ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ 'ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ' อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และผู้เป็นส่วนหนึ่งในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ 14 ตุลา วันมหาวิปโยค รวมถึงบทวิเคราะห์การเมืองไทย จากชัยชนะ และการต่อสู้ของประชาชน เหตุใดเราถึงเดินมาสู่จุดที่ประชาธิปไตยยังเลือนลาง

'ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ' อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เริ่มเล่าว่า เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2511 ซึ่งเป็นปีที่รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างนานที่สุด กว่า 9 ปี ประกาศใช้

"ผมเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ พร้อมกับรัฐธรรมนูญคลอดออกมาในฉบับหลัง 2501 ต่อมา ผมได้ทุนปี 2513 ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ปี 2512 มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ผมก็ไปเลือกตั้งตอนแรกในช่วงนั้นด้วย มีรัฐบาลซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี (ต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ที่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ คล้ายๆ กับในตอนนี้ ซึ่ง ผบ.ทบ. ก็ย่อมเป็นนายกฯ ตามประเพณีไทย รัฐบาลก็อยู่มาได้สัก 2 ปี พอปี 2514 จอมพลถนอมประกาศรัฐประหารตัวเอง ตอนนั้นผมอยู่อเมริกา พวกนักศึกษาไทยที่อยู่ในอเมริกาก็เริ่มมาคุย ปรับทุกข์กันต่างๆ ว่า ทำไมประชาธิปไตยบ้านเรามันถึงได้ทุลักทุเลแบบนี้ ใช้มาได้แค่ 2 ปีเองหรือ กลับไปสู่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็ไม่มีรัฐธรรมนูญด้วย นี่คือที่มาของ กลุ่มนักศึกษาไทยในต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกา ที่เริ่มเกาะกลุ่มกันพูดถึงปัญหาบ้านเมือง เราเขียนเป็นจดหมาย บทความลงตีพิมพ์ในวารสารในเมืองไทย"


ปฐมบท '14 ตุลา' ไล่นักศึกษารามฯ – จับคนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ในปี 2516 มีการจัดทำหนังสือ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" เปิดโปงเรื่องราวที่ทหารใช้เฮลิคอปเตอร์กองทัพบกเข้าไปล่าสัตว์ ที่ทุ่งใหญ่ นเรศวร มีการจำหน่ายในราคา 5 บาท 5,000 เล่ม หมดอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และได้รับการขยายผลต่อโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงไล่นักศึกษา 9 คน ออกจากมหาวิทยาลัย นักศึกษาจึงรวมตัวกันไปประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนสามารถไล่อธิการบดีได้ ทำให้นักศึกษา 9 คน ได้กลับมาศึกษาต่อ และยื่นข้อเรียกร้องรัฐบาลเพิ่มว่า อีก 3 เดือน ขอให้มีรัฐธรรมนูญ

ธเนศ เล่าว่า "พอปี 2516 ผมเรียนจบพอดี ก็เดินทางกลับมา แต่ว่าก่อนกลับรู้ว่ามันมีการประท้วงใหญ่ ของนักศึกษา ซึ่งช่วงนั้น ปี 2514 เขาก็ไม่ประท้วง ทำอะไรมากไม่ได้ แต่ปี 2515 มีมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยเปิด คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมีนักศึกษาเยอะมาก แล้วนักศึกษาก็ออกมาทำกิจกรรม แบบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และมีการทำหนังสือวิจารณ์ฝ่ายรัฐบาล หนังสือเกี่ยวกับทุ่งใหญ่ ซึ่งเจ้าหน้าที่นำโดยลูกชายจอมพลถนอม ที่เฮลิคอปเตอร์ตก แล้วก็เลยความแตก ก็เลยรู้ว่า อ่อ...ไปล่าสัตว์ ไม่ได้ไปทำกิจกรรมทางการปกครองจริงๆ ก็เป็นข่าวใหญ่ รัฐบาลก็บีบอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ไล่พวกที่ทำหนังสือ 9 คน ออก เพราะฉะนั้น นักศึกษาก็เลยรวมตัวกัน ไปประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันนั้นเป็นครั้งแรกนะ ตั้งแต่ปี 2511 มา ก่อนนั้นก็ไม่ได้มีการใช้อนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์ แล้วเป็นการประท้วงข้ามคืนด้วย ส่วนใหญ่ประท้วงก็ไม่เกินวันหนึ่ง เย็นก็กลับแล้ว เพราะว่ามันไม่มีที่อยู่ แต่อนุสาวรีย์มันนอนได้ นักศึกษามาเยอะ คนก็มาดูเยอะ อันนั้นคือบทเรียน โดยไม่ได้ตั้งใจ นักศึกษาก็รู้ว่ามันมีวิธีการ มีหนทาง รัฐบาลตอนนั้นเลยยอมปล่อยนักศึกษา 9 คน นักศึกษาก็ยื่นข้อเรียกร้องว่า อย่างนั้นอีก 3 เดือน ขอรัฐธรรมนูญด้วยนะ"

เร่งรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาญาติ 14 ตุลา

(ภาพเหตุการณ์การชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญในปี 2516 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา)

ธเนศ เล่าต่อว่า เดือนตุลาคม 2516 เรารู้ว่าจะไม่ได้รัฐธรรมนูญ ถามรัฐบาลยังไงก็บอก รอไปก่อน ยังไม่ได้ร่างเลย ไม่รู้มันจะออกมาได้อย่างไร ก็เลยไปตั้งกลุ่ม เรียกว่า กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เสร็จแล้วเราก็ไปเดินแจกใบปลิว ผมก็ไปเดินด้วยกัน แล้ววันที่ไปแจกคือ วันที่ 6 ตุลาคม 2516 วันนั้นเป็นวันเสาร์ เริ่มตรงอนุสาวรีย์ทหารอาสา ตรงหน้าโรงละครแห่งชาติ ตรงมุมที่จะเดินเข้าสนามหลวงพอดี ตอนนั้นมีตลาดนัดสนามหลวงทุกเสาร์อาทิตย์ มันถึงต้องไปวันเสาร์ไง คนเยอะมาก เดินเข้าไปแล้วแจก พ่อค้าแม่ค้าก็ต้อนรับอย่างดี เราคุยไปเรื่อยว่า ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ ทุกคนก็เห็นด้วย แจกหมดไปหนึ่งรอบ เดินไปแจกต่อที่บางลำภู แจกสักชั่วโมงหนึ่งก็หมดอีกแล้ว ตามสี่แยก แจกบนรถเมล์บ้าง คนก็มาแห่ดูกันเยอะนะ แต่ที่บางลำภู ตำรวจ สน.ชนะสงคราม มาประกบแล้วทีนี้ ตอนแจกที่สนามหลวงมีแต่สันติบาลเดินตาม ถ่ายรูปไป ก็ไม่มีอะไร แต่พอบางลำภู คนเริ่มเกาะกลุ่มดูว่า เราทำอะไร รถตำรวจก็วิ่งมาละ เริ่มส่งสัญญาณ โทรศัพท์หากันใหญ่ละว่า ทำอะไรกัน แล้วตำรวจชนะสงครามก็บอก พี่ๆ น้องๆ รีบไปกัน นายเขาสั่ง อยู่ทำไมกันแถวนี้ เราก็เลยบอกโอเค แจกอย่างเดียวไม่มีอะไร ก็เลยไปประตูน้ำ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่

พอเดินเข้าประตูน้ำ ตำรวจมาปิดซอย แต่ผมเดินอ้อมไปอีกซอยหนึ่ง ยังไม่ทันเข้าเลย นักศึกษารามฯ ก็วิ่งมาบอกถูกจับหมดเลย เราก็บอกงั้นไม่ต้องเข้า ยืนรออยู่ข้างนอก ผมก็เลยไม่โดนจับ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ 13 กบฏรัฐธรรมนูญ ที่ถูกจับไป มีทั้งนักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์ ข้อหามันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก่อความไม่สงบต่างๆ แล้วก็มาเพิ่มข้อหาการเมือง ข้อหากระทำการคอมมิวนิสต์ อันนี้ที่แรงมาก และทำให้นักศึกษาทั้งหลายรู้สึกว่า ถ้าปล่อยไว้ มันก็ต้องขึ้นไปถึงศาล ต้องเข้าคุกอ่ะ ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ข้อหานี้คือติดคุกลาดยาว

แล้วในที่สุดเราก็กลับ แล้วไปรวมกับสภาหน้าโดม แล้วก็คุยกันว่าจะทำอย่างไร จะช่วยพวกที่ถูกจับ ก็เลยจัดอภิปรายในธรรมศาสตร์ หลังจากที่หน้าลานโพธิ์ที่กลุ่มเล็กๆ 10-20 คน แล้วค่อยๆ ขยายเป็น 50 คน เป็น 100 คน แล้วก็ย้ายไปเวที ที่สนามฟุตบอล ทีนี้คนมาเป็นร้อย เป็นพัน แล้วมันไปทุกวัน จนวันที่ 12-13 ตุลาคม 2516 ที่เริ่มเดิน ตอนนั้นมันมีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาอยู่แล้ว ศูนย์กลางฯ ก็เลยเข้าเป็นเจ้าภาพ จัดการดูแลการชุมนุม เพราะคนมาเป็นแสนตอนนั้น

สมัยนั้นมีสภาหน้าโดมคืออะไร?

"พรรคพวกส่วนใหญ่ที่ทำสภาหน้าโดม เป็นกลุ่มนักศึกษา มานั่งคุยกันหน้าตึกโดม แล้วเราก็เรียกสภาหน้าโดม เราก็สมมติตัวเองว่าอยู่ในสภา ทุกวันศุกร์ตอนบ่ายเราก็จะนั่งคุยกันเรื่องการเมือง แล้วเชิญใครที่สนใจอภิปรายการเมือง ก็จะมานั่งคุย เป็นเวทีเล็กๆ"

ธเนศ เล่าต่อว่า "คุณไขแสง สุกใส ซึ่งตอนนั้น เป็นอดีต ส.ส. แกก็มามอบตัว แกไม่ได้อยู่ในข่ายถูกจับ แต่พอรู้ว่านักศึกษาถูกข้อหาคอมมิวนิสต์ แกถือแคน เข้ามามอบตัวที่โรงพัก ตอนหลังพอเรื่องมันผ่านไปแล้ว แกบอกว่า แกมาเพราะสงสาร ที่ถูกจับ ว่ามันจะเอาตัวไม่รอดในคุก เพราะแกเคยอยู่ในคุกมาหลายปี แกเลยมาเป็นพี่เลี้ยง คือมาถูกขังด้วย ก็จะได้อยู่ด้วยกัน มาช่วยดูแล แต่การชุมนุมประท้วง มันจุดติดก่อน

เปลี่ยนการพัฒนาเหมือนที่เราเชื่อมาแต่ก่อน ทุกอย่างมันกำลังไปในทางที่ไม่เป็นผลดี อันนี้คือพูดแล้วคนรับเลย เพราะตอนนั้น ข้าวแพง ข้าวขาดตลาด ชาวบ้านเข้าแถวซื้อข้าว ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วกรรมกรก็ตกงาน ค่าแรงก็ไม่มี แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่ องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) ขึ้นราคาน้ำมันด้วย เหตุการณ์ภายนอกประเทศก็แรง ทำให้รัฐบาลกังวล กลัวเสถียรภาพสั่นคลอน ที่สำคัญคืออเมริกา ที่นำโดยประธานาธิบดี 'ริชาร์ด นิกสัน' เปิดสัมพันธ์ คบค้ากับจีน แล้วเรายังโจมตีจีน เรียกจีนแดง เรียกคอมมิวนิสต์ อยู่เลย รัฐบาลต้องปราบ ตกลงแล้วรัฐบาลไทยจะทำอย่างไร แล้วก็คิดว่านักศึกษาอาจจะฉวยโอกาส เขาคงกลัวว่านักศึกษาจะเป็นเครื่องมือของคอมมิวนิสต์ที่จะมาก่อกวนในเมือง เลยต้องใช้ไม้แข็ง ปราบก่อน แต่พวกเราไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ เราก็ไม่กลัว สามารถที่จะออกมาโต้ได้ว่า ไม่มีคอมมิวนิสต์ แต่ที่เรารู้แน่ๆ คือ รัฐบาลมีความบกพร่องในการบริหารประเทศ ซึ่งในการชุมนุมมีการอภิปรายเป็นวันๆ มีคนส่งข้อมูลมาให้ตลอดเวลาเลย คนไม่เห็นด้วยกับการปกครองที่ผ่านมา เยอะมาก ทั้งพ่อค้า ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในเมือง นอกเมือง มีคนมีปัญหาทั้งนั้นเลย

เพราะฉะนั้น สิ่งที่นักศึกษาพูด ผมคิดว่า มันไม่ได้จินตนาการเอง ไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่พูดแทนประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่เขาประสบปัญหาเหล่านั้น แล้วไม่มีปากเสียง ไม่มีคนมารับฟัง ตอนนั้นสื่อมวลชน ไม่มีเสรีภาพเลย พูดไม่ได้ ถูกเซ็นเซอร์หมดเลย ก็มีแต่นักศึกษา แล้วก็พูดได้แค่ในมหาวิทยาลัย พอพูดข้างนอกก็ถูกจับอีก ข้อหาคอมมิวนิสต์ ใครก็พูดอะไรไม่ได้"

ผมคิดว่า ที่ธรรมศาสตร์ตอนนั้น ที่คนมาทุกวัน มาเป็นแสนเลย เพราะมันเป็นครั้งแรกใน 10 ปี ที่คนมันรู้สึกว่าเออ...เว้ย มันอยากฟัง มันอยากได้ยิน อยากเห็นอะไรที่มันจะได้คลายความทุกข์ ความรู้สึกอัดอั้นตันใจ ของคนเป็นสิบๆ ปี


ประชาธิปไตยเบ่งบาน กับพลังของการมีส่วนร่วม

"ขบวนการ 14 ตุลา โดยหลักๆ ผมคิดว่า อันแรก คือ เรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ 2475 มันควรจะไปต่อได้แล้ว สอง ขอให้ประชาชนมีเสรีภาพ ในทางความคิด ทางความเห็น การแสดงออก การชุมนุม การจับกลุ่ม เพราะในปี 2515-2516 มันมีการเคลื่อนไหว แต่มันเคลื่อนไหวลำบากมาก ต้องเคลื่อนไหวอยู่ในมหาวิทยาลัย สาม ต้องมีรัฐธรรมนูญ คือกฎหมายที่เป็นแม่แบบของการปกครอง

ช่วงระหว่างชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ เกือบ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 2516 มันน่าอัศจรรย์มากเลย คือว่า ปริมาณคนที่เข้ามา คือผมคิดว่า มันไม่มีใครไปชักชวน เกลี้ยกล่อม แต่ว่าทุกคนมากันเอง มันเป็นจาตุรงคสันนิบาตจริงๆ คือว่า ทุกสี่ทิศเลย แล้วข่าวก็ออกไป ไม่ใช่ช่องทางรัฐบาล เพราะรัฐบาลปิดข่าวหมดเลย บางคน มีลูกหลานญาติพี่น้องอยู่ในชุมนุม แต่ว่ามันไม่มีข้อมูลว่า ออกไปทำไมกัน เพราะจำนวนมาก ออกมาไม่ได้ต้องการจะไล่รัฐบาล แต่ออกมา เพราะอยากจะดูว่า จริงๆ แล้ว มันคืออะไร มันเกิดอะไรขึ้นที่ธรรมศาสตร์ ผมถึงบอกว่า การปิดกั้นความจริงทางการเมือง ข่าวสาร เป็นผลร้ายต่อรัฐบาล ฟังผมไว้ เชื่อผมเถอะ ถ้าใครอยากจะเป็นรัฐบาล"

October the truth : ความจริง 14 ตุลา

ตอนนั้นมีการประกาศบนเวทีด้วยว่า พรุ่งนี้น้องอนุบาลก็มาชุมนุมด้วย?

"เด็กมัธยม จนถึงเด็กอนุบาล เด็กอนุบาลที่เราพูดให้เขา เขาไม่ได้พูดเอง แต่จะมีกลุ่มนักเรียนระดับประถมมาร่วมชุมนุม ก็บอกเนี่ย พรุ่งนี้น้องๆ โรงเรียนอนุบาลก็จะมาด้วย เพราะว่า เขาต้องการเสรีภาพอ่ะ เสรีภาพของเขาคือ เช่น การเลือกตั้งหัวหน้าห้อง ซึ่งเมื่อก่อนนี้ครูใหญ่จะเป็นคนเลือก เป็นคนชี้นำ หลังจากนั้นมา ทุกโรงเรียนก็จะมีการเลือกตั้ง อันนี้มันมาจาก 14 ตุลา ทั้งนั้นเลย มันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่คนอยากจะมีสิทธิ มีเสียง เข้าไปมีส่วน ในการเลือก การดูแลกัน ถ้าเป็นนักเรียนโตหน่อย ระดับมหาวิทยาลัย เขาจะมีความคิดเรื่องสังคม คือทุกคนมันมีปัญหาทั้งนั้น ปัญหาเรื่องเล็ก เรื่องน้อยต่างๆ แต่ในธรรมเนียมไทย คือ ถ้าจะพูด ต้องพูดในสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากฟัง ไปพูดเรื่องของตัวเอง แล้วเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ใหญ่ เขาต้องไปแก้ปัญหา มันรับไม่ได้อ่ะ ไม่มีที่ให้เขาพูด ไม่มีที่ที่ให้สามารถหันหน้าเข้าหากันได้ บรรยากาศแบบใหม่ที่เวทีที่ธรรมศาสตร์ทำขึ้นมา ทำให้คนรู้สึกว่า เออ...อันนี้มันเป็นธรรมชาติของการเมือง ธรรมชาติของสังคม ที่มันต้องมีการแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วม"

ธเนศ ยังเล่าถึงบรรยากาศการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า "แล้วพอคนเข้ามาในมหาวิทยาลัย ก็จะช่วยกันรักษาความสะอาด ช่วยกันเก็บนู้นเก็บนี่ แล้วก็มีคนเอาข้าวของมาแจก อาหารมาโดยที่ไม่ต้องสั่ง มีคนแบกใส่กระบุง ใส่เข่งมาทุกชั่วโมงเลย

ถ้าเราไปชุมนุม จะมีความรู้สึกเลยว่า คนแบบเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวมอ่ะ การเป็นส่วนรวมมันทำให้ความเป็นส่วนตัวฮึกเหิม มันรู้สึกว่า เรามีความหมาย เรามีคุณค่า คือคนเราถ้าทำตัวเป็นเหมือนอะตอม อยู่เล็กๆ ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีความหมายนะ ดีก็ไม่รู้ เลวก็ไม่รู้ แต่พอมันอยู่เป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม มันสร้างพลัง ที่ตัวเองเราสร้างเองไม่ได้ แต่นี่ไม่ใช่พลังจาก "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" แต่เป็นพลังจากคนอื่น ที่อยู่ข้างๆ เรา อยู่รอบตัวเรา ที่เราเห็นว่า เขาคือชาวบ้าน เขาคือนักศึกษา เขาคือพวกเรา อันนี้คือความคิดที่ว่า ประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีพลัง เพราะมันทำให้คนเล็กคนน้อย คนที่ไม่มีฐานันดร ไม่มีฐานะ ไม่มีความรู้ ไม่มีปริญญา ก็ยังรู้สึกตัวเองมีบทบาท มีฐานะอะไรในส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ถ้าเราเปิดช่องให้เขาทำอะไร เขาจะหาอัตลักษณ์ของเขาได้ หาสิ่งที่เขาอยากจะทำ"

หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักประท้วง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2516 กระทั่งถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เกิดการปราบปรามขบวนการนักศึกษาและประชาชน มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นจลาจล ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 77 คน ในเวลาหัวค่ำ จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่ง และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมา วันที่ 15 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศ

ธเนศ ยังเล่าว่า "หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ศูนย์กลางนักศึกษา ทำกิจกรรมไปเผยแพร่ประชาธิปไตยในหมู่บ้าน ผมก็ไปในต่างจังหวัด ไปกับนักศึกษาเขา ไปฉายหนัง ไปเล่นหนังตะลุงอะไรต่างๆ แล้วก็ไปอภิปราย ไปคุยกับชาวบ้านว่า เนี่ยเราได้รัฐธรรมนูญมาแล้ว น่าจะกำลังร่างอยู่ ตอนนั้นปี 2517 คนเข้าใจ ฟังแล้วรู้เรื่อง เขาถาม แล้วอยากจะรู้ว่า มันจะทำได้จริงๆ ไหม

ช่วงนั้นผู้นำกรรมกรถูกยิงตายเป็นว่าเล่น นี่คือสภาพจากปี 2516-2519 ค่อนข้างมีการต่อสู้แบบที่เรียกกดทับและบีบคั้นอีกฝ่ายหนึ่ง แต่มันยังไม่ออกมาชัด เพราะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว พวกฝ่ายอำนาจนิยมก็ไม่กล้าทำอะไรมาเกินไป แค่ยิงพวกเราก็เยอะแล้ว

เพราะฉะนั้น สภาพเมื่อมองกลับไป ผมคิดว่า ทำไมการออกมาตอบรับประชาธิปไตยของชาวบ้านจึงก้ำๆ กึ่งๆ แต่ไม่ใช่เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจ เขาเข้าใจดีว่าธรรมชาติของการเมือง และอำนาจของเมืองไทยอยู่ที่ไหน และมันต้องการการเปลี่ยนระดับโครงสร้างที่ มากกว่าแค่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งแล้วได้รัฐบาล ได้นายกฯ คนใหม่ เท่านี้ไม่พอ

อันนี้คือปัญหาของเมืองไทยที่เราแตะได้เฉพาะเปลือกๆ สองสามอย่างนี้ แล้วมันก็พัง ถูกลากลง ฝ่ายอำนาจนิยมก็จะกลับมา แต่เขาอาศัยส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยเอามาใช้ด้วย ไม่ได้ทิ้งไปทั้งหมด รวมๆ แล้วมันคือ ความพยายามที่จะรื้อสร้างประชาธิปไตยให้เป็นแบบอำนาจนิยม ที่รองรับความเหลื่อมล้ำ รองรับความยุติธรรมแบบเฉพาะ ไม่ใช่ความยุติธรรมแบบทั่วไปที่ทุกคนควรจะได้แต่ยุติธรรมสำหรับคนบางคน แบบนี้มันจะเกิดมาตลอดเวลา"

นี่คือเรื่องราวของ 14 ตุลา แต่หลังจากนั้น นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งเริ่มหนีเข้าป่า และเมื่อเกิดเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาและประชาชน ก็เข้าป่าเพิ่มอีกร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่คอมมิวนิสต์คืออะไร ทำไมรัฐบาลในขณะนั้น แม้จนถึงทุกวันนี้ กองทัพก็ยังพูดถึงภัยคอมมิวนิสต์


คอมมิวนิสต์ คืออะไร ทำไมนักศึกษาต้องเข้าป่า?

ธเนศ เล่าว่า "ในช่วงก่อนเกิดการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ในการเมืองไทย มันมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่าพัฒนามาหลายปีเหมือนกัน แล้วก็ถึงขั้นมีการตั้งกลุ่มจัดอาวุธ เข้าต่อสู้เพื่อจะล้มรัฐบาล ก็คือ พรรคคอมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แล้วก็ตั้งกองทัพปลดแอกขึ้นมา จากเล็กๆ ก็ค่อยๆ ก่อรูปมาเป็นกองทหาร แล้วก็เริ่มปฏิบัติการ ตั้งแต่ปี 2505 มา จะเริ่มค่อยๆ กระจายมา เพราะฉะนั้น ความรับรู้ของคนส่วนหนึ่งจะได้ยินข่าว มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ กับ ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) แล้วก็รู้ว่า มีการต่อสู้กันถึงตาย ขณะเดียวกันก็มีการโฆษณาโจมตีลัทธิคอมมิวนิสต์ อันนี้ก็คือ คนที่คิดอะไรต่างจากรัฐบาล คิดแบบโจมตีรัฐบาลวิจารณ์รัฐบาล อันแรกที่คนจะกลัวเลยก็คือว่า อันนี้คอมมิวนิสต์หรือเปล่า เป็นคอมมิวนิสต์ไหม รับความคิดคอมมิวนิสต์ไหม

ผมคิดว่า ทุกคนค่อนข้างที่จะสงบเสงี่ยม จนกระทั่งหลังปี 2512 ที่เราพูดเรื่องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ เลยเริ่มมีการพูดถึงการเมืองมากขึ้น แล้วก็เริ่มมีการถาม เราก็สงสัยว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์คืออะไร มันมีตำราให้เราอ่าน แต่หนังสือไม่มีในห้องสมุด เป็นหนังสือต้องห้ามเขาเก็บหมดเลย หนังสือเรื่องพวกนี้ เราก็ไม่ได้อ่าน อาจารย์ก็ยังไม่กล้าอธิบายเลย อธิบายไม่ได้ เพราะเดี๋ยวสันติบาลเขาจะจับ ทุกคนก็กลัวหมด

มันก็จะมีฝ่ายซ้ายรุ่นเก่า ตั้งแต่ 2490 เขาจะเอาหนังสือรุ่นเก่าๆ มาให้อ่าน แล้วอธิบายว่า มันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็มีภาพ ค่อนข้างที่จะชัดขึ้นนิดนึงว่า อ่อ...มันไม่ได้เป็นปีศาจแบบที่รัฐบาลบอก แต่มันเป็นความคิดทางเศรษฐกิจ การเมือง อีกแบบหนึ่ง

พอหลัง 14 ตุลา สิ่งที่มันเกิดขึ้น คือขบวนการสังคมนิยมที่เขาต่อสู้ในอินโดจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ซึ่งอเมริกา เข้ามาปราบเขา ตั้งแต่เซ็นต์สัญญาเจนีวา แล้วมันไม่ยุติ แล้วอเมริกาเริ่มทวีการปราบมากขึ้น เพราะว่า เวียดนามเหนือ เขาประกาศเอกราช ตอนนั้นเวียดนามก็เลยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ เวียดนามเหนือ กับ เวียดนามใต้ ทางใต้ คือฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายอเมริกา ทางเหนือก็เป็นลัทธิสังคมนิยมไป แล้วก็เริ่มพยายามที่จะช่วยทางใต้ ไล่อมเริกาออก อเมริกาก็ไม่ยอม ส่งกำลังเข้ามาต่างๆ ตอนนี้พอเราเคลื่อนไหว เรารุ้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราอ่านข่าว เราก็ไม่เห็นด้วยกับการที่อเมริกามาโจมตีเวียดนาม เพราะมันไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลต่างๆ เราก็เริ่มคิดแบบนี้ ซึ่งอันนี้คนก็เลยคิดว่า นี่ไงเราคิดแบบคอมมิวนิสต์ เพราะมันไปสนับสนุนการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

พอปี 2518 เวียดนามชนะ ซึ่งเราก็ไม่คิดว่ามันจะชนะได้จริงๆ คือเขารบ พลัดกันชนะ พลัดกันแพ้ เหตุการณ์มันแบบ เราไม่รู้เลยว่า ตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างไร วันดีคืนดี กองกำลังทั้งเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้คือแนวร่วมปลดปล่อย (National Liberation Front) เขาลุกฮือขึ้นกันหมด สามารถเอาชนะ เรียกว่า กองกำลังทหารอเมริกา ทำอะไรไม่ได้เลย อเมริกา ต้องปิดสถานฑูตหนี จากนั้นก็ประกาศปลดปล่อยเวียดนามทั้งประเทศ อีกไม่กี่เดือนต่อมา กัมพูชาก็ปลดปล่อย เข้าใจว่าเดือนธันวาคม ลาวก็ปลดปล่อย พูดง่ายๆ ว่า เพื่อนบ้านไทย ในซีกนั้น ลาว เวียดนาม กัมพูชา เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นสังคมนิยม อันนี้ก็คือเหตุที่เกิด 6 ตุลา ขึ้นมา พอรัฐบาลใช้วิธีปราบนักศึกษาแล้วฆ่า คนที่อยู่มันก็อยู่ไม่ได้ รัฐบาลใช้มาตรการแบบไม้แข็ง แล้วมันน่ากลัวมาก ตอนนั้นข่าวที่ออก ทั้งจับ เอาแบบไม่ไว้ชีวิตเลย เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องหนี ทีนี้มันก็มีหนีหลายอย่าง หนีไปต่างประเทศ ซึ่งมันก็ทำได้ยาก มันไม่ได้มีช่องทางมาก แล้วก็ไม่ได้เตรียมคิดขนาดนั้น บังเอิญพรรคคอมมิวนิสต์ เขาก็ขยายเขตงาน ลงมาเยอะ เขามีพื้นที่ นักศึกษาก็เลยหนีเข้าป่า

แต่ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้ตั้งใจไปร่วมตั้งแต่ต้น แต่มันไปด้วยความจำเป็น เพราะว่า ถ้าอยู่ก็ถูกจับ ถูกจับก็ถูกทรมาน ถูกทารุณ ถูกอะไรต่างๆ ก็รู้ว่า ไม่มีทางรอดอ่ะ ใครจะยอมให้ถูกฆ่า ใช่ไหม แล้วในตอนนั้น ทางฝ่ายคอมมิวนิสต์ เขาก็เริ่มอธิบายว่า คอมมิวนิสต์คืออะไร มันไม่ได้น่ากลัวแบบที่เราเข้าใจ คือจริงๆ แล้วเป็นชาวบ้าน เขาก็ไปต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม คือมันไม่ใช่ปัญหาแบบที่เรามองว่า จะมายึดพื้นที่ เอาลูก เมีย มาเป็นส่วนกลาง คนแก่เอาไปทำปุ๋ย หรือทำเป็นวัวควายไปไถนา นั่นคือโฆษณา ที่เราได้ยินมาแต่ก่อนนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่มันฟังแล้วมันตลกอ่ะ ใช่ไหม แต่มันน่ากลัว

แต่ในช่วงก่อนปี 2519 เริ่มมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย คนก็เริ่มเข้าใจว่า เขาสู้เพื่ออะไร เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็เลยผลักให้ นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน ที่พูดง่ายๆ ว่า เห็นด้วยในการต่อสู้ของนักศึกษาตั้งแต่ 14 ตุลา มันไม่มีทางเลือก ก็คือต้องไปอาศัยอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อความปลอดภัยเท่านั้นเอง นี่คือที่มาของการเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์"

หมายความว่า บางคนก็ไม่ได้ไปเข้าร่วมด้วยอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์?

