วันที่ 26 มกราคม 2568 นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนเองพร้อมด้วย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมงานแสดงแฟชั่นโชว์ Lalalove Me Like You Do S/S 2025 ของแบรนด์แฟชั่น LalaLove โดยคุณลินดา เจริญลาภ ที่่ Soho House Bangkok เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 เพื่อผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่น พร้อมกับเฉลิมฉลองความสำเร็จของ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่พรรคเพื่อไทยผลักดันจนสำเร็จเป็นจริง
นางสาวจิราพร กล่าวว่า ชื่นชมผลงานของดีไซน์เนอร์เป็นอย่างมากที่นำเอาผ้าไทยมาผสมผสานกับวัสดุงานฝีมือจากกรมราชทัณฑ์ออกแบบเป็นแฟชั่นร่วมสมัยได้อย่างสวยงามและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ อันจะเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนของไทยให้เห็นว่า ผลงานของดีไซน์เนอร์ไทยสามารถยืนในเวทีโลกได้จริงอย่างสง่างาม”
ขณะที่ นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า การแสดงโชว์เสื้อผ้าครั้งนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ใช่แค่การออกแบบเพื่อความสวยงาม หรือการสวมใส่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นศิลปะที่แสดงถึงคอนเซ็ปต์และเรื่องราวของที่มาของวัสดุ ที่ทำให้แบรนด์ไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและโดดเด่น ดิฉันขอชื่นชมในความตั้งใจของแบรนด์ในการสนับสนุนให้คนทุกเพศและความรักทุกรูปแบบควรได้รับการรับรองอย่างเท่าเทียม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร
ทั้งนี้ LalaLove เป็นแบรนด์แฟชั่นที่ก่อตั้งโดยคุณลินดาเมื่อปี 2009 ที่กรุงลอนดอน ด้วยการออกแบบข้ามขอบเขตจากความเป็นแฟชั่นทั่วไป มีความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ และจินตนาการที่แปลกใหม่ ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำวัสดุที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้กลายเป็นผลงานที่ไม่เพียงแต่สวยงาม แต่ยังมีคุณค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ผ้าจากชุมชน เช่น ผ้าขาวม้า หรือผ้าจากชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งทำให้ผลงานเป็นมิตรกับโลก และยังช่วยสร้างงานและโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆด้วย ปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้แบรนด์ LalaLove ได้รับความนิยมทั้งในประเทศไทยและระดับสากล
งานแสดงแฟชั่นโชว์ครั้งนี้วางอยู่บนแนวคิด 4-S คือ Soft Power: การส่งเสริมเอกลักษณ์ของผ้าไทยสู่เวทีโลก โดยการผสมผสานความงามของวัฒนธรรมไทยเข้ากับเทรนด์แฟชั่นสมัยใหม่อย่างลงตัว เพื่อสร้างผลงานที่ทันสมัยและน่าดึงดูด, Second Chance: การให้โอกาสแก่ผู้ต้องขังหญิงในการรังสรรค์วัสดุทำมือ เพื่อนำมาต่อยอดในการทำผลิตภัณฑ์แฟชั่น อันจะเป็นสร้างโอกาสสร้างรายได้ที่เป็นธรรมแก่ผู้ต้องขังหญิง และเพิ่มโอกาสในการมีทำงานหลังพ้นโทษ, Sustainable Shift: ว่าด้วยการเลือกใช้ใยผ้าจากธรรมชาติ และใยผ้าที่ทำจากขวดพลาสติกที่เป็นขยะอยู่ในทะเล เพื่อลดโลกร้อน ส่งเสริมความยั่งยืน และเพื่ออนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, และ Social Synergy โอบรับความรักทุกรูปแบบ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความตระหนักรู้และยอมรับความแตกต่างหลากหลายในสังคม