ไม่พบผลการค้นหา
‘ณัฐวุฒิ’ชี้ในเวทีเสวนา อภิวัฒน์สยาม 90 ปี เรียงประวัติศาสตร์การต่อสู้จากคณะราษฎร 2475 ถึงคณะราษฎร 63 ชี้ เป็นการส่งต่อทางจิตวิญญาณ การสร้างองค์ความรู้ เป็นจุดเชื่อมสำคัญในสายธารแห่งประชาธิปไตย

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2565 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานเสวนา 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม "อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย" ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กล่าวว่า คณะราษฎร 2475 ได้ปรากฏอย่างสง่างามในความทรงจำของทุกคน ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐบุรุษอาวุโส ได้ถูกยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผลของเหตุการณ์เมื่อย่ำรุ่ง ได้เปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปตลอดกาล ไม่ว่าจะมีใครพยายามลากดึงประเทศให้ถอยหลัง แต่ในท้ายที่สุด ไม่มีใครมีเรี่ยวแรงพอที่จะดึงประเทศนี้ให้ถอยหลังไปกว่าเส้นที่คณะราษฎร 2475 ขีดเอาไว้ ไม่ว่าจะฆ่าคนไทยไปกี่ราย ประเทศนี้ต้องปกครองด้วยประชาธิปไตย นั่นคือหมุดหมายที่คณะราษฎรได้ประกาศเอาไว้ 

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ก่อนเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2475 มีคนจำนวนหนึ่งได้พยายามทำสิ่งนี้ แม้จะไม่สำเร็จตามความมุ่งหมาย แต่ก็ได้ก่อประกายไฟ และส่งต่อจิตวิญญาณแก่คนรุ่นต่อๆ ไป นั่นคือ เหตุการณ์เชื้อพระวงศ์ 11 คน เข้าชื่อถวายรัชกาลที่ 5 ให้ปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ถูกยอมรับ แต่อย่างน้อยที่สุด คำว่ารัฐธรรมนูญ ได้ปรากฏขึ้นในบรรทัดของหน้าประวัติศาสตร์ไทยอย่างชัดเจน

ในยุคสมัยเดียวกันก็มีสามัญชน ผู้เป็นนักคิดนักเขียน 2 คน ที่ได้ใช้แรงใจแรงไฟ นั่นคือ ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวัน ซึ่งเป็นปฐมบทของชะตากรรมของสามัญชนที่บังอาจถามต่อชนชั้นนำ ทำให้ เทียนวันต้องถูกคุมขังในเรือนจำ และศ.ก.ร.กุหลาบ รักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช หมายความว่า หากสามัญชนในประเทศนี้อาจหาญตั้งคำถาม ต้องเป็นคนผิด ไม่ก็กลายเป็นคนบ้า

คณะ รศ.130 กลุ่มทหารยศนายร้อยรวมตัวกันต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองสู่ประชาธิปไตยชะตากรรมพวกเขาคือที่จองจำ จนบ้านเมืองเกิดการอภิวัฒน์ รอยเชื่อมต่อทางประวัติศาสตร์ทำให้ผู้อภิวัฒน์คืนอิสรภาพสู่คนเหล่านั้น จุดเริ่มต้นของ คณะราษฎร 2475 คือนักเรียนไทยที่ไปเรียนในฝรั่งเศส และประสานงานกับทหารหัวก้าวหน้าในไทย 

เหตุการณ์เมื่อปี 2516 คือนักศึกษา สายธารของคนในช่วงวัยเดียวกัน เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ประชาชนม็อบมือถือ ที่ปฏิเสธการสืบทอดอำนาจโดยเผด็จการ เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553 ประชาชนทุกภูมิภาค ชาวไร่ ชาวนา ได้เห็นภาพความจริง และกลายมาเป็นนักต่อสู้ ถูกไล่ยิงกลางถนน ร่างไร้วิญญาณหายลับตาไป เหลือเพียงไว้ผู้คนจำนวนหนึ่งที่สดใสมาล้างถนน ในวันที่เหตุการณ์ยุติ และคณะราษฎร 2563 คือการปรากฏขึ้นของนักเรียน นักศึกษาในยุคปัจจุบัน ผู้ออกมายืน และตั้งคำถามต่อการสร้างอำนาจในสังคมไทย เรียกร้องไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นั่นคือ เรียกร้องให้ที่ยืนของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เห็นชุดเชื่อมต่อสำคัญ ที่ทำให้สายธารแห่งประวัติศาสตร์มองเป็นเรื่องเดียวกัน แม้ว่าจะไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพ หรือรูปลักษณ์ทางการเมืองแบบเดียวกัน แต่กลับกลายเป็นว่า คนเหล่านี้สู้ในอุดมการณ์แบบเดียวกัน ยืนในจุดยืนเดียวกัน และกล้าหาญเสียสละเพื่อชัยชนะของประชาชนในแต่ละยุคสมัยเหมือนกัน 

สิ่งที่ทำให้แต่ละคนที่แตกต่างในช่วงวัย ออกมายืนเรียงกันในหน้าประวัติศาสตร์ สิ่งแรกคือ องค์ความรู้ ที่ประชาชนในประเทศนี้ถูกบังคับให้เรียน ตามที่ผู้มีอำนาจอยากให้รู้ แต่เมื่อผู้คนเข้าถึงองค์ความรู้ และพบว่ามันแตกต่าง ไม่เหมือนกับกรงครอบทางปัญญาที่ผู้มีอำนาจประกอบสร้าง การเรียกร้องเลยเกิดขึ้น

คณะ รศ.130 เป็นลูกชาวบ้านกลุ่มแรกที่ได้เรียนในโรงเรียนนายสิบ คณะราษฎร 2475 คือปัญญาชนที่ได้รับโอกาส ใช้สติปัญญาพยายามขับเคลื่อนประเทศอย่างสำคัญ ขบวนการนักศึกษาในปี 2516 และ 2519 คือปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาจากอาจารย์ที่ไปเรียนต่างประเทศ ผู้คนในปี 53 ยืนยันด้วยเกียรติ และศักดิ์ศรี พวกเขาไม่ได้ถูกหลอกมา ไม่ได้โง่ที่ตัองมาเผชิญกับปืนติดลำกล้อง แต่มาเพราะรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น 

"เขาคือคนที่อยู่ในไร่นา ได้ออกมาเหยียบยืนบนแผ่นดินมหานครอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์" ณัฐวุฒิ กล่าว 

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ลูกหลานเราในปี 2563 ก็เช่นเดียวกัน เขาออกมาเพราะเขารู้ ไม่ได้ออกมาเพราะเขาโง่ มืดบอด นอกเหนือองค์ความรู้ จุดร่วมประการต่อมา คือ โลก และสังคมที่พัฒนา สังคมที่รับในศักดิ์ศรีของมนุษย์ การส่งต่อข้อมูลข่าวสาร มันชัดเจน ง่ายกว่ายุคหลายสิบปี โดยเฉพาะเมื่อปี 2563 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลก ทำให้โลกทั้งใบอยู่ในฝ่ามือ เขาอยากเห็น เขาอยากรู้ อยากอ่าน เหตุการณ์มุมใดของโลก แค่ในมือโทรศัพท์เท่านั้น

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า การสืบทอดจิตวิญญาณอาจหาญของขบวนการต่อสู้ในแต่ละรุ่นก็ได้กลับไปบอกรุ่นที่ผ่านๆ มาว่า ถ้าไม่มีพวกท่านคงไม่มีพวกเราในวันนี้ นักเรียนนักศึกษาในปี 2563 ถึงหยิบเอาเรื่องราวของคนเสื้อแดง มาพูดถึงอธิบายใหม่ แสดงความเข้าใจ และเห็นใจ ตนไม่ได้เข้าใจรับรู้โลกวิญญาณ แต่จิตวิญญาณของการเป็นมนุษย์ มันส่งผ่าน และเชื่อมต่อถึงกัน จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า คณะราษฎร 2563 เป็นบุคคล กลุ่มเดียวกับ 2475 ในแง่จิตวิญญาณ และการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย 

"บ้านเมืองนี้เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีทางของมนุษย์ มาอย่างยาวนาน แต่มันยังสูญเสียกันอยู่ ไม่ใช่เพราะ 90 ปีที่ประชาชนชิงสุก แต่ชนชั้นนำ ชิงห่าม ไม่ยอมสุก เลือกที่จะหยุดบ้านเมืองไว้ที่ห่ามๆ ดิบก็ไม่ใช่ สุกก็ไม่เอา ให้ครึ่งๆ กลางๆ อยู่อย่างนั้น เป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องบ่มให้สุกไปด้วยกัน

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าความขัดแย้งในสังคมไทยจะจบเมื่อไหร่ และอย่างไร แต่แสดงความเชื่อมั่นว่า มันจะจบลงโดยชัยชนะเป็นของประชาขน เพราะประชาชนไม่มีวันจะหยุดต่อสุ้ในอุดมการณ์ที่เชื่อมร้อยส่งต่อถึงกัน เวลาผ่านมา 8 ปี อำนาจในยุคนี้ มันเป็น โรงหล่อหลอมความคิดของคนอย่างมีนัยสำคัญ มันสามารถทำให้คนทีอาจจะเคยเห็นต่างทางการเมืองว่ารัฐประหารคือทางออก เวลานี้จำนวนไม่น้อยก็เปลี่ยนความคิด 

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า การจะตาสว่างได้มันมีเหตุผลพื้นฐานคือความรู้ และเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น 8 ปีที่ผ่านมา ถ้ามันยังพอมีสิ่งเอามาพูดถึงได้บ้าง ตนก็บอกว่า 8 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้ ขนมหวานชนิดหนึ่ง ซึ่งมีหลายสี โดยทั่วไป ถูกเรียกว่าสลิ่ม บัดนี้ขนมหวานชนิดนี้จำนวนไม่น้อยได้เปลี่ยนเป็นเนื้อในแตงโมที่แดงสุก ที่พร้อมพจะเปลี่ยนสังคมแล้วเหมือนกัน 

ณัฐวุฒิ เสริมว่า ปีที่ 91 หรือ 92 ของวาระนี้ ตนยังมองไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เชื่อได้อย่างหนึ่งว่า ปีหน้าต้องมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง และมารำลึกวาระ 91 ปี น่าสนใจว่า รัฐบาลชุดต่อไปจะเป็นอย่างไร และน่าสนใจกว่า ถ้ามีอำนาจใดมาขัดขวางไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น 

"ตอนนี้เรามีผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งสุดในปฐพี แต่มีนายกฯ ที่หน้าด้านสุดในปัจจุบัน ไม่สามารถไล่ให้ออกไปจากอำนาจได้ แม้ใช้หวายลงอาคม คาดว่าเลือกตั้งที่จะมาถึงจะเป็นโอกาสนำพา ประชาธิปไตยกลับมาอีกครั้ง" ณัฐวุฒิ ทิ้งท้าย