ปม 'ตัวเลข' ผู้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในกรณีของ 'เกษตรกร' ซึ่งมีข้อมูลเปิดเผยออกจากมาจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. ก่อนหน้านี้ว่า พบข้อมูลรายชื่อบุคคลที่ซ้ำซ้อนในกลุ่มผู้ "มีทะเบียนเกษตรกร" และจะได้รับสิทธิรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท มากถึง 601,688 ราย แบ่งเป็น ซ้ำซ้อนกับฐานข้อมูลประกันสังคม จำนวน 329,114 ราย, ซ้ำซ้อนทะเบียนข้าราชการบำนาญ 84,471 ราย, ซ้ำซ้อนโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว 96,677 ราย และซ้ำซ้อนกับทะเบียนข้าราชการ 91,426 ราย
จากเป้าหมายการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภัยแล้งทั้งสิ้น 10 ล้านราย ใช้เงินทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
แม้สถานการณ์ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงการคลัง จะได้มีการดูข้อมูลรายชื่อ และทยอยจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่าน ธ.ก.ส. ในล็อตแรกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15-22 พ.ค. 2563 จำนวน 3,222,952 ราย วงเงิน 16,115 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังให้ข้อมูล
แต่ 'ปมปัญหารายชื่อผู้ได้รับสิทธิรับเงินที่ซ้ำซ้อน' ยังไม่จบ ขณะที่ เงินก้อนนี้คือ "เงินกู้" ที่ประชาชนทุกคนต้องร่วม "ใช้หนี้" ในอนาคต การคัดกรองการจ่ายเงิน จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องแม่นยำ
โดยเฉพาะการมี 'รายชื่อข้าราชการบำนาญและข้าราชการที่ยังมีเงินเดือนประจำ' มากถึง 1.75 แสนราย ที่มี 'ทะเบียนเกษตรกร' และเข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา ท่ามกลางคำถามจากคนอีกหลายล้านคนที่ไม่ได้เงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทนี้
แจง 5 ชุดข้อมูลชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเยียวยา ยืนยันเร่งกลั่นกรองไม่ซ้ำซ้อน
เช้าวันนี้ (22 พ.ค.) นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ตอบปมดังกล่าวว่า หลังจากมีมติ ครม.อนุมัติให้จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อการประชุมวันที่ 28 เม.ย. พอวันที่ 30 เม.ย. กระทรวงฯ ได้รวบรวมข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ 7 หน่วยงานในการดูแล ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมประมง, กรมปศุสัตว์, กรมหม่อนไหม, การยางแห่งประเทศไทย, ยาสูบแห่งประเทศไทย ในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง และสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย มาดู ซึ่งในตอนแรกได้รายชื่อมาประมาณ 10 ล้านกว่าราย จนกรองความซ้ำซ้อนแล้วจึงเหลือ 8.33 ล้านราย
อีกทั้งตาม มติ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ระบุไว้ชัดว่า การจ่ายเงินเกษตรกรต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน ไม่ซ้ำซ้อนกับผู้รับสวัสดิการข้าราชการบำนาญ ไม่ซ้ำซ้อนกับคนในระบบประกันสังคม ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ส่งข้อมูลไปที่กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 1 พ.ค.และได้ข้อมูลการตรวจสอบจากกระทรวงการคลังกลับมาวันที่ 8 พ.ค.ซึ่งข้อมูล ณ วันนั้นของโครงการเราไม่ทิ้งกันก็ยังไม่นิ่ง เพราะการเปิดทบทวนสิทธิยังดำเนินการอยู่
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ส่งรายชื่อไปตรวจสอบกับกรมบัญชีกลางเรื่องสวัสดิการข้าราชบำนาญ กับข้าราชการที่ทำงาน รวมถึงไปตรวจสอบรายชื่อกับประกันสังคมด้วย จนพบว่ามีรายชื่อซ้ำซ้อนกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 6 แสนราย
"รอบแรกเรา (กระทรวงเกษตรฯ) ส่งไปให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงิน 3.33 ล้านราย ถึง ณ วันนี้ วันที่ 22 พ.ค. ธ.ก.ส.จ่ายแล้ว 3,222,952 ราย ซึ่งถือว่า จ่ายได้ตามที่เราส่งไป ส่วนที่ยังไม่ได้จ่ายมีเรื่องของบัญชีเลขที่ไม่ตรง ซึ่งต้องติดตามกันอยู่" นายอนันต์ กล่าว
ส่วนชุดที่สอง ที่มีจำนวน 3,428,008 ราย ซึ่งอยู่ในยอดรวม 8.33 ล้านรายที่กรองรายชื่อแล้ว อันนี้อยู่ระหว่างดำเนินการส่งข้อมูลรายชื่อให้ ธ.ก.ส. จ่ายต่อไป ซึ่ง ธ.ก.ส. ก็จะทยอยจ่ายวันละ 1 ล้านราย เพื่อลดความแออัด และคาดว่า ธ.ก.ส. จะโอนเงินได้ช่วงวันที่ 25-29 พ.ค.นี้
อีกทั้งยังมีข้อมูลรายชื่อชุดที่ 3 ที่ สศก. ส่งไปให้กระทรวงการคลังตรวจสอบวันนี้ (22 พ.ค.) จำนวน 7 แสนราย เพื่อให้ไปคัดกรองดูว่ามีซ้ำซ้อนหรือไม่ ถ้ากระทรวงคลังตรวจสอบเสร็จแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ก็จะส่งรายชื่อที่กรองเสร็จแล้วให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงิน ต่อไป
ส่วนชุดที่ 4 คือกลุ่มที่แจ้งให้ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรช่วงระหว่างวันที่ 1-15 พ.ค. ที่ผ่านมา ชุดนี้จะมีจำนวนประมาณ 1.6 ล้านราย ซึ่ง สศก.จะตรวจสอบในช่วงต้นสัปดาห์หน้า (25 พ.ค.) แล้วส่งไปให้กระทรวงการคลังตรวจสอบเรื่องความซ้ำซ้อนแล้วนำรายชื่อนี้กลับมาเคลียร์ข้อมูล เพื่อพร้อมส่งให้ ธ.ก.ส. โอนเงินภายในเดือน พ.ค.โดยตั้งเป้าหมายว่า ทั้งหมดนี้จะได้รับเงินโอนงวดแรกภายในเดือน พ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม นายอนันต์ยอมรับว่า ยังมีข้อมูลรายชื่อค้างจากกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นเป็นข้อมูลชุดที่ 5 อีกประมาณ 1 แสนราย ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเมื่อปีที่ผ่านมา และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เนื่องจากยังไม่ได้ปลูกพืช ทางกระทรวงฯ จึงให้เกษตรกรกลุ่มนี้ ขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 15 พ.ค.ตามที่กำหนดเหมือนกลุ่มที่ปรับปรุงทะเบียนประจำปี แต่การตรวจแปลงจะดำเนินการเมื่อเกษตรกรมีการเพาะปลูกแล้ว ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ดังนั้นกลุ่มนี้ จึงจะขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ประมาณเดือน ก.ค.ซึ่งกระทรวงฯ พยายามจะดำเนินการให้ได้รับเงินเยียวยาให้ครอบคลุม ครบถ้วน ทั่วถึงและเป็นธรรมตามนโยบายของรมว.เกษตรฯ
"ส่วนกรณีข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนประจำ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา และสรุปกันแล้วว่า ข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนประจำ ไม่ควรได้รับเงินเยียวยาในส่วนนี้ ซึ่งในเร็วๆ นี้ ก็น่าจะมีมติ ครม.ออกมาชัดเจนในเรื่องนี้" นายอนันต์ กล่าว
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันด้วยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนรายชื่อเกษตรกรและส่งไปให้กระทรวงการคลังช่วยกลั่นกรองว่า มีอะไรซ้ำซ้อนบ้าง แล้วเราก็ดำเนินตามขั้นตอนที่คณะกรรมการเยียวยาฯ กำหนดมาให้ ดังนั้นจึงขอยืนยันว่า ที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงเกษตรฯ จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรให้ข้าราชการที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรนั้น ณ วันนี้ยังไม่มีการจ่ายเงินออกไป และยืนยันว่าดำเนินการตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาการใช้เงินกู้กำหนด เพราะเงินที่ใช้นี้เป็นเงินกู้
"คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ประชุมกันเมื่อวันที่ 21 พ.ค.และพูดกันชัดแล้วว่า ข้าราชการที่มีรายได้ประจำ 9.1 หมื่นรายนี้ ก็ไม่ควรได้รับเงินตรงนี้ ส่วนกรณีข้าราชการบำนาญมีเขียนชัดเช่นกันว่าไม่ได้ตั้งแต่ต้น" นายอนันต์ กล่าว
'เฉลิมชัย' โยนคกก.กลั่นกรองการใช้เงินกู้ เป็นคนสั่งจ่ายเงิน ไม่ใช่ ก.เกษตร
ฟากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกเอกสารข่าวเผยแพร่แก่สื่อมวลชนในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ระบุว่า ประเด็นการเยียวยาข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรว่า เรื่องดังกล่าว ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบการลงทะเบียนและรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการคัดกรองและตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน และตรวจสอบกับผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญ และระบบประกันสังคม ตามมติครม.เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ก่อนส่งกลับมาที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อส่งมอบข้อมูลรายชื่อต่อให้กับทาง ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงิน
"ขอชี้แจงว่า หน่วยงานที่กำหนดเกณฑ์และทำหน้าที่คัดกรองไม่ให้สิทธิ์ซ้ำซ้อน คือ กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ดังนั้นการจะจ่ายเงินเยียวยาให้ข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรหรือไม่นั้น การตัดสินใจเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ และต้องเป็นมติของคณะรัฐมนตรี หากทางคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นสมควรให้ได้รับสิทธิ์เยียวยา และเสนอให้ ครม. ให้มีมติออกมา กระทรวงเกษตรฯ พร้อมดำเนินการทันที เพราะมีฐานข้อมูลรายชื่อทั้งหมดแล้ว สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีตกหล่น" นายเฉลิมชัย กล่าว
รมว.เกษตรฯ ยังระบุถึงกรณีที่ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงข่าวว่า การตัดสินใจจ่ายเยียวยาให้ข้าราชการ เป็นอำนาจของกระทรวงเกษตรฯ นั้น เรื่องนี้ สศค. คงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะข้อเท็จจริง กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รวบรวมและส่งรายชื่อเกษตรกรให้กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและตรวจความซ้ำซ้อน ดังนั้นการตัดสินใจว่า จะมีการจ่ายให้ข้าราชการและอื่นๆ หรือไม่นั้น ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และที่สำคัญต้องมีการวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา กระทรวงเกษตรฯ รอเพียงการพิจารณาและการตัดสินใจของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร
"กระทรวงเกษตรฯ พร้อมดำเนินการทันทีเมื่อมีแนวทางที่ชัดเจน เพราะกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิทธิ์ของเกษตรกรทุกคนที่ขึ้นทะเบียน เพื่อรับการเยียวยาอย่างทั่วถึง รวดเร็ว ให้ทันตามกำหนดเวลา และที่สำคัญต้องไม่มีรายชื่อตกหล่น" นายเฉลิมชัย กล่าว
กรมประมงเปิดศูนย์รับอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกรถึง 5 มิ.ย.นี้
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลภาคการเกษตร จำนวน 8 หน่วยงาน ได้แก่ 1.สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด 2.สำนักงานประมงอำเภอและจังหวัด 3.สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและจังหวัด 4.สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขตหรือศูนย์เครือข่ายใกล้บ้าน 5.เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 – 4 6.สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด 7.การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดหรือสาขาใกล้บ้าน และ 8. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด บูรณาการร่วมกันเปิดให้บริการรับ "อุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร" ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด19 ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้วแต่ยังประสบปัญหาไม่ได้รับเงินเยียวยาจากสาเหตุต่างๆ
กรมประมง จึงได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์รับอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของกรมประมง ประกอบด้วย สำนักงานประมงอำเภอ 527 แห่ง และสำนักงานประมงจังหวัด 77 จังหวัด
พร้อมกับเปิดศูนย์ฯ เพื่อรับเรื่องอุทธรณ์เงินเยียวยาฯ ให้กับเกษตรกรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ที่มีปัญหาดังกล่าวข้างต้นตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยเกษตรกรสามารถเดินทางไปเขียนคำร้องได้ด้วยตนเองที่หน่วยงานทั้ง 8 หน่วยงาน ตั้งแต่บัดนี้ ไปจนถึงวันที่ 5 มิ.ย. 2563 ในเวลาราชการ ไม่เว้นวันหยุดราชการ
อย่างไรก็ตาม ก่อนเดินทางไปยื่นอุทธรณ์ขอให้เกษตรกรทุกท่านเข้าไปตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยาฯ ที่เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www.moac.go.th/ เพื่อจะได้ทราบว่าสิทธิการเยียวยาของตนเองอยู่ในขั้นตอนใด หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานประมงอำเภอ หรือ โทร. 0 2104 9444 (40 คู่สาย)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :