ไม่พบผลการค้นหา
'สมชัย' ไล่ไทม์ไลน์ 'ชวน' ทำหน้าที่ขัด รธน. ชิงส่ง ศาล รธน. พิจารณา พ.ร.ก.อุ้มหายฯ ชง ป.ป.ช. ฟันผิดหรือไม่

วันที่ 9 มี.ค. เวลา 11:30 น. ที่พรรคเสรีรวมไทย บางขุนนท์ กทม. สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงการทำหน้าที่ของ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในการประชุมเพื่อพิจารณาพรก.อุ้มหายฯ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า เป็นการทำหน้าที่ที่ผิดรัฐธรรมนูญ 

สมชัย ระบุว่า ช่วงการพิจารณาที่ ส.ส.ได้อภิปรายร่าง พรก.ดังกล่าว และมีความเป็นไปได้ว่าจะลงมติคว่ำร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเมืองที่นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ ด้วยการอ้างว่ามี ส.ส. ฝั่งรัฐบาลเข้าชื่อเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การที่ ประธานสภาฯ แจ้งต่อที่ประชุมสภาฯว่ามี ส.ส. 115 คนเข้าชื่อกันแล้ว และขอให้ยุติการอภิปรายในเวลา 13.19 น. แต่เมื่อตรวจสอบไทม์ไลน์กระบวนการยื่นคำร้องเสนอชื่อ ปรากฏว่า ชวน ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาฯ ก่อนเวลาที่หนังสือของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลส่งมาถึง

โดย สมชัย ชี้แจงลำดับเวลาการยื่นเรื่อง ว่า ส.ส. 115 คน ได้ส่งคำร้องต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ในเวลา 11.09 น. และส่งต่อไปยังสำนักงานประธานสภาฯ เวลา 11.22 น. จากนั้นส่งต่อไปยังกลุ่มประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เวลา 11.32 น. เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อและลายเซ็น ซึ่งพบว่า ใน 115 ชื่อ มีชื่อไม่ตรง 14 ชื่อ เซ็นชื่อซ้ำ 1 ชื่อ จึงเหลือผู้ยื่นที่ถูกต้อง 100 คน และเมื่อตรวจสอบเสร็จ ก็ได้ส่งให้รองเลขาธิการสภาฯ เซ็นรับ ในเวลา 13.00 น. จากนั้นส่งต่อไปยังเลขาธิการสภาฯ ในเวลา 13.20 น. และส่งให้กลุ่มงานประธานสภาฯ เพื่อมห้ประธานสภาฯ รับทราบในเวลา 13.35 น. แต่ ชวน กลับแจ้งที่ประชุมในเวลา 13.19 น. จึงสงสัยว่าทราบล่วงหน้าได้อย่างไรถึง 16 นาที ในเมื่อเอกสารคำร้องยังมาไม่ถึง

สมชัย กล่าวว่า เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา หากประธานสภาฯ รับเรื่องและออกหนังสือส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญก่อนมาแจ้งให้ที่ประชุมได้รับทราบ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 173 กำหนดให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญและให้รอการพิจารณา แต่ประธานกลับแจ้งที่ประชุมก่อนส่ง นอกจากนี้ ยังพบว่า ในวันต่อมาโฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎรได้แถลงข่าวว่าประธานสภาลงนามส่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ 

"ท่านอาจช่วยรัฐบาลไม่ให้แพ้โหวตในสภาฯ แต่รวบรัดรัดผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 ป.ป.ช.ต้องไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจที่ขัดรัฐธรรมนูญ ถ้าป.ป.ช.ไต่สวนแล้วมีมติว่าผิด ก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ซึ่งหากศาลเห็นว่าผิด จะสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี" สมชัย กล่าว

ทั้งนี้ สมชัย กล่าวว่า จะมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ร่วมประชุมพิจารณาร่าง พรก.ดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งหากพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นด้วย ก็จะยื่นต่อ ป.ป.ช. แต่ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ตนอาจจะยื่นคนเดียว ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ ป.ป.ช.วินิจฉัย ว่าเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่