ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศชี้ ไทยควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี แต่มีเหตุการณ์น่ากังวลควบคู่กัน คือ การชุมนุมทางการเมืองและ ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ ซึ่งประเด็นปากท้องจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยยาวนานยิ่งกว่าโรคระบาดและความขัดแย้งทางการเมือง

โทมัส พาร์ก ผู้แทนมูลนิธิเอเชีย ประจำประเทศไทย เผยแพร่บทความ Thailand's real cricis is the economy ในเว็บไซต์นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิว ประเมินสถานการณ์ประเทศไทย โดยระบุว่า เวลาที่รัฐบาลไทยจะใช้จัดการปัญหาเศรษฐกิจนั้นงวดลงทุกๆ ที เพราะสภาพเศรษฐกิจหดตัวทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในครัวเรือนไทยที่จัดทำโดยมูลนิธิเอเชียช่วงที่ผ่านมา พบว่า 2 ใน 3 ของประชากรวัยทำงานในไทย มีรายได้ลดลงเกือบ 50% หลังจากบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

บทความของพาร์กระบุว่า ผลงานการควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาดในวงกวัางของรัฐบาลไทยได้รับคำชมอย่างมาก แต่ผลกระทบที่เกิดกับระบบเศรษฐกิจนั้นย่ำแย่เกินกว่าจะแก้ไขให้กลับมาดีดังเดิมได้ในเร็ววันได้

พาร์กระบุว่า การยกทีมลาออกของรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจเมื่อเดือน ส.ค. ทำให้เกิดภาพสะท้อนว่าไม่มีใครที่จะสามารถจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจหดตัวของไทยได้ และการที่ ‘ปรีดี ดาวฉาย’ ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลังจากปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 26 วันก็ยิ่งตอกย้ำว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤต

เศรษฐกิจ-ประชาชน-โควิด19

หากปล่อยให้วิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรัง จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ไดัรับผลกระทบทางเศรษฐกิจเข้าร่วมกลุ่มกับนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิทางการเมืองจากรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนจะมีการพบโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมาตรการแจกเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทแก่ผู้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวก็สิ้นสุดลงไปเมื่อเดือน ก.ค. ทำให้คนที่ต้องสูญเสียรายได้หรือคนที่ตกงานเพราะมาตรการควบคุมโควิดราว 14 ล้านคน ไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก และผู้ประกอบการรายย่อยระบุว่าไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนของรัฐบาลได้

ล่าสุด รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการเงินช่วยเหลือระลอกใหม่แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเดือนละ 3,000 บาท แต่ยังมีข้อจำกัดว่าผู้ได้รับเงินรายเดือนจะใช้เงินเฉลี่ยได้วันละ 100-200 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถกระจายถึงกลุ่มประชากรได้อย่างทั่วถึง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้รับเงินลงทะเบียนผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนที่ผูกโยงกับธนาคาร ซึ่งอาจจะทำให้คนที่ไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ตกหล่นไปจากโครงการช่วยเหลือของรัฐบาล ทั้งยังมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทำให้ขาดตัวกลางที่จะเป็นเจ้าภาพดำเนินการอย่างชัดเจน

เศรษฐกิจ-อากาศร้อน-ดอกเบี้ย

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างอิงบทสัมภาษณ์ 'สุพันธุ์ มงคลสุธี' ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองของเหล่านักเรียนนักศึกษาในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวง่ายๆ เพราะภาพรวมการเมืองในไทยยังไม่มีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ การหวังพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ไม่สามารถทำได้ในปีนี้ เพราะไทยและอีกหลายประเทศยังคุมเข้มการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่

รอยเตอร์สรายงานอ้างอิงการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ จะอยู่ที่ 6.7 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมากจากสถิติ 39.8 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้คนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกิจการโรงแรมที่พักได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก และต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลเช่นกัน

ขณะนี้มีเพียง 12% ของกิจการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด แต่กิจการที่เหลืออีกราว 60% ยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัว และผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากตัดสินใจปิดกิจการ เพราประเมินแล้วคิดว่าเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวง่ายๆ และการปิดกิจการจะช่วยปลดภาระหนี้สินได้ง่ายกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: