น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 16 มิ.ย. 2563 ว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่าน 3 โครงการ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ และจะใช้งบประมาณสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท ระยะเวลา 4 เดือน (1 ก.ค.-31 ต.ค.2563) และเป็นเงินงบประมาณจากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
สำหรับ 3 โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน-ภาคเอกชน และกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน โดยใช้งบประมาณจากส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ 1 ล้านล้านบาท ดังนี้
หนึ่ง โครงการ 'กำลังใจ' รัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมประมาณ 1.2 ล้านคน ไม่เกินคนละ 2,000 บาท และต้องเดินทางท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2,400 ล้านบาท โดยให้ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มของธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มหลักของโครงการนี้
สอง โครงการ 'เราไปเที่ยวกัน' รัฐบาลจะสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะจ่ายร่วม (Co-pay) ในอัตราร้อยละ 40 ของค่าห้อง สูงสุดไม่เกินคืนละ 3,000 บาท ทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ล้านคืน หรือผู้ได้สิทธิสูงสุด 1 ล้านคน รวมทั้งสนับสนุนเงินค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการอีก 600 บาทต่อห้องต่อคืน ผ่านการลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" สูงสุดไม่เกิน 5 คืน ในจังหวัดที่ผู้ใช้สิทธิไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ส่วนนี้ใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท
สาม โครงการ 'เที่ยวปันสุข' รัฐบาลจะสนับสนุนการเดินทางของประชาชนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ผ่านการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่ง สายการบินในประเทศ รถขนส่งไม่ประจำทาง และรถเช่า โดยรัฐจะสนับสนุนในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ใช้งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเปิดให้ใช้สิทธิระหว่างโครงการเที่ยวปันสุขกับเราไปเที่ยวกัน โดยหากจองห้องพักในโครงการเราไปเที่ยวกัน จะได้รับสิทธิจองบัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับในประเทศ ในราคา 2,500 บาทอีก 1 สิทธิด้วย
สำหรับแนวทางการดำเนินการนั้น ทางธนาคารกรุงไทย จะจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อใช้เป็นช่องทางรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดโรมแรมที่พัก รายการนำเที่ยวจากบริษัทนำเที่ยว รายละเอียดบัตรโดยสารของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการเพื่อการตรวจสอบการจดทะเบียนตามกฎหมายร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จากนั้นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะนำเสนอรายละเอียดสินค้าและบริหารในแพลตฟอร์มตามข้อกำหนดด้านราคาที่กำหนดในรายละเอียดโครงการ
ส่วน ททท. จะดำเนินการสื่อสารโครงการเพื่อให้นักท่องเที่ยวแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ และ/หรือ ดำเนินการซื้อสินค้าและบริหารในแพลตฟอร์ม แล้วชำระค่าบริการตามข้อกำหนดด้านราคาที่กำหนดในรายละเอียดโครงการ แล้วจะได้รับสิทธิในการเข้าใช้บริการตามรายละเอียดแต่ละโครงการ
สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมทั้ง 3 โครงการ ธนาคากรุงไทย และ ททท. จะตรวจสอบรายการ และธนาคารกรุงไทยจะดำเนินการจ่ายงบประมาณให้แก่ผู้ประกอบการตามรายละเอียดการสนับสนุนงบประมาณในแต่ละโครงการ โดยมีข้อมูลระบุว่า มีที่พักที่อยู่ในรายการเข้าร่วมโครงการได้กว่า 24,700 แห่ง มีร้านอาหารเข้าร่วมโครงการได้กว่า 30,000 แห่ง
อย่างไรก็ตาม รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า โครงการนี้จะให้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ ส่วนรายละเอียดการลงทะเบียนและการรับสิทธิน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนเริ่มโครงการวันที่ 1 ก.ค. นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :