ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีอัยการสำนักงานยาเสพติด เสียดายไทยไม่เคยศึกษาวิจัยกัญชามาก่อน พร้อมหนุนใช้ทางการแพทย์ แต่ไม่ควรเปิดเสรี หวั่นกระทบเยาวชน ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เรียกร้องความชัดเจนเรื่องน้ำมันกัญชา วอนเปิดช่องกฎหมายให้ผลิตได้กว้าง

สำนักงานคดียาเสพติดและสำนักงานอัยการสูงสุด จัดเสวนาทางการแพทย์ "กัญชง กัญชา กระท่อม โอกาสและทางเลือก"

นางชนิญญา ชัยสุวรรณ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด กล่าวว่า มีพืชอีกหลายตัวที่มีคุณสมบัติทางยาได้นอกเหนือจากกัญชา ทั้งกัญชงและกระท่อม รวมถึงใช้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2522 ที่ไทยประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติด ก็ไม่เคยมีการศึกษาวิจัยคุณสมบัติต่างๆ ของกัญชาเลย เพราะเมื่อถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายก็ไม่มีใครอยากแตะเพราะกลัวมีเรื่อง เหมือนทิ้งส่วนการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ไปเลย

"แม้กระทั่งตำราโบราณที่พูดเรื่องกัญชาก็ไม่ได้เอามาศึกษา และเมื่อจะมีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ ทางผู้เกี่ยวข้องจึงต้องไปดูงานใช้งานวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ"

นางชนิญญา ระบุว่า ต่างประเทศกำหนดกรอบการนำมาใช้ประโยชน์ หรือจำกัดจำนวนการครอบครองหรือปลูกในแต่ละครัวเรือน อย่างในประเทศแคนาดา ให้ปลูกได้คนละ 6 ต้นสำหรับกัญชา ดังนั้นการจะเปิดเสรีโดยไม่มีกรอบจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะส่งผลกระทบต่อเยาวชนที่อาจใช้เป็นยาเสพติดหรืออื่นๆ อย่างภาครัฐห่วงกังวล เนื่องจากส่งผลต่อพัฒนาการของสมองตามช่วงวัย ซึ่งสำนักงานยาเสพติดเป็นหน่วยงานตามกฎหมาย จึงต้องมาดูแลและจับมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชนตลอดจนผู้ที่มีประสบการณ์และองค์ความรู้มาพูดคุยกัน เพื่อหาแนวทางใช้ประโยชน์จากกัญชาที่เป็นไปได้

อดีตผบช.น. หวั่นเสียโอกาส เรียกร้องรัฐแก้กม.ให้ชัด

ขณะที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันว่าจากที่ศึกษาและประสบการณ์รักษาคนมามากกว่า 10,000 คน นับแต่คนทั่วไปจนถึงนายตำรวจและนายทหาร โดยใช้สมุนไพรหลายชนิดที่ช่วยละลายไขมันในร่างกายตามศาสตร์การเเพทย์แผนจีน ที่เน้นหลักเกี่ยวกับระบบหมุนเวียนเลือด มุ่งรักษาและปรับสมดุลผ่าน ซึ่งสมุนไพรไทยได้ผลดีรวมถึงน้ำมันกัญชาด้วย พบว่า แก้ความจำเสื่อม, โรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว, โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ตลอดจน โรคถุงลมโปร่งพองและมะเร็งปวด เพียงใช้น้ำมันกัญชาที่มีมาตรฐานตามปริมาณที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป แต่ปัจจุบันการเข้าถึงยังยากอยู่ 

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการเสวนาโดยเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะในด้านกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้มีการสกัดน้ำมันกัญชาที่ได้มาตรฐานอย่างกว้างขวาง

"จากประสบการณ์รวมถึงเป็นที่รับรู้ทั่วกันแล้วว่า เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ ซึ่งหากทำช้าเกินไปก็จะเสียโอกาส และมองว่าการแจกจ่ายน้ำมันกัญชาโดยกระทรวงสาธารณสุขเพียงไม่กี่พันขวดนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยในประเทศ"

ภาคประชาชน ยกผลวิจัยชี้สมุนไพรปลอดภัย

นายศุทธา ปริยวัฒน์ จากมูลนิธิพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวเสริมว่า สมุนไพรไทยมีคุณสมบัติทางยาในแต่ละชนิดถึง 75% หลายตัว ไม่เพียงแต่กัญชาเท่านั้น ที่ควรนำมาศึกษาวิจัยและพัฒนาควบคู่กันไปด้วยซึ่งจะเกิดประโยชน์มหาศาล สำหรับสมุนไพร 3 ตัวนี้ เป็นที่พูดถึงมากช่วงหลัง เพราะมีกระแสของโรคมะเร็งและโรค NCD คือ โรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่ออย่างเบาหวาน, ความดัน และโรคซึมเศร้า อีกอย่างคือ การรักษาโรคด้วยสมุนไพรไม่ค่อยมีผลข้างเคียงต่อตับและไต ต่างจากยาปฏิชีวนะในแผนปัจจุบัน

พืช 3 ชนิดนี้มีสารที่เป็นตัวยาถึง 200-300 ตัว แต่หลักๆ ใช้ 2 ตัวคือ CBD ซึ่งไม่มีผลทางสมองที่ช่วยแก้อาการ ลมชัก, พาร์กินสันและโรคสะเก็ดเงิน กับสาร THC มีตัวยาต้านมะเร็ง มีผลต่อสมองและประสาทส่วนกลาง โดยรวมประโยชน์ทางการแพทย์ช่วยแก้ปัญหาสมองฝ่อ, ความจำเสื่อม, เบาหวานและมะเร็งบางตัวได้แน่นอน แต่ "น้ำมันกัญชา" มีคุณสมบัติเพื่อปรับสมดุลร่างกายมากกว่าใช้รักษาโรค คือช่วยในเรื่องการสร้างหรือปรับความสมดุลของระบบประสาทให้แข็งแรง จากภาวะเสื่อมสภาพตามอายุหรืออื่นๆ

"กัญชง กัญชาและกระท่อม มีผลข้างเคียงจากการใช้ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มใช้ใหม่ๆ จะเกิดอาการใจสั่น และความดันลดกระทันหันรวมถึงปัญหาเกี่ยวกับสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหว อาจรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวสั่นหรือช้าเกินกว่าปกติ แต่ภาวะนี้ดื่มน้ำมะนาวและกาแฟแก่ๆ จะช่วยลดฤทธิ์เมากัญชาได้ ที่สำคัญส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง หากใช้เสพในหมู่เยาวชนหรือผู้มีอายุไม่ถึง 20 ปี และหากมีภาวะเสพติด ก็จะหงุดหวิด กระทั่งประสาทหลอนได้เช่นกัน ซึ่งงานวิจัยพบเพียง 7-10 % ที่มีผู้ติดกัญชาจากการใช้ยาที่ผลิตจากกัญชา"

ทั้งนี้ปัจจุบัน มี 2 ประเทศคือ อุรุกวัยกับแคนนาดาที่ปลดล็อกกัญชา 100 % โดยให้ค้าขายหรือพกพาและใช้เพื่อสันทนาการได้อย่างเสรี ขณะที่สหรัฐอเมริกามี 4 รัฐเปิดเสรี 100 % อีก 30 รัฐ อนุญาตให้ใช้ทางการเเพทย์ เช่นเดียวกับอีก 40 ประเทศ ส่วนในมิติพืชเศรษฐกิจ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ทำรายได้ 158,000 ล้านบาทต่อปีจากกัญชา โดยประเมินว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า ธุรกิจกัญชาทั่วโลกจะทำรายได้ถึง "1.9 ล้านล้านบาท" เพียงแค่ไทยเลือกโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม อย่างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ก็จะได้ประโยชน์มหาศาล