เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 256 4 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวผลประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยพิจารณาคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนุญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.ของ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ โดย ส.ส.จำนวน 50 คน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าทีทมีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สิระ เจนจาคะ ผู้ถูกร้อง เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวันว่ากระทำความผิดอาญาฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้เข้าชื่อเสนอคำร้องเห็นว่าผลคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ทำให้ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของ สิระสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ซึ่งผู้ร้องส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 28 ธ.ค. 2563 ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.ของสิระสิ้นสุดลงหรือไม่ และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 29 ธ.ค. 2563 ส่งหนังสือขอถอนชื่อออกจาก ส.ส. ผู้เข้าชื่อเสนอคำร้องกรณีดังกล่าว จำนวน 2 ราย คือ อนุรักษ์ บุญศล ส.ส.สกลนคร และอาภรณ์ สาราคำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย และขอให้รับหนังสือขอถอนชื่อดังกล่าวไว้สำหรับประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่งกำหนดจำนวน ส.ส.ที่มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงไว้ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ส.ส. เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าขณะยื่นคำร้องและคำร้องเพิ่มเติม สภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส.จำนวน 487 คน และต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 29 ธ.ค. 2563 แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ส.ส.จำนวน 2 คน ขอถอนชื่อออกจากการเข้าชื่อเสนอคำร้องฉบับลงวันที่ 28 ธ.ค. 2563 มีผลให้จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อเหลือเพียง 48 คน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ดังนั้นคำร้องนี้ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
'เสรีพิศุทธ์' เตรียมแถลงเหตุ 'เพื่อไทย' ถอนชื่อ
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เตรียมเปิดแถลงข่าวในวันที่ 8 ม.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ที่ทำการพรรคเสรีรวมไทยกรณีศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องตีความสถานะ ของสิระ โดย 2 ส.ส.เพื่อไทย ถอนชื่อ ส่งผลจำนวน ส.ส.จำนวนไม่ครบตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญกำหนด
ไม่รับคำร้อง 'ณฐพร' ขวางแก้ รธน.
ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องของ ณฐพร โตประยูร ผู้ร้องขอใช้สิทธิของปวงชนชาวไยและสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 และมาตรา 50 (1) และมาตรา 210 วรรคหนึ่งประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 และมาตรา 41 วรรคหนึ่งและข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ข้อ 6 ประกอบหลักกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการกระทำของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยและคณะ ผู้ร้องถูกร้องที่ 1 และวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารับ และคณะ ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... จำนวน 2 ฉบับเป็นการกระทำเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และ มาตร า 255 การกระทำดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องเพิ่มเติม รวม 2 ครั้งแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 50 (1) และมาตรา 210 วรรคหนึ่ง ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยกรณีตามคำร้องได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 กำหนดไว้ ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัย
ศาล รธน.ไม่กลับคำสั่งนัดวินิจฉัยสถานะ ส.ส. 'เทพไท' ตามเดิม
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของ เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดย เทพไท ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 5 ม.ค. 2564 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้บุคคลที่อ้างเป็นพยาน ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ คมสัน โพธิ์คง ให้ถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลรัฐธรรมนูญและขอให้เลื่อนการพิจารณาวินิฉัยออกไปจนถึงวันที่ 25 มี.ค. 2564 เพื่่อรอฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8
ทั้งนี้ศาลได้พิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่าในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการไต่สวนแล้ว เนื่องจากคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ไม่มีเหตุที่จะกลับคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตตามที่ผู้ร้องขอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง