชุมเกาะติดดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เตรียมยกระดับจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้มากขึ้น จัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน มีแพทย์ติดตามอาการ ให้ กทม.จัดตั้งศูนย์พักคอย 50 เขต ให้กำลังใจแพทย์-บุคลากรทุกหน่วยงาน

วันที่ 23 ก.ค. 2564 อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 19.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมติดตามการบริหารจัดการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการบริหารจัดการโรงพยาบาลสนาม พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคการทำงาน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมี อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนโรงพยาบาลสนามจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมหารีอด้วย

นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในทุกส่วน ทั้งการบริหารสถานการณ์ให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น การจัดสรรบุคลากร และการบริหารจัดการสถานที่ต่างๆ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลให้ทุกฝ่ายได้เห็นภาพรวมและขับเคลื่อนไปด้วยกัน 

ทั้งนี้ ได้มีข้อสรุปในเบื้องต้นว่า

1. เร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น เพื่อรับผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการ ให้เข้าถึงการรักษาและสถานพยาบาลให้มากและเร็วที่สุด 

 2. เพิ่มขีดความสามารถโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงให้มากขึ้น

3. เห็นชอบแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation - HI) และการดูแลผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation - CI) อย่างเป็นระบบ โดยจัดให้มีทีมแพทย์คอยติดตามอาการ ชุดเวชภัณท์และยาที่จำเป็นเพี่อคัดแยกผู้ป่วย ลดการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและชุมชน สำหรับผู้ป่วยที่สามารถกักตัวที่บ้านได้ (HI) จะมีการจ่ายยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้จะนำส่งศูนย์พักคอย หรือ (CI) ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อให้ครบทั้ง 50 เขต

4. มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาร่วมช่วยเหลือ สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงการจัดส่งอาหารและยาให้ผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวที่บ้านและที่ชุมชนในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง

5. ให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยประสานผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนาได้ ตามมาตรการสาธารณสุขที่กำกับการเคลื่อนย้ายทุกขั้นตอน เพี่อลดปัญหาการได้เข้ารับการรักษาในพื้นที่ กทม. ที่มีข้อจำกัดเรื่องเตียง

6. สนับสนุนทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก (Comprehensive Covid-19 Response Team) หรือ CCRT อย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการลงพื้นที่ทั้ง 50 เขต เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนให้ครอบคลุมและทั่วถึง เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

7.ปรับปรุงระบบการรับเรื่องผ่านโทรศัพท์สายด่วนต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถประสานข้อมูลร่วมกัน เพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว

ประยุทธ์ อนุพงษ์ -382C-402A-9CFD-D74A0F1748C3.jpeg


ประยุทธ์ -4095-42FC-9DD1-6F4618C3FFCA.jpeg

นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารโดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริง ควบคู่ไปพร้อมกับการเดินหน้าจัดหาวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อเร่งฉีดให้กับประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งในขณะนี้ในพื้นที่ กทม. ได้มีการฉีดวีคซีนเกินกว่าร้อยละ 50 ของประชากรแล้ว

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ให้การสนับสนุน การทำงานในทุกมิติเพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้พร้อมขอเป็นกำลังใจให้แพทย์ บุคลากรด้านสาธารณสุข และคนทำงานจากทุกหน่วยงานที่ร่วมใจดูแลผู้ป่วยอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย โดยนายกรัฐมนตรียินดีและพร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรค เพี่อจะได้ร่วมช่วยหาวิธีแก้ไขและนำไปสู่แนวทางที่เหมาะสมในการทำงานของทุกหน่วยงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง