ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงคมนาคมประชุมหน่วยงานเสนอคำของบประมาณปี 2564 แล้ว ตั้งวงเงิน 5.14 แสนล้าน พบ รฟท. ขอมากสุดกว่า 9 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 16 เหตุลงทุนโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย-รถไฟทางคู่ เตรียมสรุป 14 ม.ค. ก่อนเสนอ ครม. 21 ม.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมกรอบคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของกระทรวงคมนาคมครั้งที่ 1 (3 ม.ค. 2563) ว่า หน่วยงานราชการ 8 แห่งและ รัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง ได้เสนอวงเงินคำของบปี 2564 เบื้องต้นที่ 514,535.16 ล้านบาท

แบ่งเป็นงบประจำ 124,105.10 ล้านบาท (ร้อยละ 24.12) งบลงทุน 390,430.06 ล้านบาท(ร้อยละ 75.88) โดยเป็นการลงทุนทางบกมากที่สุด 340,283.25 ล้านบาท (ร้อยละ 66.13) ทางราง 141,121.49 ล้านบาท (ร้อยละ 27.43) ทางอากาศ 18,859.90 ล้านบาท(ร้อยละ 3.67) ทางน้ำ 12,597.60 ล้านบาท (ร้อยละ 2.45) และด้านนโยบาย 1,672.92 ล้านบาท (ร้อยละ 0.33)

สำหรับกรอบงบปี 2564 จำนวน 5.14 แสนล้านบาท ยังเป็นกรอบคำขอเบื้องต้น โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอวงเงินเพิ่มขึ้นมากที่สุด 90,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 7.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เนื่องจากมีการลงทุนโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟทางคู่กว่า 2.7 หมื่นล้านบาท และยังครบกำหนดการชำระเงินกู้ 3.7 หมื่นล้านบาท เงินอุดหนุนเพื่อชดเชยค่าบริการเชิงสังคม (PSO) ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เสนอกรอบคำขอ จำนวน 16,000 ล้านบาท เนื่องจากมีโครงการปรับปรุงขยายความยาวรันเวย์ และอาคารผู้โดยสาร สนามบินภูมิภาคหลายแห่ง เช่น สนามบินตรัง นครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีเหตุผลความจำเป็น เนื่องจากประเทศไทยมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว และมีการเดินทางโดยเครื่องบินถึงร้อยละ 90 โดยให้ตรวจสอบว่ามีความพร้อมที่จะดำเนินการ 

ส่วนกรมเจ้าท่า (จท.) เสนอคำขอ ปี 2564 จำนวน 12,000 ล้านบาท  

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณคอขวด โดยเฉพาะช่วงที่มีการเดินทางคับคั่ง เช่น เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา และการเชื่อมต่อถนน ของ ทล.และทช. การเชื่อมต่อระหว่างถนนกับท่าเรือ, สถานีรถไฟฟ้ากับถนนและท่าเรือ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง

นอกจากนี้ การจัดทำคำของบประมาณสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีกว่า 30 โครงการ จะต้องมีแนวทางการบริหารงาน 6 มิติ รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขณะดำเนินการก่อสร้าง โครงการ และส่งผลกระทบต่อประชาชน

ทั้งนี้ การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ของกระทรวงคมนาคม พิจารณาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) และข้อมูลที่รับทราบจากการประชุมสภาผู้แทนราษฏร โดยมอบให้หน่วยงานในสังกัดเสนอรายละเอียดและการปรับปรุงคำของบประมาณ และเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 14 ม.ค. 2563 เพื่อสรุปเสนอสำนักงบประมาณ ในวันที่ 21 ม.ค. 2563