ในงานบรรยายสาธารณะ Public Lectures ปฏิวัติ 2475 : อยากจำ vs อยากลืม 1932 Revolution : Remembering or Forgetting เรื่อง "4 ทหารเสือคณะราษฎร สร้างประชาธิปไตย" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2562 ณ ห้อง 309 ชั้น 3 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยากร โดย พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ชัชฎา กำลังแพทย์ กษิดิศ อนันทนาธร นายชัยธวัช สีผ่องใส และ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ดำเนินรายการ
'พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์' เริ่มกล่าวถึงบันทึกของ 'พล.ต.พระประศาสน์พิทยายุทธ' ที่เล่าถึงวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ซึ่งระบุว่า "ท่านอุ่นใจ" เพราะมีนักเรียนนายร้อยรุ่น 2474 ซึ่งท่านใช้คำว่า "ของข้าพเจ้า" มาร่วมด้วย
ที่ผ่านมา การศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลายคนอาจมีความรู้สึกว่า เหมือนเป็นการหลอกทหารออกมาปฏิวัติ แต่กำลังหนึ่งที่ถูกมองข้าม คือ "นักเรียนนายร้อย" อีกทั้งหลายคนยังมองว่าคณะราษฎรไม่มีกำลังของตัวเองจริงๆ (กองกำลังทหารในเวลานั้น มี 4 กรมทหารใหญ่อยู่ในกรุงเทพ คือ กรมทหารราบ กรมทหารม้า กรมทหารปืนใหญ่ และกรมทหารช่าง)
สิ่งที่ถูกมองข้ามในการศึกษาปฏิวัติ 2475 คือ 'นักเรียนนายร้อย' 24 มิ.ย. มีนักเรียนนายเรียนมาร่วมก่อการยึดอำนาจกว่า 500 คน มากันเกือบหมดโรงเรียน
พล.อ.บัญชร กล่าวต่อว่า จากบันทึกของ จอมพล ประพาส จารุเสถียร พบว่า ตอนเป็นนักเรียนนายร้อยนั้นอยู่รุ่นใกล้กับรุ่น 2474 และบันทึกของ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ออกมายึดอำนาจ สะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนนายร้อยในเวลานั้นมีความไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย พวกเขาเห็นความเหลื่อมล้ำจากชีวิตประจำวันของตนเอง ในโรงเรียนนายร้อย เนื่องจากเดิมทีแล้ว ก่อนที่จะเป็นโรงเรียนนายร้อยอย่างในปัจจุบัน โรงเรียนนายร้อยเป็นสถานที่ของคนชั้นสูงของราชวงศ์เท่านั้น แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ กบฏ ร.ศ.112 รัชกาลที่ 5 จำเป็นต้องมีทหารประจำการ นำไปสู่การก่อตั้งโรงเรียนขึ้น รวมถึงความจำเป็นต้องเร่งผลิตทหารออกมา จึงเปิดโอกาสให้สามัญชนเข้ามาเรียนได้
พล.อ.บัญชร กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่ทำให้นักเรียนนายร้อยมีความคิดก้าวหน้า คือ "สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ" (ต้นสกุลจักรพงษ์) ซึ่งเป็นผู้ที่รัชกาลที่ 5 หวังจะให้เป็นรัชกาลที่ 6 แต่เนื่องจากมีภรรยาเป็นชาวรัสเซียจึ งหมดโอกาสขึ้นครองราชย์ แต่เนื่องด่้วยสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างมาก จึงได้รับการมอบหมายให้ดูแลกองทัพ ทรงเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยในยุคนั้น (อ่านเพิ่มได้ในเกิดวังปรารุสก์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์)
"สิ่งที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ นำเข้ามาสู่โรงเรียนนายร้อย และวงการทหาร คือการเปลี่ยนระบบการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยใหม่ จากเดิมที่ใช้การท่องจำ มาเป็นการคิดค้นเหตุผล...เพราะฉะนั้น ยุคของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ เป็นยุคที่ทหารเป็นกลุ่มคนที่หัวก้าวหน้าที่สุดในสังคมไทย"
ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงของโลกไปเร็วมาก (การเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสมบูรณายาสิทธิราชย์ และการโค่นล้มราชวงศ์ในบางประเทศ) เพราะฉะนั้น ความคิดหัวก้าวหน้าของทหาร ที่ต้องการพัฒนาประเทศ ในขณะเดียวกันที่การปกครองยังเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความคิดเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ระเบิดขึ้นครั้งแรก กรณี "กบฏ ร.ศ.130" (เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2455 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพียง 20 ปี โดยนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนแตก มีการจับกุมผู้คิดก่อการหลายคนไว้ได้ 91 คน ศาลทหารตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิตผู้นำก่อการ)
พล.อ.บัญชร กล่าวว่า แม้นักเรียนนายร้อยจะยังไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ กบฎ ร.ศ. 130 แต่กลุ่มผู้ก่อการล้วนเป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถทั้งสิ้น
“ความรู้ ความก้าวหน้า สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ให้กับสถาบันทหาร ในที่สุด ก็เปรียบเสมือนน้ำเดือดที่ไม่มีทางระบาย แล้วก็ระเบิดออกมา ตามความเข้าใจของผมมันเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า คบเพลิงแห่งการปฎิวัติ ได้ถูกจุดขึ้นแล้ว แล้วก็เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2475”
และแล้วการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 พล.อ.บัญชร กล่าวว่า กระแสความคิดที่ก้าวหน้าในหมู่ทหาร ทำให้นักเรียนนายร้อยกลายเป็นกลุ่มคนหนุ่มอายุยังไม่ถึง 20 ปี ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทหารในยุคนั้นเป็นคนหนุ่มที่มีอุดมการณ์ทั้งสิ้น
นี่คือบทบาทของนักเรียนนายร้อย แต่แล้วนักเรียนนายร้อยกลับมามีบทบาทอีกครั้งในการรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 คือการรัฐประหารที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยน "ขั้วอำนาจ" อีกครั้ง การรัฐประหารครั้งนี้ นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พล.อ.บัญชร กล่าวว่า รัฐประหาร 2490 เกิดขึ้นจากการที่ทหารเริ่มรู้สึกว่า "เห้ย...อำนาจนี่ดีเว้ย" มันหาเงินได้
พล.อ.บัญชร ยังกล่าวอีกว่า "ทหารในยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองนับถือกันที่ความรู้ ความสามารถ" เขายกตัวอย่างเรื่องระบบความสัมพันธ์ของทหาร ยกตัวอย่างเช่น "ผม เสธ.บัญชร ลูกศิษย์ จอมพล ป." แต่แล้วตอนที่เขาเรียนจบมาไม่ได้ยินการเรียกตัวเองว่า "เราจะเป็นลูกศิษย์ใคร" แล้วธรรมเนียมแบบนี้ก็หายไป จนมาเกิดอีกครั้ง ตอนที่ตนเป็นพันเอก แต่ความสัมพันธ์ในการเรียกตัวเองกลับเปลี่ยนไป จากความสัมพันธ์แบบ "ลูกศิษย์" กับ "อาจารย์" เป็นความสัมพันธ์แบบ "เจ้านาย" กับ "ลูกน้อง" เข้ามาแทนที่