ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการจีดีพีไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ปีหน้าวัดดวงกรอบอยู่ที่ร้อยละ 2.5-3.0 ชี้ภาครัฐเครื่องยนต์หลักดันเศรษฐกิจไม่หลุดกรอบล่าง ส่งออกปีหน้าติดลบต่อเนื่อง พร้อมชี้ 3 โจทย์หิน 'บาทแข็ง-ภัยแล้ง-ต้นทุนค่าจ้างแรงงาน' ฉุดการขยายตัวภาคธุรกิจ

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ร้อยละ 2.8 เนื่องจากปัจจัยการส่งออกชะลอตัวจากสงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็งค่า รวมถึงการลงทุนโดยรวมต่ำกว่าที่ประเมินไว้ รวมถึงความล่าช้าของการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2563 

พร้อมกับประเมินว่า ปี 2562 มูลค่าการส่งออกติดลบร้อยละ 2.5 ส่วนค่าเงินบาทเฉลี่ย ณ สิ้นปีนี้ จะหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าปีนี้ทั้งปีกระแสเงินทุนเคลื่อนไหลจะเป็นฝั่งไหลออกสุทธิอยู่ก็ตาม 

ส่วนคาดการณ์จีดีพีปี 2563 ประเมินว่าขยายตัวร้อยละ 2.7 จากกรอบการขยายตัวร้อยละ 2.5-3.0 โดยมีความหวังจากแรงหนุนภาครัฐ คือพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต้องมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสแรกปี 2563 และมีการเร่งรัดเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามค่าฐาน หากล่าช้ากว่านั้นจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไหลลงไปอยู่ที่กรอบล่างร้อยละ 2.5 ได้ 

ขณะที่คาดการณ์มูลค่าการส่งออกปี 2563 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยติดลบร้อยละ 1 (จากกรอบติดลบร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 1) ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ตลาดส่งออกของคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ, ยุโรป และจีน ชะลอตัว ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงในเวลาอันใกล้ พร้อมกันนั้นยังประเมินว่า ค่าเงินบาทยังอยู่ในแดนแข็งค่าไปจนถึงไตรมาส 1/2563 โดยคาดว่า อาจหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจากนั้น เงินบาทจะเคลื่อนไหวได้ทั้งสองทิศทาง ขึ้นอยู่กับการประกาศเรื่องนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยในปีหน้า 2 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าอีก ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงเกินดุล แม้จะเกินดุลลดลง แต่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้เงินบาทเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 29.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (จากกรอบ 29-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ได้  

"เศรษฐกิจปีนี้ยากแล้ว ปีหน้ายังยากอยู่ และเราคาดหวังลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งจากการผลักดันเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ให้ได้ร้อยละ 65 จากปีนี้ได้ร้อยละ 60 และพ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี 2563 บังคับใช้ภายในไตรมาสแรกปี 2563 เพื่อให้สามารถเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคการคลังต้องดูโปรแกรมเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ขณะที่การลดดอกเบี้ยนโยบายต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งแรกของปี 2563 จะเกิดขึ้นราวเดือน ก.พ. ซึ่งตอนนั้นจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปี 2562 และของเดือน ม.ค. เพื่อใช้ในการพิจารณาสถานการณ์แล้ว" น.ส.ณัฐพร กล่าว

พร้อมกับย้ำว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2563 มีผลกระทบต่อธุรกิจแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน ดังนั้นมาตรการทางการคลังที่จะออกมาในอนาคตเพื่อรับมือจึงต้องมีลักษณะเป็นมาตรการเฉพาะ โดยกลุ่มเปราะบางที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเป็นห่วง 3 กลุ่ม ได้แก่ หนึ่ง ภาคเกษตร เนื่องจากจะประสบปัญหาภัยแล้งที่หนักกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับการส่งออกภาคเกษตรยังไม่ดีขึ้น สอง ภาคการจ้างงาน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการจ้างงานใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และจะอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปถึงปีหน้าจนกว่าการส่งออกจะฟื้นตัว และสาม ภาคเอสเอ็มอี ที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่นขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 

"3 กลุ่มนี้มีปัญหามานานและมีมาตลอด เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และในเวลาที่สถานการณ์เศรษฐกิจมีปัจจัยเพิ่มเติมเฉพาะหน้า กลุ่มนี้จะยิ่งกระทบเพิ่มขึ้น และจำต้องประคับประคองกันไป" 

ค่าเงิน-ภัยแล้ง-ต้นทุนค่าจ้างแรงงาน : 3 โจทย์หินธุรกิจปี 2563

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีโจทย์หิน 3 ด้าน ได้แก่ 

โจทย์ที่หนึ่ง: ค่าเงินและเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะกระทบภาคการผลิต มีคำสั่งซื้อชะลอตัวลง ทำให้ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และกระทบการจ้างงานต่อเนื่องจากปีนี้ ที่การจ้างงานใหม่ลดลง 100,000 ตำแหน่ง หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็จะทำให้การจ้างงานในภาคการผลิตปีหน้าหายไปเพิ่มอีก 30,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มเกษตร รถยนต์ และท่องเที่ยว เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก และใช้วัตถุดิบในประเทศซึ่งก็จะไม่ได้อานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินบาทมาช่วยอยู่ดี 

โจทย์ที่สอง: ภัยแล้ง ซึ่งจากการประเมินน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในขณะนี้ พบว่าปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ น้อยกว่าเดิม และคาดว่าจะทำให้ปีหน้าประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา และจะมีกระทบให้ผลผลิตภาคการเกษตรหดตัวร้อยละ 2 ซึ่งจะทำให้ฉุดรายได้เกษตรกรปีหน้าทรงตัวหรืออาจหดตัวร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าภัยแล้งอาจรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ได้ หากฝนไม่ได้มาตามฤดูกาล

โจทย์ที่สาม : ค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ (บอร์ดค่าจ้าง) ได้มีมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-6 บาท ทั่วประเทศ มีผลวันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยอัตราการเพิ่มค่าจ้างคิดเป็นร้อยละ 1.6 ซึ่งดูเหมือนไม่มาก และมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจในระดับที่ไม่เท่ากัน โดยธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะได้รับผลกระทบมาก ยิ่งมีความเสี่ยงสะสมเจอปัญหาหลายด้านทั้งการผลิต ภัยแล้ง คำสั่งซื้อลดลง เมื่อมาประสบกับต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจกลุ่มนั้นยิ่งได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งได้แก่ ธุรกิจเกษตร ค้าส่งค้าปลีก ร้านอาหาร ก่อสร้าง เป็นต้น

"3 โจทย์นี้จะกระทบกับภาคธุรกิจ และทำให้ภาพรวมแล้วธุรกิจส่วนใหญ่มีอัตราการเติบโตชะลอตัวลง โดยภาคที่น่าห่วงที่สุดคือ ภาคเกษตรเพราะจะเจอทั้งภัยแล้ง ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้น และส่งออกหดตัว ขณะเดียวกัน ยังพอมีธุรกิจที่พอจะขยายตัวได้ แต่ก็เป็นการขยายตัวแบบชะลอ ได้แก่ ท่องเที่ยว ค้าปลีกออนไลน์ โรงพยาบาล โลจิสติก เป็นต้น" น.ส.เกวลิน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :