ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการแนะทางออก 'คดีบอส' แสวงหาหลักฐานใหม่ วัดความเร็ว 'เฟอร์รารี่' ให้เคลียร์ เผย 'เสพโคเคน' อายุความถึง 10 ปี ตำรวจ-อัยการต้องเอาจริง ทำคดีบอสถึงศาลได้

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ กล่าวระหว่างร่วมงาน เสวนาโต๊ะกลม “คดี(กระทิงแดง)ชนตำรวจ : นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ” เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ว่า เพื่อให้ 'คดีบอส วรยุทธ อยู่วิทยา' ไปถึงศาล ขอเสนอว่า

1. อัยการสูงสุด ต้องลงมาตรวจสอบคดีนี้ให้สิ้นสงสัยของประชาชน พนักงานอัยการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงได้สั่งฟ้องไปแล้ว แล้วต่อมาทำไมจึงสั่งไม่ฟ้อง ด้วยเหตุพยานหลักฐานใหม่ที่น่าสงสัย

2.ตำรวจ ตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของตำรวจ ถ้าพบว่าการไม่คัดค้าน 'อัยการ' ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถแก้ไขได้ โดยตอนนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอยู่แล้ว

วัดความเร็วใหม่ - เสพโคเคนอายุความ 10 ปี 

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึงกรณีผลการตรวจพบโคเคน ในร่างกาย 'วรยุทธ' ว่า เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 95 การเสพยาเสพติดประเภทที่ 2 มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี และมีอายุความถึง 10 ปี ขณะนี้ยังเหลืออีก 2 ปี จึงขอตั้งคำถามต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าตรวจเจอยาเสพติด ทำไมไม่ตั้งข้อหา เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 157 หรือไม่ และหากมียาเสพติดมีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในขณะขับรถจะเรียกว่าสุดวิสัยได้หรือไม่ เรื่องนี้เป็นหลักฐานใหม่ และยังไม่ขาดอายุความ

นายปริญญา กล่าวว่า ความเร็วรถยนต์ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกัน ขอเสนอให้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิด แล้วเอาเครื่องจับความเร็ววัดดูเลยว่าเลขขึ้นมาเท่าไร ถือเป็นหลักฐานใหม่ได้เพราะไม่เคยวัด

รวมถึงเชิญผู้แทนจากเฟอร์รารี่มาพิจารณาสภาพรถยนต์ การชนด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กม.ต่อ ชม. จะเสียหายได้ขนาดนี้หรือไม่ อยากให้เชิญทุกคนมาร่วมเสนอความเห็นและใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาประกอบให้สิ้นสงสัย

ขณะที่นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด และในฐานะประธานคณะกรรมการอัยการ หรือ กอ. กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่ามีหลักฐานใหม่ที่จะดำเนินคดีนี้ได้ แต่ยังไม่สามารถพูดได้ เพราะอาจจะเป็นการชี้นำ เนื่องจากอยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการอัยการ

นายอรรถพล ระบุว่า ระบบกฎหมายของไทยแม้จะเป็นระบบที่ดีที่สุดของโลก แต่ก็ยังเอนเอียงได้ หากการใช้ดุลยพินิจของผู้สั่งคดีทำไม่ถูกต้อง 

ทั้งนี้ เสวนาโต๊ะกลม “คดี(กระทิงแดง)ชนตำรวจ : นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ” จัดโดย ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์