ในงานเสวนา “ตรวจสอบกระทรวงคมนาคม กรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, ค่าโง่การทางพิเศษ และค่าโง่อื่นๆ ที่กำลังจะตามมา” จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะสร้างรถไฟไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่า 1.17 แสนล้านบาท เพราะเห็นว่าไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งการรถไฟฯ มีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามแนวเส้นทางเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้การประมูลยังใช้สูตรพิสดาร โดยให้เอกชนยื่นข้อเสนอพิเศษ มีโอกาสที่รัฐจะเสียค่าโง่ซ้ำรอยโครงการอื่นๆ ซึ่งหลักการพัฒนาทางรถไฟควรขยับจาก 1 เป็น 2 ทาง ไม่ใช้ก้าวกระโดดเป็น 4 ทาง จึงมองว่าโครงการนี้ คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อที่ดินของผู้มั่งมีด้วยภาษีของประชาชน
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่ง กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบขนส่งทางราง แต่ไม่เห็นด้วยกับการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะทางรถไฟเดิมขนาด 1 เมตร สามารถรองรับความเร็วได้ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในส่วนของการเจรจาในสัญญาไม่มีการเปิดเผย ซึ่งก่อนหน้านี้เอกชนยื่นข้อเสนอพิเศษ ห้ามการรถไฟทำธุรกิจเดินรถแข่งกับเอกชนที่เขียนไว้คลุมเคลือ เป็นประเด็นที่ค่อนข้างอันตราย โดยมีรายงานว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการลงนามในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะชน ประชาชนควรมีสิทธิรู้เห็น ได้ร่วมกันตรวจสอบ จะได้ไม่ต้องมาเสียค่าโง่ และเสียการรถไฟฯให้กับเอกชน
ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า รัฐบาลไม่สามารถที่จะเซ็นสัญญาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ได้ เพราะรัฐบาลชุดเก่าได้สิ้นสุดลงแล้ว ขณะที่รัฐบาลใหม่แม้จะได้ถวายสัตย์ปฎิญาณ แต่ยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยเห็นว่าต้องมีการศึกษาโครงการอย่างรอบคอบ เพื่อความโปร่งใส โดยอยากให้ดูด้านเทคนิค หากจะทำเริ่มต้นควรให้มีการเชื่อมต่อเพียง 2 สนามบิน คือ สุวรรณภูมิและดอนเมือง เพราะไม่ต้องลงทุนมาก และให้แอร์พอร์ตลิงก์เป็นผู้ลงทุน มองว่าจะคุ้มค่ามากกว่า ไม่ใช่โครงการที่มีผลประโยชน์ยกให้กับเอกชน แต่โครงการที่ขาดทุนยกให้กับการรถไฟฯ
ในขณะที่ดินมักกะสัน ให้ผลประโยชน์กับการรถไฟฯ ที่ไม่คุ้มค่า เพราะอายุสัญญา 50 ปี เอกชนจะต้องจ่ายผลประโยชน์ให้การรถไฟฯ เพียง 51,000 ล้านบาท แต่หากเทียบในช่วงที่ตนเคยดำรงตำแหน่ง มีเอกชนเคยเสนอใช้ประโยชน์แค่ 30 ปี แต่จ่ายผลประโยชน์ 120,000 ล้านบาท พร้อมยกทรัพย์สินให้แก่การรถไฟฯ ยังไม่กล้าที่ให้ดำเนินการ นอกจากนี้ทีโออาร์ก็ไม่มีความรอบคอบ ไม่เป็นสากล ฉะนั้นคิดว่าต้องตอบคำถามนี้ให้กับประชาชนรับทราบก่อน จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียค่าโง่ให้กับเอกชนอีกในอนาคต
ด้านนายแพทย์รวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุสัมปทานทางด่วน 30 ปี เพื่อแลกกับการจ่ายค่าโง่ข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพราะเท่ากับการแลกรายได้ 750,000 ล้านบาท ที่จะเกิดขึ้นจากการบริหาร 30 ปี ล้างค่าโง่ 140,000 ล้านบาท และหากมีการต่ออายุสัมปทาน จะต้องมีการทำสัญญาใหม่ ซึ่งมีโอกาสเกิดค่าโง่อีกในอนาคต นอกจากนี้ประชาชนอาจจะได้ประโยชน์จากการไม่ต้องขึ้นค่าทางด่วน
อ่านรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง :