นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่มีขนาดเล็กและกลาง ขณะนี้พบว่ามีการเลิกจ้างงานแล้วกว่า 7 ล้านคน โดยในจำนวนที่ถูกเลิกจ้าง 6 ล้านคนมีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จากแรงงานในระบบทั้งหมด 38 ล้านคน
ทั้งนี้ประเมินว่าตัวเลขการเลิกจ้างมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น หากสถานการณ์โควิด-19 ลากยาวเกิน 6 เดือน ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมใหญ่ด้วย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก โดยขณะนี้ผู้ประกอบการยังคงชะลอการเลิกจากจ้างอยู่ ดังนั้นขอให้รัฐดำเนินวิธีปฏิบัติชัดเจน
“ถ้าสถานการณ์ลากยาวถึงปลายปีการเลิกจ้างมีมากกว่านี้แน่นอน รายใหญ่ที่ไม่นับโรงแรมก่อนหน้านี้จะโดนด้วย ตอนนี้ห่วงแค่วิธีปฏิบัติจะทำอย่างไรให้มีความชัดเจน” นายสุพันธ์ กล่าว
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันนี้ ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติม โดย ขอให้ภาครัฐพิจารณาให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับการชดเชยรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เนื่องจากพนักงานจะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์รับเยียวยา 5,000 บาท พร้อมอนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน
ส่วนมาตรการด้านผู้ประกอบการ ขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งหมด เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด นอกจากนี้ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเป็นร้อยละ 5 จากเดิมที่ลดร้อยละ 3 รวมถึงเพิ่มสภาพคล่องโดยการอัดฉีดวงเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 โดยให้ บสย.ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 80
ทั้งนี้ขอให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 รวมถึงลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 1 ให้เท่ากับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และบริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่างโควิด-19 ระบาด
ส่วนมาตรการด้านโลจิสติกส์ เสนอให้ ศบค. ประกาศมาตรการจากส่วนกลางเพื่อปฎิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันแต่ละจังหวัดมีการประกาศมาตรการไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหาในการขนส่ง โดยขอให้ กกร. มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการเพื่อให้สามารถปฎิบัติได้ด้วย
ทั้งนี้ กกร .ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะติดลบแน่นอน โดยจะมีการประเมินตัวเลขอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะนี้ที่การส่งออก จะติดลบร้อยละ 5-10 ส่วนเงินเฟ้อ ติดลบร้อยละ 1.5