"อ่อ ไม่มีเลย พูดง่ายๆ ว่าโดยส่วนใหญ่ ไม่ได้รู้จักคอมมิวนิสต์ หรือพรรคคอมมิวนิสต์ มากขนาดนั้น แล้วก็ไปด้วยความกลัว อีกส่วนหนึ่งก็ด้วยความโกรธ เพราะเห็นเพื่อนถูกฆ่า เพื่อนถูกจับ ภาพที่ออกมามันน่ากลัวมาก เพราะฉะนั้น คนที่ต้องการจะตอบโต้ คุณทำอะไรไม่ได้ อยู่ในเมืองอ่ะ แต่ถ้าคุณอยู่ในป่า ทำได้นะ เพราะมันไม่มีใครจับคุณได้ ก็ดีสิ อันนี้คือแรงจูงใจที่ทำให้คนเข้าป่า เพื่อความปลอดภัย และเพื่อที่จะไปแก้แค้น เพื่อที่จะไปหาความยุติธรรม เพื่อที่จะไปสร้างอนาคตใหม่ เพราะว่าตั้งแต่ 14 ตุลา มา 2-3 ปี มานั้น เราเริ่มเห็นว่า การสร้างประชาธิปไตยการทำพรรคการเมืองต่างๆ มันทำได้"

กลับมาที่ 14 ตุลา คือชัยชนะของประชาชน สำหรับอาจารย์มองว่าอย่างไร?

"คือถ้ามองจากประวัติศาสตร์จาก 24 มิถุนายน 2475 หรือมองไปก่อนหน้านั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการก่อกบฏในภาคเหนือ อีสาน ใต้ หลังจากปฏิรูปการปกครองก็มีความไม่พอใจมีการตอบโต้ตามหัวเมือง แต่รวมๆ แล้วประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายจากส่วนกลางที่เข้าไปจัดการเขามันมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว และถูกปราบจนแพ้ทั้งหมด"

"24 มิถุนายน 2475 เป็นครั้งแรกที่การเคลื่อนไหว ที่เรียกว่าตัวแทนประชาชนได้ชัยชนะ แต่พอไปดูแกนนำจริงๆ 99 เปอร์เซ็นต์คือ ข้าราชการพลเรือน และข้าราชการทหาร ถ้าไม่มีสองส่วนนี้ก็ไม่ชนะ มีแค่พลเรือนอย่างเดียวก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น 24 มิถุนายน ก็เป็นชัยชนะของประชาชน แต่ว่าอยู่ภายใต้ข้าราชการหรือชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่เป็นผลผลิตของการปฏิรูปการปกครองก่อนหน้านี้"

"14 ตุลาคม 2516 ผมถือว่าเป็นขบวนการประชาชนจริงๆ ที่ร่วมนำ และเข้าร่วม และปิดฉากโดยประชาชน แน่นอนจะมีนักศึกษาเยอะหน่อย แต่ถ้าเราไม่มีความรู้สึกของประชาชน ไม่มีความรู้สึกของเขาออกมาจำนวนมันก็เพิ่มไม่ได้ นักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแค่ 4 ปี คุณจะไปร้องเรียนอะไร เกรดไม่ดี อาจารย์สอนไม่ดี มันไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาล ที่เราพูดมันเป็นปัญหาชาวบ้านทั้งนั้นเลย ความทุกข์เอย ปัญหาข้าวยากหมากแพง ฉะนั้นนี่ต้องถือว่า ทั้งหมดที่เราพูดมานี่เป็นเรื่องของประชาชน มันเป็นขบวนการประชาชนในความรู้สึกผม ผมคิดว่าอ้างไม่ได้ว่าเป็นขบวนการนักศึกษาอย่างเดียว เพราะในทางการเมืองเป็นขบวนการประชาชน การล้มถนอม ประภาส ได้ในเวลานั้น ก็ต้องถือว่าเป็นชัยชนะครั้งแรก ของกระบวนการทางการเมืองของประชาชนจริงๆ การที่พูดว่าเป็นชัยชนะของประชาชนผมคิดว่าถูกต้องแล้ว"

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ


'14 ตุลา' ชัยชนะประชาชน แล้วเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

หาก 14 ตุลา คือชัยชนะในการต่อสู้ของประชาชน เป็นยุคสมัยของประวัติศาสตร์ "ประชาธิปไตยเบ่งบาน" เวลาผ่านมาเกือบครึ่งศตวรรษ เหตุใดประเทศไทยจึงยังอยู่ในวังวนทางการเมืองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย บางคนบอกว่านี่คือประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ หรือบางคนอาจเรียกว่า เป็นเผด็จการเต็มใบเลยด้วยซ้ำ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย

ธเนศ อธิบายว่า "การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลได้แล้วขั้นตอนต่อไปคือจะต้องเอาอำนาจใหม่ เข้าไปอยู่ในโครงสร้างอำนาจอันเก่าใหม่ได้ ทั้งในรัฐบาล ในรัฐสภา ก็ต้องกำกับข้างในนั้นให้เข้มแข็ง แล้วตัวนั้นคือ จะต้องใช้อำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ โดยให้ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจจริง อันนี้จึงจะรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ได้ แต่หลัง 14 ตุลา มันได้แค่เปลี่ยนตัวฝ่ายบริหาร ได้รัฐบาลเสียงข้างมาก มี ส.ส. แต่มันเกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายที่รัฐบาลคุมไม่ได้ในช่วง 2 ปี หลังจากนั้น มีการประท้วงฝ่ายประชาชน ชาวนา กรรมกร และนักศึกษา มีการประท้วงนับพันครั้งซึ่งรัฐบาลเองก็มีความลำบากมาก ส่วนอำนาจจริงๆ ในกองทัพก็ไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนอะไรของเขาได้ ซึ่งนั่นคืออำนาจจริงๆ ที่กำกับฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะออกกฎหมายอะไรมาก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้"

"ก่อนที่จะเกิด 6 ตุลาคม 2519 รัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517 มีหลายบทที่พูดถึงการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชน และส่วนหนึ่งคือการออกแบบให้มีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น และให้มีการจัดการศึกษา การสาธารณสุขโดยเป็นการกระทำโดยส่วนภูมิภาคเอง ในแง่ของอำนาจมันไม่ได้ใหญ่โต ไม่ได้ไปทำอะไรต่างๆ มากมาย แต่ถ้ามองในระยะยาวการศึกษา การสาธารณสุข การจัดการปัญหาท้องถิ่นต่างๆ ถ้าได้ทำโดยในคนในพื้นที่เอง มันคือการสร้างความมั่นคงให้กับการปกครอง จริงๆ แล้วสิ่งนี่มากกว่าการเลือก ส.ส. เพราะคนในพื้นที่สามารถบริหารจัดการกันเองได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลมันกำหนดว่า ให้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากกฎหมายผ่านไปแล้วกี่วัน แต่ก็เกิด 6 ตุลาคม 2519 เสียก่อน แล้วรัฐธรรมนูญถูกยกทิ้งไป และบทบัญญัตินั้นก็ถูกเอาออกไปหมด จนเรามาได้ปฏิรูปการศึกษาอีกครั้งในปี 2542 ซึ่งเสียเวลาไป 22 ปี"

"ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่มันทำให้พัฒนาการทางการศึกษา ทางเศรษฐกิจ ทางการมีส่วนร่วมของประชาชน มันสะดุดหยุดลง นี่คือสิ่งที่หนักกว่าการฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะมันไม่ได้เสียไปแค่รัฐธรรรมนูญอย่างเดียวแต่มันหมายถึงการเสียโอกาสความเป็นจริงที่คนจะได้ใช้ความสามารถในการเปลี่ยนระบอบการปกครองในท้องที่ของตัวเอง"

หลังจาก '14 ตุลา' แล้วก็ยังมี 'พฤษภา 35' มาจนถึงตอนนี้ ทำไมเรายังอยู่ในระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบก็ยังไม่ได้เลย?

"อันนี้เป็นลักษณะที่เรียกว่าเฉพาะของแต่ละประเทศที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้น มันไม่ใช่ทุกคนจะไปสู่เป้าหมายเดียวกันในเวลาเดียวกันได้ แต่ละคนก็ไปถึงในที่ที่ความสามารถของตัวเองมี และเครื่องหลัง หรือมรดกของเราแต่ละคนมีมรดกตกทอดกันมาไม่เหมือนกัน"

"มรดกที่เอื้อต่อการเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีก็จะไปในทิศทางนั้น มรดกที่เอื้อไปในทางอำนาจนิยมแบบผู้นำคนเดียว คณะเดียว ก็จะลงเอยไปทางนั้น ถ้ามองแบบนี้มันจะมีหนทางที่มันไม่เหมือนกัน ของไทยผมคิดว่าเรามีประวัติศาสตร์ จารีต และขนบธรรมเนียมต่างๆ ไปจนถึงความรับรู้ที่ถูกถ่ายถอดมาที่ค่อนข้างแน่นหนามาก และยาวนาน เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จนอาณานิคมตะวันตกเขามายึดประเทศแถวนี้เป็นอาณานิคม สยามก็ไม่ได้เป็นอาณานิคมด้วย แต่ยังรักษาระบบกษัตริย์ เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ "สมบูรณ์" (Absolute) ยิ่งขึ้นมีอำนาจรวมศูนย์มากกว่าแต่ก่อน อันนี้ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างของอำนาจแบบจารีตแข็งมาก แล้วค่อนข้างจะแน่นเหนียวกว่าที่อื่น"

"ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นถูกอังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์ และอเมริกา เข้ามาทำลายโครงสร้างอำนาจแบบเก่า แบบที่มีราชา รายอ หรือแบบที่มีเจ้ามีขุนนางต่างๆ ถูกรื้อทิ้งหมด หรือไม่ทิ้งก็ถูกลดบทบาทลงอย่างมาเลเชีย อังกฤษก็ทำให้เป็นประมุขรัฐ แล้วก็รับเงินเดือนไป ไม่มีได้ฐานะพิเศษกว่าเจ้าหน้าที่อื่นๆ"

"การที่ประเทศไทยมีโครงสร้างเก่า จารีตเก่าที่ยาวนานต่อเนื่องมา ทำให้การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ก็ทำได้แค่ระดับของการเปลี่ยนระบอบกฎหมายคือ ทำให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นมา และพยายามจะประนีประนอมกับระบอบกษัตริย์เดิม ก็ให้เป็นกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเรียกว่าเป็น ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย คือพยายามจะรักษาสองอย่างเอาไว้ทั้งเก่าทั้งใหม่ แต่ในระยะยาวพบว่า มันไปไม่รอด เพราะในที่สุดแล้วการจะอยู่ได้ต้องมีฐานรองรับทางชนชั้น ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจทางกองทัพ เพราะกองทัพเป็นฐานที่รักษาระบบจารีตประเพณีต่างๆ เอาไว้ แต่กองทัพไทยไม่ได้ทำหน้าที่แบบกองทัพอาณานิคม หรือกองทัพแบบประเทศเอกราชทั้งหลายที่ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมต่างชาติ"

เราไม่ต้องต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม ฉะนั้นตั้งแต่สร้างกองทัพมา กองทัพสู้กับคนในประเทศตัวเองตลอดเวลา ไม่ได้สู้กับอริศัตรูภายนอกเลย มีน้อยมาก ตอนสงครามเวียดนามเราไปรบด้วยนิดหน่อย แต่ก็ไปรบในนามของอเมริกา และนั่นก็ไม่ใช่ศัตรูของไทยจริงๆ

