ไม่พบผลการค้นหา
แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่าชาวเยอรมันเชื้อสายอาหรับและปาเลสไตน์ ควรรักษาระยะห่างออกจากกลุ่มต่อต้านชาวยิว และกลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์ เนื่องจากการประท้วงสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในเยอมรนีได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้น

ในการกล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (8 พ.ย.) สไตน์ไมเออร์ระบุว่า เขากังวลว่าการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลและฮามาส อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางสังคมในเยอรมนี โดยเขาวิงวอนให้ชาวเยอรมนีเชื้อสายอาหรับ “พูดเพื่อตัวคุณเองและแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ในการต่อต้านการก่อการร้าย” สไตน์ไมเออร์ยังกล่าวเสริมอีกว่าชาวปาเลสไตน์มีสิทธิ์ที่จะแสดงความเจ็บปวดต่อพลเรือนที่ถูกสังหาร ในการโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอล แต่เสรีภาพนี้ไม่รวมถึง “การเรียกร้องให้ทำลายรัฐอิสราเอล"

ความคิดเห็นของประธานาธิบดีเยอรมนีก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากมีความกังวลที่ว่า ความพยายามของประเทศต่างๆ ในยุโรป ในการควบคุมความตึงเครียดจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา อาจเป็นการเมินเฉยมองข้าม ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์

“ชาวยิวไม่ควรต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของอิสราเอล” ฮิวจ์ โลวัตต์ นักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งยุโรป กล่าวในโพสต์บนโซเชียลมีเดีย “เหตุใดเยอรมนีจึงควรขอให้พลเมืองมุสลิมของตนรับผิดชอบต่อกลุ่มฮามาส” โลวัตต์ตั้งคำถามต่อประธานาธิบดีเยอรมนี อย่างไรก็ดี สไตน์ไมเออร์ยืนยันว่า จะต้องไม่มีการเหยียดเชื้อชาติต่อต้านมุสลิม หรือ “การตั้งข้อสงสัยโดยทั่วไปต่อชาวมุสลิม”

ในช่วงเดือนนี้ เยอรมนีเพิ่งประกาศสั่งห้ามกิจกรรมของกลุ่มฮามาสโดยสิ้นเชิง และสั่งยุบกลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่แนวคิดต่อต้านอิสราเอล และต่อต้านกลุ่มชนชาวเซมิติก ทั้งนี้ กลุ่มฮามาสถูกเยอรมนีกำหนดให้เป็นองค์กร “ก่อการร้าย” ในเยอรมนีแล้ว

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 พ.ย.) รายงานของศูนย์วิจัยบูรณาการและการย้ายถิ่นฐานแห่งเยอรมนี (DeZIM) พบว่า เกือบ 40% ของชายมุสลิมชาวเยอรมันกล่าวว่า พวกเขาเคยถูกเหยียดเชื้อชาติ หรือถูกเลือกปฏิบัติเมื่อต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานสาธารณะ

ชุมชนชาวยิว มุสลิม และอาหรับทั่วโลกแสดงความวิตกเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติที่เพิ่มขึ้น และแม้แต่ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่พวกเขากำลังประสบกับความโกรธแค้นต่อสถานการณ์ในฉนวนกาซา โดยก่อนหน้านี้ ในสหรัฐฯ มีเด็กชายเชื้อสายปาเลสไตน์-อเมริกัน วัย 6 ขวบถูกเจ้าของบ้านเช่าแทงจนเสียชีวิต  ซึ่งตำรวจบอกว่าชายผู้ก่อเหตุรู้สึกโกรธกับเหตุการณ์ในอิสราเอล

ในช่วงกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลาธรรมยิว หรือโบสถ์ยิวแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลินถูกวางเพลิง ส่งผลให้ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประกาศว่าเยอรมนียืนหยัด “เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อปกป้องชาวยิว” 

ในอีกทางหนึ่ง ชาวปาเลสไตน์ในเยอรมนีกล่าวว่า ทางการเยอรมนีได้ปราบปรามการประท้วงอย่างสันติ ซึ่งถูกสั่งห้ามโดยสิ้นเชิงในหลายพื้นที่ของประเทศ นอกจากนี้ ในกรุงเบอร์ลิน โรงเรียนต่างๆ ยังได้รับอำนาจให้สั่งห้ามการสวมเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของชาวปาเลสไตน์ อาทิ ผ้าโพกศีรษะเคฟฟิเยห์

สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อวันพุธว่า การส่งออกยุทโธปกรณ์ทางทหารของเยอรมนีไปยังอิสราเอล มีเพิ่มขึ้น 10 เท่าในช่วงปีที่ผ่านมา โดยการส่งอาวุธไปอิสราเอลได้รับอนุญาตอย่างรวดเร็วโดยรัฐบาลเยอรมนี แม้ว่าสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา ซึ่งทางการปาเลสไตน์กล่าวว่าได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 10,569 คน กำลังตกอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มมากขึ้น

อิสราเอลกล่าวว่า พวกเขากำลังดำเนินการเพื่อปราบกลุ่มฮามาส ที่ก่อเหตุโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเมื่อช่วงวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยทางการอิสราเอลระบุว่า การโจมตีของบกลุ่มฮามาสในครั้งนั้น สังหารผู้คนไปมากกว่า 1,400 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/11/8/german-president-says-arab-citizens-must-distance-themselves-from-hamas?fbclid=IwAR3Nao4Xpc-Cper3BzVBpGF_gBuf1DF1WC6tH3OZ18EdjUcWyF6A7oii09I