ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กสศ. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอแผนการใช้เงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนให้กองทุนเป็นรายปีตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยจัดสรรให้เพียงพอตามแผนการใช้เงินที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ
สำหรับปีงบประมาณ 2567 คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้จัดทำข้อเสนอวงเงินรวม 7,985,786,100 บาท มีแผนการใช้เงินสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 17 ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม และขั้นตอนการปฏิรูปประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570 หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง คนไทยมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม และหมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างแก่ประชาชนคนไทยทุกคน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย จากการวิเคราะห์ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กสศ. พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวเด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนพิเศษจำนวน 1.3 ล้านคน ลดลงเหลือ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น แหล่งรายได้ของครอบครัวร้อยละ 59 มาจากสวัสดิการรัฐและเอกชน ขณะที่การช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ของ กสศ. ด้วยทุนเสมอภาคในระดับการศึกษาภาคบังคับ อัตรา 3,000 บาท/คน/ปีการศึกษา พบปัญหาเงินเฟ้อทำให้มูลค่าที่แท้จริงของทุนเสมอภาคเหลือเพียง 2,728 บาท จึงมีโอกาสสูงมากที่ครัวเรือนยากจนจะได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากในปีนี้ อันจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่บุตรหลานจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้ความยากจนถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น”
ประสาร กล่าวว่า จากสถานการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนยากจนพิเศษผู้มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศยังคงอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่ลูกหลานอาจหลุดจากระบบการศึกษา คำของบประมาณปี 2567 คณะกรรมการบริหาร กสศ. จึงเห็นควรเสนอเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค ขึ้นอีก 750-1,050 บาทต่อเทอม ตามระดับการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึง ม.ต้น เพื่อบรรเทาปัญหาค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนยากลำบากร้อยละ 15 ที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 54 วรรคหนึ่ง
โดยงบประมาณปี 2567 มุ่งเน้นทำงานร่วมกับหน่วยงานหลัก เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา กลไกส่งต่อให้เข้าสู่การศึกษาสูงกว่าภาคบังคับจนถึงอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ ทั้งยังช่วยเด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลับเข้าสู่การเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิตตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ ยังครอบคลุมด้านการฟื้นฟูการเรียนรู้จากผลกระทบโควิด-19 ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สนับสนุนการกระจายอำนาจแก้ความเหลื่อมล้ำในระดับจังหวัดและพื้นที่ รวมถึงการหนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและยกระดับศักยภาพครู ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในภาพรวมของประเทศ
ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ข้อเสนองบประมาณดังกล่าว ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากทุกภาคส่วนในสังคมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ กสศ. ยังได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า สำรวจความเห็นประชาชนร่วมกันออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 1,310 คนทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 15-60 ปีขึ้นไป สำรวจความเห็นผ่าน 3 คำถามสำคัญ ประกอบด้วย ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเรื่องใดที่เห็นว่าต้องเร่งแก้ไข พบว่า ความเห็นอันดับ 1 ร้อยละ 24.99 มองว่าปัญหาคุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนที่ไม่เท่าเทียมกัน อันดับ 2 ร้อยละ 17.39 ปัญหาด้านคุณภาพและทักษะการสอนของครู และอันดับ 3 ร้อยละ 15.04 ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงเกินจะแบกรับ
เมื่อถามว่า นโยบายหรือมาตรการแก้ปัญหาใดที่เห็นว่าควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว อันดับ 1 ร้อยละ 21.87 เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทางการศึกษาให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อันดับ 2 ร้อยละ 20.69 จัดให้มีสวัสดิการด้านการศึกษาอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในเมืองและนอกเมือง อันดับ 3 ร้อยละ 10.97 ปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงเรียนตามความจำเป็นที่แท้จริง และเมื่อสำรวจความเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายใดที่ต้องเร่งช่วยเหลือด้านการศึกษา อันดับ 1 ร้อยละ 34.89 คือกลุ่มการศึกษาภาคบังคับ (ระดับอนุบาลถึง ม.ต้น หรืออายุ 6-15 ปี) อันดับ 2 ร้อยละ 31.68 กลุ่มเยาวชนและแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการศึกษา อันดับ 3 ร้อยละ 19.54 กลุ่มปฐมวัยระดับเตรียมอนุบาลถึงอนุบาล อายุ 2-5 ปี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามเห็นชอบแผนการใช้เงิน กสศ. ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 7,985,786,100 บาทแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีเตรียมพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (24 มกราคม 2566)