ธเนศ กล่าวอีกว่า "โครงสร้างของเราเป็นโครงสร้างที่เป็นจารีตประเพณี เพราะฉะนั้นจะพูดถึงระบอบประชาธิปไตยแบบเสรี ต้องมีคนกลุ่มใหม่เข้ามา มีโครงสร้างแบใหม่เข้ามาจึงจะรองรับระบอบนี้ได้ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมามีความพยายามจะเป็นประชาธิปไตยแต่มันไม่เคยไปกันได้กับโครงสร้างเดิม"

จริงๆ ย้อนกลับไป หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรก็พยายามสร้างฐานรากประชาธิปไตยผ่านรัฐธรรมนูญ สร้างมรดก เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ดูเหมือนว่าคณะราษฎรก็พยายามจะทำให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานแล้ว?

"ต้องยอมรับว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ทางกฎหมาย แล้วก็มีผลให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแบบประชาธิปไตย มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมาไม่น้อยเหมือนกัน อันนี้เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมา แต่ในระยะยาวพลังส่วนนี้ไม่ได้รับการตอบสนองหรือผลิตซ้ำตัวเอง ให้งอกเงยออกมาได้ทันเวลาเพื่อที่จะไปชี้นำ มันไม่ทันจริงๆ ไม่เหมือนกับในตะวันตกที่เขาเปลี่ยนผ่านจากระบบฟิวดัล หรือระบบศักดินา เข้าสู่ระบบประชาธิปไตยกระฎุมพี พวกชนชั้นนายทุนก็ค่อยๆ มีอำนาจ แล้วต่อรองกับระบบเก่า จนกระทั่งเข้ากุมนโยบายส่วนหนึ่งไว้ได้แล้ว พอถึงเวลาเปลี่ยนเขาแค่เอากฎหมาย รัฐธรรมนูญเข้ามา หรือกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อชนชั้นนายทุนเข้ามาใช้ แต่ความคิดต่างๆ คนมันรับเอาความคิดอันใหม่เข้าไปหมดแล้ว แต่กระบวนการนี้มันไม่ได้เกิดในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยทั่วไปมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยลึกซึ้งขนาดนั้น การเกิดของระบอบประชาธิปไตยมันเกิดในกลุ่มคนที่มีการศึกษา คนชั้นกลางระดับสูง แล้วเมืองก็ไม่ได้ขยายมาก ยังขยายไปแค่หัวเมืองเล็กๆ"

"รวมๆ แล้ว การเผยแพร่ความคิดประชาธิปไตย หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ในระดับล่างขึ้นมามันน้อย ไม่มีกิจกรรมที่เอื้อหนุนให้เขาทำ เช่น การเปลี่ยนทางด้านทรัพยากร เทคโนโลยี จึงต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่มาจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีหน่วยงาน มีทุน มีความรู้ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนการที่ภาคเอกชน ชนชั้นกลาง ที่จะไปเอาความรู้ใหม่มาหนุนช่วยในการเปลี่ยนแปลงมันไม่เกิด มันทำได้น้อยมาก"

"นี่คือข้อจำกัดของประชาธิปไตยหลัง 2475 ที่ว่าทำไมมีการเปลี่ยนแปลงแล้วมีการสร้างสัญลักษณ์ มันก็เป็นแค่สัญลักษณ์ที่เหมือนเป็นภาพนิ่งที่คนเห็นแล้วก็รู้ว่ามันคืออะไร แต่มันไม่เคยเคลื่อนไหว หรือคนเห็นแล้วรู้สึกว่ามันมีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในระดับรัฐบาล เกิดการปะทะกันระหว่างผู้นำในคณะราษฎรสองกลุ่ม คือ ผู้นำฝ่ายพลเรือน กับผู้นำฝ่ายทหาร อันนี้เป็นจุดอ่อนในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475 -2500 เราไม่สามารถก้าวพ้นช่องว่าที่การเมืองเป็นของชนชั้นนำจริงๆ ส่วนชาวบ้านก็ถูกทำให้ห่างออกไป ไม่มีส่วนในการรับรู้ เขาจะไปทางไหน ชาวบ้านก็ต้องไปทางนั้น คือไม่มีส่วนบอกได้ว่าเราจะเอาแบบไหน"

"ต่อมาเมื่อมี 'รัฐประหาร 2490' ก็คือจุดที่เริ่มชัดว่าการเปลี่ยนผ่านนี้เป็นการสู้กันระหว่างผู้นำฝ่ายพลเรือน และผู้นำฝ่ายทหาร จาก 2489-2500 มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง แต่จริงๆ แล้วช่วงหนึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็พยายามเปิดให้มีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็ประสบอุบัติเหตุทางการเมือง แล้วจอมพลสฤษดิ์ ก็เข้ายึดอำนาจจนเข้าสู่ระบบพ่อขุนอุปภัมถ์ ซึ่งเป็นอำนาจนิยมแบบหนึ่ง แต่คราวนี้ทำให้มีลักษณะที่เป็นไทยมากขึ้น เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเป็นการต่อต้านคอมมิวนิสต์แต่เพียงอยากเดียวมันก็ฟังไม่ขึ้นว่า ทำไม่คอมมิวนิสต์มันน่ากลัวขนาดนั้น คนยังไม่เคยเห็นตัวจริงว่ามันคืออะไร ฉะนั้นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ก็พยายามเสนออุดมการณ์ของรัฐบาลว่า ที่ปกครองอยู่คือพ่อปกครองลูก เป็นธรรมชาติ เป็นครอบครัว ทำให้คนรู้สึกมีความสุขจะได้ไม่ต้องไปทำอะไรต่างๆ"

"ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างอำนาจแบบเก่าแบบจารีต แน่นเหนียวมากที่สุดในภูมิภาคนี้ อันนี้จึงทำให้ การเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะไปกระทบกระเทือนโครงสร้างอำนาจ มันจึงทำได้ยากมากๆ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง